ความผิดปกติของตลาดเงินปี 2018

ตลาดเงินปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายๆ คนคิดไว้ เงินดอลลาร์อ่อนค่า ทั้งที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนกระแสเงินลงทุนโลกจะย้ายกลับมาสู่เอเชียที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีปัญหาการเมืองน้อยกว่า

ปีนี้แม้เศรษฐกิจเอเชียที่กลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจากการค้าโลกฟื้นตัวจะยังคงเป็นแนวโน้มหลักที่เตรียมดันให้สกุลเงินเอเชีย (รวมถึงเงินบาท) ให้แข็งค่าขึ้นได้ต่อในปีหน้า แต่ในมุมความเสี่ยง ราคาน้ำมันและสินค้าทุนต่าง ๆ ก็แพงขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นโยบายการเงินสหรัฐก็เข้มงวดจนใกล้ถึงระดับที่อาจสร้างปัญหาให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ในตลาดทุนทั่วโลกในไม่ช้า นำมาซึ่งคำถามว่า “แนวโน้มตลาดเงินเอเชียปีหน้ากำลังมุ่งหน้าไปสู่อะไรกันแน่”

ระหว่างที่ผมกำลังวิเคราะห์ค่าเงินอยู่ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างกับตลาดบอนด์และ Credit Default Swap (CDS) ให้ภาพที่ค่อนข้างน่าสนใจ

ตามทฤษฏีการเงิน เมื่อความเสี่ยงของประเทศลดลง (CDS ปรับตัวลง หรือส่วนต่างระหว่างยีลด์เอเชียและสหรัฐลดลง) เงินของประเทศนั้นก็ควรจะแข็งค่าขึ้นตามผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อเงินอ่อนค่าก็จะส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ลามไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (CDS ปรับตัวขึ้น) และบอนด์ก็จะเริ่มโดนเทขาย

ในภาวะปรกติความสัมพันธ์ค่อนข้างตรงกับทฤษฎี เมื่อวิเคราะห์ด้วยข้อมูลตั้งแต่ปี 2005 ถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินและ CDS มีความสัมพันธ์ (correlation coefficient) เฉลี่ยที่ 0.6 ซึ่งถือว่าตามกันเป็นส่วนใหญ่

แต่รอบนี้มันน่าสนใจเพราะ Correlation ล่าสุดกลับตกลงมาอยู่ที่อยู่ในระดับใกล้ 0 แปลว่าความสัมพันธ์ “หายไป” ซึ่งแปลว่าเป็นช่วงที่ตลาดผิดปรกติ

ในอดีต ความสัมพันธ์ที่หายไป “ครึ่งหนึ่ง” จะเกิดจากมีสินทรัพย์บางอย่างที่ราคาผิดปรกติอยู่ในตลาด ขณะที่ “อีกครึ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นจากตลาดการเงินกำลังจะมีวิกฤติ เช่นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2007 ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ไตรมาส 1 ปี 2011 ก่อนวิกฤติยุโรป และไตรมาส 3 ปี 2012 ช่วงก่อนที่เฟดหยุดทำ QE ซึ่ง correlation ลดลดต่ำลงเหลือเฉลี่ยเพียง 0.1 หรือแทบไม่สัมพันธ์กันเลย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องเตรียมรับมือไว้ทั้งหมด โดยผมมองเทรนด์ใหญ่ของตลาดเงินเป็นดังนี้

กลุ่มแรก สกุลเงินที่ถูกผิดปรกติแต่กำลังจะได้แรงหนุนจากราคาน้ำมัน กลุ่มนี้จะรวมถึง มาเลเซียริงกิตและอินโดนีเซียรูเปีย เทียบด้วยมุมมองฝั่งเครดิต ยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าได้อีก 5-15% ที่ค่าเงินยังคงถูกอยู่นั้นทั้งปีที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่โตน้อยกว่าคาดคอยดึงไว้ แต่เชื่อว่าถ้าราคาน้ำมันฟื้นจะเห็นเศรษฐกิจและค่าเงินแข็งค่ากลับขึ้นไม่ยาก

กลุ่มสอง สกุลเงินที่เศรษฐกิจมีลุ้นโตดีกว่าปรกติจะแกว่งตัวในกรอบ 5-10% สกุลเงินกลุ่มนี้คือไทยบาท ดอลลาร์ไต้หวัน ดอลลาร์สิงคโปร์ และวอนเกาหลี เป็นกลุ่มที่ปีนี้เศรษฐกิจดีและมีเงินไหลเข้าจากทั้งการค้าและการลงทุน ปีนี้เศรษฐกิจดีเกินคาดจากจีนที่ฟื้นตัวไปเต็ม ๆ แต่เชื่อว่าเรื่องการเติบโตเด่นจะยังไม่จบ ทุกที่ก็ยังมีลุ้นสร้างเซอร์ไพรซ์ได้ต่อในปีหน้า ที่ต้องระวังมีเพียงราคาน้ำมัน ถ้ายังพุ่งแรงจะส่งผลเสียกับไทยและไต้หวันเป็นพิเศษ

กลุ่มสาม สกุลเงินดอกเบี้ยสูงผิดปรกติมีโอกาสอ่อนค่า 3-7% เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันมากที่สุดจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดจ้องที่จะล้าง carry trade ออกเรื่อย ๆ ตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นของดอลลาร์ ถ้าเศรษฐกิจไม่โตแรง เงินเฟื้อไม่ปรับขึ้น ก็ยากที่จะขยับดอกเบี้ยขึ้นตามเฟดได้เร็ว สกุลเงินในกลุ่มนี้คือเปโซฟิลิปปินส์ รูเปียอินเดีย และหยวนจีน

และสุดท้าย ถ้าวิกฤติเกิดขึ้นสกุลเดียวที่จะรอดจากการอ่อนค่าคือเยนญี่ปุ่น ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นที่หลบภัย (Safe haven) ที่เดียวที่นักลงทุนเอเชียกล้าที่จะนำเงินไปพักไว้

สรุปถามว่าเอาไงดี ในปี 2018?

ตอบเลยว่ามีโอกาสน้อยมากที่ตลาดจะกลับข้างครับแต่ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเลย

เห็นเศรษฐกิจและการค้าจีนกลับมา ผมเชื่อว่าจะไม่มาแค่ครึ่งปี แต่น่าจะเป็นแนวโน้มอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปีตามรอบธุรกิจ ถ้าเอเชียยังเกาะกระแสการค้าโลกได้ ก็ไม่แปลกที่สกุลเงินจะแข็ง ยิ่งล่าสุดการมาทัวร์เอเชียของโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งตอกย้ำภาพว่าสหรัฐ อยากจะค้าขายมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง เงินดอลลาร์อ่อนเป็นสิ่งที่ทรัมป์พอใจแน่นอน ซึ่งก็หมายความว่าในเชิงพื้นฐาน น่าจะยังเป็นบวกกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อยู่

ส่วนในมุมความเสี่ยง ผมยังมองโลกในแง่ดีว่าเศรษฐกิจจะยังฟื้นต่อ น้ำมันจะไม่ขึ้นแรง และเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ขณะที่ความสัมพันธ์ที่ผิดเพี้ยนของค่าเงินและ CDS ก็น่าจะเกิดจากที่สกุลเงินเอเชียแข็งค่าน้อยกว่าปรกติในปีนี้ แต่เมื่อสัญญาณเตือนมาแล้วก็ไม่ควรประมาท ฟองสบู่จากราคาสินทรัพย์ที่ผิดเพี้ยนสามารถแตกได้ทุกเมื่อถ้ามีอะไรไปกระตุ้น และตลาดเงินปีหน้าจะไม่ง่ายเหมือนปีนี้แน่นอน

คอลัมน์รู้ทันโลกการเงิน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2017