ธนาคารกลางสหรัฐ vs. วิกฤติตลาดหมี 2020

เมื่อวิกฤติมาถึง มนุษย์ธรรมดาเดินดินในตลาดการเงินอย่างเราก็มักหวังให้มีซูเปอร์ฮีโร่เข้ามาช่วย ซึ่งฮีโร่อันดับหนึ่งตลอดกาล ก็คงหนีไม่พ้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” ผู้สยบวิกฤติการเงินมาแล้วมากมาย

และในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก็ลดลงเหลือ 0-0.25% (Near Zero) ไปเป็นที่เรียบร้อย จนเป็นหน้าที่ของคนธรรมดาอย่างเราที่จะต้องรู้ให้ทันว่านอกจาก ดอกเบี้ยนโยบายอันทรงพลังแล้ว เฟดยังมีพลังวิเศษอะไรเหลือ แต่ละอย่าง มีจุดแข็ง จุดอ่อน หรือจะส่งผลกระทบกับสินทรัพย์ที่เราถืออยู่อย่างไร และพลังเหล่านี้เพียงพอที่จะต่อกรกับวิกฤติทางการเงินที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ขนาดไหน

ซึ่งผมขอสรุปมุมมองส่วนตัวกับพลังพิเศษของเฟด “สามอย่าง” ที่น่าจะเห็น

อย่างแรก คือพลังประเมินอนาคต (Forward Guidance) ซึ่งสามารถช่วยกดดอกเบี้ยระยะสั้นให้ต่ำลงได้

พลังนี้เป็นองค์ประกอบของการวิเคราะห์เศรษฐกิจ โดยเฟดสามารถสื่อสารเงื่อนไขด้านระยะเวลาเพิ่มเติม ด้วยการบอกตลาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำไปนานแค่ไหน ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะสั้นและบอนด์ยีลด์อื่น ๆ ต่ำลงไปพร้อมกัน

พลังนี้น่าจะสามารถลดแรงขายที่กำลังกดดันพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงได้

ยีลด์สหรัฐถึงช่วงอายุ 2-3 ปีมีโอกาสแตะระดับ 0.0% แต่ก็หมายความว่าสถานะสกุลเงินผลตอบแทนสูงใน Developed Markets ไปของดอลลาร์จะหายไป ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนแอลงในอนาคต

จุดแข็งคือเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาที่ตรงที่สุดกับความผันผวนของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นชั่วคราว

แต่จุดอ่อนคือประสิทธิภาพที่ต่ำ เพราะนโยบายนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อ เฟดเป็นผู้นำตลาดและมีความน่าเชื่อถือสูง ต่างกับตอนนี้ที่ยีลด์มักปรับตัวขึ้นลงก่อนดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดก็อาจไม่เชื่อมั่น เพราะความกลัวกำลังครอบงำทุกการตัดสินใจอยู่ด้วย

พลังวิเศษต่อมา คือการขยายขนาดงบดุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ Quantitative Easing (QE) พลังนี้สามารถกดยีลด์ระยะยาวลงต่ออีกได้

วิธีการคือขยับเข้าซื้อสินทรัพย์ภาครัฐในตลาดเพื่อเปลี่ยนให้กลับไปเป็นสภาพคล่อง พลังนี้จะเพิ่มการกดดันไปที่ยีลด์ทุกระยะทั้งในสหรัฐและทั่วโลกให้ต่ำลง พร้อมกับหนุนให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ถ้าคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตสูงขึ้น

จุดเด่นที่ต่างกับปี 2008 ชัดเจนมากคือความกังวลเรื่องวินัยการเงินและการคลังมีไม่มาก เพราะขนาดภาษียังลดได้ ทำไมจะทำ QE แก้ปัญหาวิกฤติการเงินไม่ได้

อย่างไรก็ดี การตีความ ก็ดูจะเป็นจุดอ่อนของ QE เสมอ เพราะการบอกว่าซื้อ ไม่เหมือนการบอกราคา ตลาดต้องตีความต่อ และต้องเดาว่ากระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกันเท่าไหร่ด้วย

ขณะเดียวกัน ในระยะสั้นก็อาจเพิ่มส่วนต่างระหว่างยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ให้สูงขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจเพิ่มความกังวลให้นักลงทุนไปอีก จึงไม่ง่ายที่ QE จะสามารถสยบวิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้เช่นกัน

แต่เฟดยังมีอัลติเมทที่เคยคิดแต่ไม่เคยใช้อยู่ คือการปรับสินทรัพย์ที่ซื้อได้ให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ที่กำลังมีปัญหา

ดังที่ เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด เคยกล่าวไว้ในสมัยที่เธอยังดำรงค์ตำแหน่งว่า

“อาจจะมีประโยชน์กว่าถ้าเฟดจะสามารถแทรกแซงโดยตรงในสินทรัพย์ที่ราคาเชื่อมกับการตัดสินใจใช้จ่ายได้”

ครั้งนี้ถ้าเฟดยอมแลกด้วยทั้งหมดที่มี โดยหันมา “ซื้ออะไรก็ได้ที่ปรับตัวลง” เพื่อช่วยหยุดความวิตกกังวล ก็อาจมีผลเช่นเดียวกับนโยบาย Troubled Asset Relief Program Funds หรือ TARP ที่ทางการสหรัฐเคยใช้เพื่อหยุดวิกฤติ Subprime เมื่อ 12 ปีก่อน

แต่จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของนโยบายเช่นนี้คือ “Moral Hazard”

เพราะอาจกลายเป็นว่าบริษัททั้งหลายในสหรัฐอาจเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้ไปเลย ด้วยความเชื่อว่าถ้าล้มก็จะมีเฟดคอยช่วยดูแลอยู่ เช่นเดียวกับนักลงทุนก็อาจขายการลงทุนที่ผิดพลาดทุกอย่าง และไปเรียกร้องให้เฟดจ่ายคืนทั้งหมดให้ ซึ่งอาจทำให้กลไกตลาดที่เคยเป็นจุดเด่นของสหรัฐพังทลาย

ถ้ามาทางนี้ ท้ายที่สุดเฟดคงทำได้แค่แก้เกมด้วยการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม ซึ่งก็จะทำให้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจลดลงไปอีก แต่ถ้าไม่ทำ ความน่าเชื่อถือของเฟดก็อาจหมดไปจนไม่สามารถกลับมาช่วยตลาดได้อีกเลย

เมื่อประเมินพลังวิเศษทั้งหมด สำหรับผม เชื่อว่านโยบายเหล่านี้เพียงพอที่จะหยุดตลาดการเงินที่ผันผวนได้ และเชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินรับมือกับวิกฤตินี้อย่างเต็มที่แน่นอน เหมือนที่กัปตันอเมริกามักพูดว่าI could do this for all day”

อย่างไรก็ดี ผมยังหวังว่าเฟด จะไม่รีบร้อนใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของตลาดการเงินครั้งนี้ เพราะถ้าคิดให้ดีถึงจะหยุดความปั่นป่วนในโลกการเงินลงได้ แต่ปัญหาที่แท้จริงอย่างความกลัวไวรัส หรือเศรษฐกิจถดถอย ก็ยังรออยู่

และตลาดการเงินอาจเสี่ยงมากกว่าถ้าท้ายที่สุด เศรษฐกิจวิ่งเข้าสู่วิกฤติหลังจากที่เฟดหมดพลังไปแล้ว เพราะจะกลายเป็นว่าเราต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คนทั้งโลกอาจต้องจดจำไปอีกแสนนาน

ถ้าถึงจุดนั้นจริง มนุษย์ธรรมดาเดินดินในตลาดการเงิน ถ้าไม่มองหาฮีโร่คนใหม่ หรือไม่ก็ต้องกลายเป็นฮีโร่ของตัวเองให้ได้แล้วนะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์