สินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นกับพอร์ตอยู่ไหมเมื่อผ่านสองปีที่ดีที่สุดไปแล้ว?

การจัดพอร์ตลงทุนให้สมดุลช่วงนี้มีเรื่องต้องคิดหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เปิดหรือปิดรับความเสี่ยง (Risk On Risk Off) แต่ต้องเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ตให้ถูกต้องด้วย

ตัวอย่างช่วงสองปีที่ผ่านมาคือสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง “Commodity” หรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักไม่มีติดพอร์ต แต่กลับเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้เกิน 30% ถึงสองปีติดกัน

แต่เมื่อมองไปที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความผันผวนระยะสั้น คำถามมักเกิดขึ้นเสมอว่า “จังหวะนี้ยังลงทุนได้หรือไม่” หรือ “ราคาผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหรือเปล่า”

เพื่อคลายข้อสงสัย ผมนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ ปรับเข้ากับบริบทปัจจุบัน พบว่ามีหลายเหตุผลที่เรายังควรมี Commodity ติดพอร์ตลงทุนไว้ อย่างน้อยในอนาคต 2-3 ปีต่อจากนี้

เหตุผลแรกคือ วัฏจักรของ Commodity เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แนวโน้มราคามักอยู่กับเราสักพักใหญ่

เพราะวัฏจักรของสินค้าโภคภัณฑ์แท้จริงมักไม่ได้เกิดจากแค่กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่มักเกิดขึ้นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเข้ามาร่วมด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสถานที่ผลิต ปรับขั้นตอน หรือปรับเทคโนโลยี ต้องอาศัยการลงทุนที่ใช้เวลานาน ทำให้การปรับปริมาณการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ มักไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้เร็ว

นอกจากนี้ในมุมของราคา ด้วยความที่ Commodity มักไม่ได้เป็นสินทรัพย์หลัก นักลงทุนจึงมักทยอยสะสม เกิดเป็นแนวโน้มระยะยาว

และถ้ากระแสหลักไม่เปลี่ยน จุดต่ำสุดของราคาจะทยอยปรับตัวขึ้น สลับกันไปมาระหว่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน อุตสาหกรรม และโลหะมีค่า เพิ่มความยาวของวัฏจักรขึ้นไปอีก

ข้อมูลตั้งแต่ปี 1887 จากหนังสือ Hot Commodities โดยกูรูสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง Jim Rogers พบว่า Commodity Super Cycle เคยเกิดขึ้นมาแล้วห้าครั้ง และโดยเฉลี่ยมีอายุราว 12 ปีต่อรอบทีเดียว

เหตุผลที่สองคือมุมของภาพรวมเศรษฐกิจ ช่วงที่เงินเฟ้อสูงมักเป็นช่วงที่สินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสทำกำไรได้ดีที่สุด

Man Institute ใช้ข้อมูลในอดีตย้อนกลับไปกว่า 150 ปี แบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสี่ช่วงคือ เงินเฟ้อขึ้น (Reflation) เงินเฟ้อสูง (Inflation) เงินเฟ้อลง (Disinflation) และเงินเฟ้อต่ำ (Deflation) พบว่าสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยจะทำผลตอบแทนรอบ 12 เดือนในแต่ละช่วงเศรษฐกิจได้ที่ 7%, 14%, 0% และ -13% ตามลำดับ

ปรับเข้ากับบริบทปัจจุบัน ถ้าภาวะเงินเฟ้อสูงอยู่ต่อ หรือเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนก็ไม่ควรกังวลว่า Commodity จะให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง

จุดที่น่ากังวลจริง คือกรณีที่เศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะ Deflation แต่เหตุการณ์นั้นกว่าจะเกิดขึ้นก็ต้องผ่านช่วง Disinflation หรือเงินเฟ้อพลิกเป็นขาลงกลับไปที่ 2% ก่อน มองในแง่กลยุทธ์ นักลงทุนจึงพอมีเวลาที่จะเราปรับลดสัดส่วนลงได้ทันในกรณีเสี่ยง

เหตุผลที่สาม คือความสัมพันธ์กับสินทรัพย์หลักที่ต่ำ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1926 ถึงปัจจุบัน Commodity มีผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ย 4% บนความผันผวน 16% ถือว่าไม่ดีเท่าหุ้นและไม่ปลอดภัยเท่าบอนด์

แต่ในเชิงความสัมพันธ์ (Correlation) กับทั้งสองสินทรัพย์หลัก โดยรวมพอร์ต 60% หุ้น 40% บอนด์ มี Correlation กับพอร์ตสินค้าโภคภัณฑ์ ต่ำเพียง 21bps

ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ดีที่สุดคือเงินเฟ้อสูง ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าโภคภัณฑ์กับพอร์ตสินทรัพย์หลัก 60/40 จะลดลงไปอีก เหลือเพียง 4bps หรือแทบไม่เกี่ยวข้องกันเลย

หมายความว่านักลงทุนสามารถเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังได้โดยแทบไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ถ้ากระจายการลงทุนไปใน Commodity ในจังหวะที่ถูกต้อง

สำหรับผม เหตุผลทั้งหมดชี้ว่า Commodity ควรมีติดพอร์ตไว้แน่นอน คำถามแท้จริงคือ เท่าไรละอย่างไร

ในมุมมองของผม สัดส่วนการลงทุนในภาวะปกติควรอยู่ที่ 5-10% โดยนักลงทุนสามารถเลือกเปลี่ยนจาก ทองคำมาเป็นกลุ่มการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมได้ทันทีในช่วงดอกเบี้ยสูง

ถ้าเงินเฟ้ออยู่ยาว เราอาจเพื่อสัดส่วนเป็น 10-15% และเมื่อไหร่ที่เงินเฟ้อสหรัฐลดลงเหลือต่ำกว่า 3% ก็สามารถลดสัดส่วนกลับลงไปที่ 0-5% ได้เช่นกัน

ส่วนจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงหรือหุ้นที่เกี่ยวข้อง วิธีการเลือกอยู่ที่มุมมองด้านเครดิตเป็นหลัก

เพราะ Commodity โดยตรงมีข้อดีคือไม่มีทางล้มละลาย ไม่ต้องกังวลเรื่องผลประกอบการณ์แตกต่างจากบริษัท

แต่บริษัทก็จะมีข้อดีคือสามารถกู้และปรับสัดส่วนสินค้าคงเหลือและกำหนดทิศทางการลงทุนได้ ซึ่งก็แล้วแต่นักลงทุนแต่ละท่านว่าชอบแบบไหน และรับความเสี่ยงแบบใดได้

แม้การลงทุนช่วงนี้มีหลายประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตาม ประเด็นการลงทุนซ้อนทับกันจนทำให้มองแนวโน้มใหญ่ลำบาก แต่ผมเชื่อว่าในที่สุด เศรษฐกิจโลกจะต้องกลับมาเติบโต ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ที่นักลงทุนควรมีติดพอร์ตไว้เสมอในทศวรรษนี้ครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war