ลงทุนจีนบนความเสี่ยง “สามปราบปราม”

นักลงทุนที่มีหุ้นสัญชาติจีนอยู่ ในช่วงนี้คงต้องมีร้อนหนาวกันบ้าง เพราะทางการจีน “เปลี่ยนท่าที” เข้มงวดกับหลายธุรกิจ จึงต้องรู้ให้ทันว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และนักลงทุนควรเตรียมปรับพอร์ตรับมือแบบไหน

เพื่อให้จำง่าย ผมเรียกการปรับสมดุลภาคธุรกิจของจีนครั้งนี้ว่าเป็น “สามปราบปราม”

เรื่องแรกคือปราบ กลุ่มบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ธุรกิจที่โดนจับตามากที่สุดคือการเงินโดยมี Fintech และ Crypto เป็นเป้าหมาย

ตัวอย่างที่แรงที่สุด คือการระงับ IPO ของ Ant Group ในช่วงปลายปีที่แล้ว

ตอนแรกตลาดสงสัยว่าเป็นเพียงความขัดแย้งของรัฐบาลปักกิ่งกับ Alibaba หรือไม่ แต่ด้วยความเคลื่อนไหวของผู้กำหนดนโยบายจีนล่าสุดสะท้อนว่าเหตุผลแท้จริงดูจะมาจากการทำธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีบางกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือมีลักษณะเดียวกับธุรกิจปรกติ (เช่นการเงิน) แต่กลับไม่ได้อยู่ใต้กฎเกณฑ์เดียวกับธุรกิจปกติ หรือเป็น Regulatory Arbitrage

ตีความได้ว่าทางการจีนกลับตัว 180 องศา หันมาสนใจเสถียรภาพมากกว่าขีดความสามารถในการแข่งขัน

สิ่งที่คาดว่าจะเห็นต่อเนื่องจากนี้ คือธุรกิจที่ตั้งเป้าจะ disrupt ธุรกิจเดิมด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายหรือเทคโนโลยี อาจไม่สามารถทำอะไรตามใจได้เหมือนแต่ก่อน

สองคือปราบ รายใหญ่ไร้ความเป็นธรรม

กลุ่มต่อมาที่ทางการจีนจับตา คือตลาด e-commerce ที่มีลักษณะผูกขาด ป้องกันบริษัทเล็กที่จะถูกกดดันให้ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน (pick one from two) หรือธุรกิจที่ทำการตลาดแบบขาดทุนหนักเพื่อแย่งฐานลูกค้า ทำสินค้ามาแข่งกับผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงการโฆษณาเกินจริง และการตั้งราคาที่ไม่เหมาะสม

การปราบปรามแบบที่สอง ไม่เหมือนแบบแรกที่ตั้งเป้าหมายเฉพาะธุรกิจ แต่ “หว่านแห” ไปแทบทุกอุตสาหกรรม

ธุรกิจที่มีความเป็นเจ้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการค้า เทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงบริการด้านสาธารณสุข ทั้งหมด มีโอกาสถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในไม่ช้า

สามคือปราบ ข้อมูลรั่วไหล

เป็นประเด็นที่เร็วและแรงที่สุดในช่วงนี้ ตัวอย่างที่เด่นมากหนีไม่พ้นกรณีของบริษัท Didi ผู้ให้บริการแท็กซี่สัญชาติจีนที่ถูกเรียกตรวจสอบทันทีที่เข้าซื้อขายในตลาด NASDAQ

ทางการจีนจับตาบริษัทที่ออกไปจดทะเบียนนอกประเทศ เก็บข้อมูลของผู้ใช้จำนวนมาก ส่งเสริมให้ผู้ใช้อยู่ในระบบนาน หรือมีข้อตกลงลักษณะ Bundle Consents ที่เหมารวมจนสามารถล้วงข้อมูลของผู้ใช้ได้มากกว่าความจำเป็น โดยใช้เหตุผลว่าถ้าข้อมูลเหล่านี้รั่วไหล จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

เทียบกับสองแบบแรก เป้าหมายของการปราบปรามกลุ่มสุดท้ายค่อนข้างคลุมเครือ มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อเข้าตรวจสอบบริษัทที่ปฏิบัติตัวไม่ถูกใจภาครัฐ

คำถามที่ต่อมาคือ ทำไมต้องเป็นตอนนี้

ผมเชื่อว่า มาจากสองเหตุผลหลัก

หนึ่งคือมุมมองเศรษฐกิจของทางการจีนตอนนี้ เชื่อว่ามาถึงจุดที่ความยากจนน้อยลงมาก แทนที่จะให้ความสำคัญแต่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็สามารถกลับมาพุ่งเป้าไปที่เรื่องเสถียรภาพและความทั่วถึงแทนที่ได้

สองคือความต้องการสร้างต้นแบบธุรกิจสากลในแบบจีน แทนที่จะรอให้ต่างประเทศกดดันให้เปลี่ยน เพราะปัญหาของธุรกิจจีนในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เรื่องการสร้างนวัตกรรมหรือต้นทุน แต่เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและอุดมการณ์ จึงพยายามทำให้ทั่วโลกเห็นว่า “ถูกต้องในแบบจีน” ก็มีและดีเหมือนกัน

เมื่อเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่นักลงทุนควรจะทำคือการกลับไปสำรวจพอร์ตของตัวเองในหลายแง่มุม

เรื่องแรกคือ ต้องพร้อมรับแรงปะทะเหล่านี้ อย่าหวังแต่การเติบโตที่สวยหรู

ไม่ต้องบอกนักลงทุนส่วนใหญ่ก็คงเดาได้ว่า อนาคตหุ้นเทคโนโลยีใหญ่ของจีนจะไม่ง่ายเหมือนเดิม ต้องถูกกดดันจากสามปราบปรามอย่างเลี่ยงไม่ได้

สอง ถ้าการเติบโตไม่มาตามนัด การลงทุนที่จะถูกกดดันมากที่สุดก็คือกลุ่มที่มีราคาแพงที่สุด

แม้เราจะไม่สามารถเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากการเมือง แต่ฝั่งการเงิน ของแพงจะปรับตัวลงหนักกว่าของถูกเสมอ ดังนั้นก็ต้องไม่ลืมตรวจการลงทุนของเราด้วย ว่าราคาในปัจจุบันแพงเพราะอ้างอิงกับการเติบโตในอนาคตมากไปไหม

และสุดท้าย แม้นโยบายโดยรวมจะเข้มงวดแต่ถ้า “ตัวเล็ก นิสัยดี ไม่มีความลับ” ก็อาจได้จังหวะเกิด

นักลงทุนสามารถแก้เกมด้วยการลงทุนที่กระจายแทนที่จะกระจุก เลือกบริษัทเล็กมากกว่าบริษัทใหญ่ เลือกบริษัทที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลมหาศาลก็ทำธุรกิจได้ และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบธุรกิจที่ลงทุน ว่ามีอุดมการณ์สอดคล้องกับภาครัฐจีนหรือไม่ด้วยครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์