เฟดเข้ม 2022

เรื่องที่ปีนี้ต่างจากปีก่อนอย่างมากดูจะเป็นนโยบายการเงิน เมื่อธนาคารกลางสหรัฐหรือ “เฟด” ออกมาให้คำมั่นว่าจะจัดการกับเงินเฟ้อ

ประเด็นนี้กดดันให้สินทรัพย์เสี่ยงแทบทุกอย่างปรับฐานอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบอนด์ หุ้น และคริปโท หลายกองทุนคืนกำไรในปีที่ผ่านมาออกมาหมด จนนักลงทุนต่างตั้งคำถามว่า

“ทำไมตลาดถึงอ่อนไหวกับนโยบายการเงินขนาดนี้ อะไรกำลังจะเกิดขึ้น และเราควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง”

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจ คือเฟดมีหน้าที่ควบคุมระดับราคาและเฟดก็เข้มงวดขึ้น

ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลาดไม่ได้สนใจบทบาทการกำหนด Price Stability ของเฟดเท่าไหร่ เพราะสถานการณ์ “จำเป็น” ที่จะต้องเข้มงวดเกิดขึ้นไม่บ่อย

ครั้งล่าสุดยังต้องย้อนกลับถึงทศวรรษ 1990 หรือก่อนวิกฤติ Dot Com ที่ Alan Greenspan ประธานเฟดสมัยนั้น มองว่าเงินเฟ้อและระดับราคาสินทรัพย์ในตลาดสูงอย่างไม่มีเหตุผล (Irrational Exuberance) จึงทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปรับสมดุล

แม้ครั้งนี้ต่างกันที่ตลาดการเงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่การที่เฟดเปลี่ยนมุมมองอย่างรวดเร็ว จากกลางปีที่ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปี 2023 มาเป็นขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2022 ก็ยากที่ดัชนี S&P500 บนระดับ Long-term P/E 37 เท่า สูงใกล้ช่วงวิกฤติ Dot Com จะไหวตัวทัน

นอกจากนั้น แม้ชาวโลกการเงินจะรู้ว่าระดับราคาปัจจุบันผิดปรกติ ก็ไม่มีใครรู้ว่าระดับที่ถูกต้องควรอยู่ที่ไหน

เป็นความจริงที่ทั้งเฟดและตลาดรู้ว่านโยบายการเงินผ่อนคลายเกินไป แต่ไม่มีใครรู้จริงว่าจุดไหนเหมาะสม

เช่นในปัจจุบัน วัดระดับดอกเบี้ยแท้จริงระยะยาวจากยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีลบด้วยเงินเฟ้อระยะยาว (Breakeven Inflation 10ปี) จะติดลบอยู่ 0.8-1.0%

ถ้าต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายจนดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก ก็อาจต้องเห็นยีลด์ 10 ปีที่ 2.5% ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา S&P500 ซื้อขายในระดับ LT P/E เพียง 21 เท่า

ยิ่งถ้าตั้งเป้าคุมเงินเฟ้อยิ่งน่ากลัว เพราะในทศวรรษ 1990 เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.00% ไปถึง 5.25% กว่าที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลง และ S&P500 เคยซื้อขายที่ LT P/E แค่ 15เท่า

เหนือสิ่งอื่นใด ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยแต่เป็น “เงิน” ที่อัดฉีดกระตุ้นตลาดก็จะต้องหายไปพร้อมกัน

ขนาดงบดุลของเฟดที่ขยายขึ้นในช่วงวิกฤติโควิดมีขนาดถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์

เงินเหล่านี้อาจต้องหยุดเพิ่มขึ้น “ก่อน” ขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจต้อง “ลดขนาด” งบดุลลงในอนาคต ส่งผลกับมุมมองตลาดหลายเรื่อง

  1. การลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เปรียบเสมือนลอตเตอรี่ มีไว้ลุ้นกำไรมหาศาลด้วยสภาพคล่องส่วนเกินจะต้องหยุด
  2. ต่อให้ลงทุนมีกำไร แต่เมื่อสภาพคล่องไม่เพิ่ม เหตุผลว่าการลงทุนควรมี P/E กี่เท่า ต้องมองว่าธุรกิจเหล่านี้จะอยู่กับตลาดไปได้ถึงจุดคืนทุนหรือไม่ด้วย
  3. ถ้าเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ของตลาดปรับฐาน ก็ยากที่ตลาดโดยรวมจะสามารถยืนแดนบวกได้

ในมุมมองของผม แม้ท่าทีของเฟดจะไม่ได้เป็น “คำมั่นสัญญา” ว่าการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดงบดุลจะต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นไปได้เพิ่มขึ้น เช่น

หยุด EQ เร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก

มีโอกาสกว่า 80% ที่เฟดจะประกาศลด QE เร็วขึ้นใน FOMC วันที่ 27 มกราคมนี้ การลงทุนที่ต้องระวังคือสินทรัพย์เสี่ยงที่แพงโดยไม่มีพื้นฐาน

ขึ้นดอกเบี้ยทันทีในการประชุม FOMC 16 มีนาคม

ตลาดมองโอกาสเกิด 70% ด้วยทิศทางเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ผมเห็นด้วยว่าเฟดอาจต้องทำอะไรสักอย่าง ทุกสินทรัพย์ในตลาดมีโอกาสปรับฐาน ที่ต้องจับตาต่อ คือยีลด์ระยะยาวจะขึ้นเพราะมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือจะลงเพราะตลาดหาที่หลบภัย

ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง ภายในปี 2022

ผมมองโอกาสต่ำกว่า 50% เป็นกรณีที่เสี่ยงที่สุดของตลาดก็จริง แต่ครึ่งหลังปีนี้น่าจะเป็นช่วงที่เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยิ่งถ้าตลาดปรับฐานแรงโอกาสเข้มงวดต่อเนื่องยิ่งน้อย

ลดขนาดงบดุลในไตรมาสสี่

ปัจจุบันเป็นเพียงการคาดเดา จึงมีโอกาสเพียง 25% ตลาดยังไม่รับข่าว แต่ถ้ามองจากปริมาณ QE ที่ทำไปในช่วงโควิดและอายุคงเหลือของตราสารที่เฟดซื้อ ถ้าไม่มีการซื้อใหม่ งบดุลของเฟดก็จะทยอยลดลงราวเดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ กดดันบอนด์ระยะสั้นและสกุลเงิน EM

ด้วยความเป็นไปได้เหล่านี้ ถ้าใครไม่เคยกลัวเฟดก็ควรกลัวบ้าง เพราะระดับราคาของตลาดไม่ได้อยู่ในจุดที่มั่นคงเสียเลย

แต่ถ้าใครกลัวมาก ก็ควรลดความกลัวลง เพราะไม่ใช่ทุกเหตุกาณ์จะเกิดขึ้นและหลายเรื่องตลาดก็รับข่าวไปแล้ว

ลดการลงทุนที่ผันผวนสูงลง แล้วคิดไว้ก่อนว่าหลังตลาดปรับฐานจะลงทุนอะไรในปีนี้ดีที่สุดครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war