"โลกหลายขั้ว" ความเสี่ยงและโอกาสของ Thematic Investor

Multipolar World หรือ “โลกหลายขั้ว” เป็นหนึ่งในแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ทำให้การลงทุนของเรามีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

ไม่ใช่แค่เพราะทุกประเทศตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสายพานการผลิตของอุตสาหกรรมจนเริ่มกระจายการลงทุนตัวเพื่อ “ลดความเสี่ยงโลกาภิวัตน์” (Deglobalization) แต่ล่าสุด การ “แบ่งขั้ว”  หรือ Decoupling ยิ่งทำให้กระแสนี้ทวีความรุนแรง เพิ่มความผันผวนให้ทุกการลงทุน

และถ้า Multipolar World จะอยู่กับเราไปเป็นทศวรรษ นักลงทุนก็ต้องทำความเข้าใจผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประเมินทิศทางในอนาคต และรู้ให้ทันโอกาสหรือความเสี่ยงของธีมลงทุนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโลกการเงิน โลกหลายขั้วแบ่งได้เป็น 2 แนวโน้มใหญ่คือ Deglobalization เป็นพื้นฐาน และ Decoupling เป็นความเสี่ยงส่วนเพิ่ม

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐและธุรกิจนั้นจะแบ่งเป็นได้อีกสามกิจกรรมหลัก คือ (1) การปรับเพิ่มลดสัดส่วน Friend-shoring หรือการลงทุนในประเทศพันธมิตร (2) การดึงการผลิตที่มีความสำคัญกลับมาลงทุนที่ประเทศตนเอง หรือเรียกว่า Localization และ (3) การสร้างการแข่งขันและจัดทำ Global standards

สำหรับ Deglobalization สิ่งที่เราจะเห็นเป็นหลัก คือการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมให้ธุรกิจที่เป็นยุทธศาสตร์กลับมาลงทุนในประเทศ และผลักดันให้เกิดการแบ่งปันเทคโนโลยีเฉพาะภายในพันธมิตร

จุดอ่อนของ Deglobalization ในแง่การเปลี่ยนแปลงคือความเชื่องช้า เพราะต้องรอให้เอกชนปรับตัวเองเป็นหลัก แต่จุดแข็งคือเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในระยะยาวเมื่อผลประโยชน์ชัดเจน

ในส่วนของ Decoupling นั้นกลุ่มประเทศขั้วอำนาจหลักมักใช้การออกกฎระเบียบสากล หรือเพิ่มลดกำแพงภาษี นโยบายเหล่านี้จะส่งผลอย่างเฉียบพลัน แต่มักตามด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงปริมาณหรือราคา

ด้วยกรอบวิธีคิดนี้ 3 ธีมลงทุนที่คาดว่าจะถูกตั้งคำถามมากที่สุด หนีไม่พ้น Semiconductor, Robotics and AI, และ Electric Vehicle

แบ่งขั้วแบบสมดุลที่สุดคือธีม Semiconductor ความเสี่ยงไม่สูงอย่างที่คิด

ธุรกิจ Semiconductor แท้จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องกันทางภูมิศาสตร์ต่ำ แม้จะมีการพัฒนากระจุกตัว แต่บทวิเคราะห์ของ The Morgan Stanley AlphaWise พบว่า 35-65% ของชิ้นส่วนการผลิต มักอยู่ในประเทศที่ขายสินค้าอยู่แล้ว

เปรียบเทียบกับการพัฒนาจาก Hardware ไป Softwareช่วงปี 1940-90 มาถึง Social ช่วงปี 2000 มาจบที่ Cognitive Technology ในปัจจุบัน มองข้ามไปถึงปี 2030 ความเสี่ยงดูจะเรื่อง Global Standards มากกว่าการแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง

Multipolar World ทำหรับ Semiconductor จึงดูน่ากลัวในหน้าสื่อ แต่นักลงทุน แค่ต้องหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านการพัฒนาตามมาตรฐานโลก

ธีมที่สอง เอียงไปทางสหรัฐมากกว่าคือ Robotics and AI ที่ต้องระวังคือการกระจุกตัวและ Valuation ที่แพง

ส่วนของ Deglobalization การที่ทางการสหรัฐผ่าน CHIPS and Science Act มูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ล่าสุดจะสนับสนุนบริษัทให้กลับมาผลิตในประเทศ การลงทุนจึงมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าที่อื่น

ขณะที่การแบ่งขั้ว นานวันจะยิ่งทำให้เห็นถึงความแตกต่างของเป้าหมายเทคโนโลยี เพราะฝั่งสหรัฐจะพัฒนา AI เพื่อการพาณิชย์ สวนทางกับในฝั่งของจีนที่เน้นพัฒนา AI เพื่อการจัดระเบียบสังคม

สำหรับผม จึงไม่ใช่ปัญหาว่าธุรกิจนี้จะเติบโตหรือไม่ แต่อาจจะอยู่ที่บริษัทในบางกลุ่มอาจจะได้รับความสนใจมากเกินไปจนทำให้ระดับราคาแพงผิดปกติ

เช่น ETF AIQ ที่ลงทุนในกลุ่ม Artificial Intelligence & Big Data หรือ BOTZ ที่ลงทุนในกลุ่ม Global Robotics & Artificial Intelligence Thematic เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าหุ้นในสองกลุ่มนี้มี Long-term P/E (LT P/E) เฉลี่ยสูงถึงราว 40-60เท่า และ 50-70% ของ ETF ก็เป็นบริษัทในสหรัฐประเทศเดียว

ส่วน Electric Vehicle เป็นธีมที่จีนกุมความได้เปรียบ แต่ความได้เปรียบนี้ก็มาพร้อมกับราคาที่แพงเช่นกัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องมี Economy of Scale ประเทศที่มีกำลังซื้อรออยู่มากมักได้เปรียบ ในเชิง Decoupling จีนจึงมีโอกาสที่จะสร้างมาตราฐานก่อน

นอกจากนี้ในฝั่งการผลิตแบตเตอรี่ สินแร่ตั้งต้นหลักก็อยู่ในจีน หรือการถลุงแร่ในจีนก็มีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมที่ตำกว่าประเทศตะวันตก บริษัทจีนจึงมีโอกาสทำกำไรได้เร็วกว่าในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี มองด้าน Valuation ของการลงทุน EV จีนจะแพงกว่าสหรัฐมากอย่างมีนัย เช่น Global X China Electric Vehicle and Battery ETF ที่หุ้นในกองทุนมี LT P/E สูงถึง 53 เท่า ต่างจาก DRIV หรือ Autonomous & Electric Vehicles ETF ที่มีการคัดเลือกแบบเดียวกัน แต่เป็นหุ้นทั่วโลกที่จะมี LT P/E เหลือเพียง 18เท่า เพราะมีความบริสุทธิ์ของธีมต่ำกว่า

มองในมุมการลงทุน แม้ EV จะหนักไปทางจีนมากกว่าสหรัฐ แต่ความเสี่ยงจะคล้ายกัน คือเรื่องระดับราคาที่นักลงทุนต้องหาจุดเหมาะสมมากกว่าไล่ซื้อตามกระแส

ในมุมมองของผม ทั้งสามธีมลงทุนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสอนเราว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Multipolar World อาจไม่ได้เป็นสีขาวหรือดำเสมอ ขณะที่โอกาสของการลงทุนก็ไม่ได้อยู่แค่ว่าธุรกิจของประเทศไหนสามารถไขว่คว้าอนาคตได้มากที่สุด

แต่ระดับราคาจะมีความผันผวนสุดโต่งมากขึ้น ดังนั้น Thematic Investor จึงควรถามหา Valuation ทุกครั้งก่อนลงทุนในโลกหลายขั้วที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้นะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war