อยู่ในตลาดการเงินร้อนยังกับ F.I.R.E.

ย้อนกลับไปต้นปี นักลงทุนแทบทั้งตลาดหวังว่าปี 2022 นี้จะเป็นปีแห่งการก้าวผ่านโควิด Lockdown เศรษฐกิจฟื้นตัว มีนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยหนุน นำไปสู่การลงทุนที่สดใส

แต่สิ่งที่พบกลับไม่ได้เป็นไปตามนั้น

5 เดือนที่ผ่านมา เราเจอทั้งความเสี่ยงสงคราม เงินเฟ้อสูง Lockdown ในจีน และนโยบายการเงินที่เข้มงวด สินทรัพย์หลักเกือบทุกอย่างปรับตัวลงอย่างหนัก

เหตุการณ์นี้นอกจากจะย้ำเตือนว่าไม่ควรประมาท ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ตลาดกำลังสอนเราว่า การวิเคราะห์และเตรียมกลยุทธ์รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนทุกคน

เพื่อให้เราพร้อมรับกับ 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ ผมจึงขอร่วมคิดและแชร์กลยุทธ์การลงทุน ให้เราใช้เป็นไอเดียวิเคราะห์และสามารถปรับพอร์ตพร้อมรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้

สำหรับผม ประเด็นสำคัญมีด้วยกัน 4 เรื่องคือ

Fed, Inflation, Recession และ Election รวมเรียกว่า F.I.R.E.

เรียงลำดับตามเหตุและผลจะเริ่มต้นที่ Inflation

ถ้าเงินเฟ้อในสหรัฐไม่ลดลง สินทรัพย์การเงินจะอยู่ยากแน่

เพราะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการลงทุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น รายได้ที่ลดลง บริษัทหยุดลงทุนหันไปจ่ายคืนหนี้ ไปจนถึงดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น

ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 8% ต่อปี ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงเกิน 2% ขณะที่ราคาบอนด์ก็มักปรับตัวลงพร้อมกันทำให้สินทรัพย์การเงินไม่มีที่ปลอดภัย

นอกจากนั้น เงินเฟ้อสูงอาจนำไปสู่ประเด็นที่สองของปีนี้คือ Election

ความผันผวนจาก Mid-term ปลายปีนี้เป็นสิ่งที่ต้องวางกลยุทธ์รับมือ เพราะคะแนนความนิยมของ Joe Biden กำลังเคลื่อนไหวสวนทางกับเงินเฟ้อ

ถ้าคุมเงินเฟ้อไม่ได้ เลือกตั้งแพ้ เสียสภาให้กับ Republican อาจมีข้อดี คือนโยบายภาษีที่ Biden อยากเก็บเพิ่มจากบริษัทใหญ่อาจไม่เกิดขึ้น แต่ข้อเสียชัดเจนว่านโยบายด้านพลังงานสะอาดหรือการเงินอาจหมดแรงสนับสนุน

ในทางกลับกัน ถ้าแป้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ชนะเลือกตั้ง ได้คุมสภาต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่นโยบายกระตุ้นทางการคลังต่าง ๆ จะกลับมา ตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นตัว

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นเหตุการณ์ที่จะชี้ว่า อุตสาหกรรมไหนจะได้ไปต่อ โดยความหวังของ Biden ฝากไว้กับประเด็นสำคัญที่สามนั่นคือ Fed

นโยบายหลักของเฟดในปีนี้คือการขึ้นดอกเบี้ยซึ่งเคยใช้คุมเงินเฟ้อสำเร็จมาก่อน 

แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ไม่น้อย

เช่นเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่แน่นอน

สิ่งที่ตลาดคิดตอนนี้ คือเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 3% ถ้าดอกเบี้ยสูงกว่านั้นก็อาจมีความเสี่ยงที่หุ้นจะถูกขายปรับสัดส่วนไปถือบอนด์ที่ผลตอบแทนแน่นอนกว่า

นอกจากนั้น ถ้าเฟดต้องการคุมเงินเฟ้อให้ได้จริง ในอดีตมักจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนกว่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่น่าจะลดลงต่ำกว่า 3.5%) เพื่อให้ปริมาณการบริโภคลดลง ราคาสินค้าจึงจะหยุดขึ้น

หมายความว่า ถ้าเฟดต้องการคุมเงินเฟ้อให้ได้อย่างที่ Biden ต้องการ แต่เงินเฟ้อไม่ลดลงเร็ว เรื่องราวทั้งหมดนี้จะไม่จบจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์พิเศษอย่าง U.S. Recession

สำหรับตลาดการเงิน Recession เป็นความเสี่ยงที่หนักที่สุด เพราะรายได้และมุมมองอนาคตอาจเปลี่ยนไปถาวร

ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ไม่มีปีเศรษฐกิจถดถอยใดเลยที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนใน S&P500 จะปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยเฉลี่ยหดตัวลงถึง 13% และตั้งแต่ปี 1980 P/E Multiple ของตลาดก็ลดลงโดยเฉลี่ยถึง 21% จากระดับสูงสุดไปต่ำสุด

เมื่อ Recession เกิดขึ้นก็จะได้วนกลับขึ้นไปถามว่า Inflation ลดลงแล้วหรือไม่ วนเป็นวงจรอีกรอบ

เข้าใจ F.I.R.E. แล้ว ก็ถึงเวลาจัดชุดเหตุการณ์หรือ scenario เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนให้พร้อม

Best case คือ “ไฟดับพอดีอาหารสุก”

เงินเฟ้อลงเหลือ 3% เฟดไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเกิน 2% เศรษฐกิจไม่ถดถอย ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ สภาของ Biden จะอยู่ครบ การลงทุนในหุ้นจะฟื้นตัว โดยมี Clean Energy, Small-cap Innovators และอุตสาหกรรมในประเทศเป็นธีมเด่น

Base case คือ “ไฟอ่อนต้มเปื่อย 

เฟดขึ้นดอกเบี้ยจบระดับ 2-3% เงินเฟ้อลดลงเหลือ 4% เศรษฐกิจเข้าช่วง L

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์