มีสติ มองหาสตางค์ ในช่วงสยองของโรคระบาด

ในเดือนที่ผ่านมา การวิเคราะห์ตลาดเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องอาศัยความรู้มากมายหลายศาสตร์ ทั้งฝั่งเศรษฐกิจ ที่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของการค้าไปจนถึงนโยบายดอกเบี้ย ฝั่งการเมือง ก็ต้องคิดหลายประเด็น ทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปัญหางบประมาณ และผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แถมยังมีด้านการแพทย์ ที่ต้องตอบให้ได้ว่าสถานการณ์ไวรัสระบาดจะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่

ต่อให้เราสนใจแค่ผลกระทบกับตลาดการเงินก็ยังตอบไม่ง่าย เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมด จนดูจะไม่สามารถสร้างเป็น Control Experiment ได้

ถ้าจะบอกว่า “ไม่ต้องกังวล” ก็คงไม่ใช่ แต่ทางที่ดีก็ต้อง “ไม่วิตก” (Panic)

เพราะผมเชื่อว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นช่วงที่ตลาดกำลังส่งสัญญาณแท้จริง (Signal) และสัญญาณรบกวน (Noise) ซึ่งเราควรทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด จะได้รู้ทันและไม่ตัดสินใจผิดไปกับ Noise ในช่วงนี้

ประเด็นแรก ต้องตั้งสติให้ดี เพราะว่าที่จริงแล้วความผันผวนยังไม่ได้ถือว่าสูงผิดปรกติ

เรื่องนี้อาจค้านกับความรู้สึกของหลายคน แต่ความผันผวนแค่ปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำมาระดับปานกลาง

ถ้าคำนวณความผันผวน (volatility) โดยใช้การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทั้งหมดที่คนไทยส่วนใหญ่สนใจในเดือนที่ผ่านมาเทียบกับช่วงอื่นในอดีต จะพบว่ามีเพียง “ครึ่งเดียว” ของตัวแปรตลาดที่มีความผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงปี 2018-2019 ขณะที่ถ้าเราย้อนกลับไปเทียบกับ 10ปีที่ผ่านมา ตลาดที่ความผันผวนในเดือนมกราคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยอดีตจะเหลือเพียง “ไม่ถึง 20%” (คือน้ำมันดิบและหุ้นไทย)

เบื้องต้นจึงต้องสรุปว่า ความเสี่ยงทั้งหลายนี้ดูจะอยู่ในวงจำกัด และสภาพคล่องทางการเงินที่ทั่วโลกอัดฉีดไว้ในช่วงทศวรรษก่อน เพียงพอที่จะกดความผันผวนให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำได้ แม้จะมีเรื่องราวมากมายเข้ามากระทบตลาด

อย่างไรก็ดี “การตีความของตลาด” (Narrative) ที่ดูจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ความสัมพันธ์ของตัวแปรทางการเงินมากมายถึงกลับพลิกด้านได้ในระยะสั้น  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือค่าเงินบาท ที่ความสัมพันธ์ในเดือนที่ผ่านมา “กลับข้าง” กับเงินเยน ทองคำ และราคาบอนด์ในปีก่อนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากที่ตามกันเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในปี 2019 เงินบาทกลับอ่อนค่าแรงในภาวะความเสี่ยง

แล้วเงินบาทถูกจัดเป็นอะไรในตอนนี้?

เชื่อไหมว่า ตามความสัมพันธ์ของค่าเงินบาทกับตัวแปรตลาดล่าสุด อันดับหนึ่งและสองคือเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และทองแดง (0.48 และ 0.37 ตามลำดับ) แปลความได้ว่า เงินบาทตอนนี้แทบจะเป็น Commodity Currency ทั้งที่การลดลงของราคาน้ำมันจะทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ล่าสุดทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงเป็นสถิติใหม่อยู่

การตีความที่ผิดธรรมชาติแบบนี้ไม่ได้มีแค่เงินบาท แต่ยังมีอีกหลายอย่างในตลาดเอเชีย

ภาวะเช่นนี้ถือว่าตลาดอยู่ในอาการ Panic เป็น Noise ที่ในระยะยาวเป็น “โอกาสมากกว่าความเสี่ยง” เพียงแต่ Narrative แบบนี้จะอยู่ได้นานหรือไม่ มักขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่จะมีเหตุการณ์อื่นมาดึงความสนใจของตลาดออกไป ซึ่งยากที่จะคาดเดา

และท้ายที่สุด เราควรรับมืออย่างไรกับตลาดเช่นนี้

ผมเชื่อว่า เราควรคิดเรียงลำดับขั้นตอนการวิเคราะห์ใหม่ ด้วยการเริ่มต้นจาก ระยะเวลา การตอบโต้เชิงนโยบาย ถึงจะจบด้วยผลกระทบ โดยจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

เพราะในภาวะที่มีเรื่องไม่ปรกติเข้ามาในตลาดพร้อมกัน เรามองตลาดสองชั้นเหมือนกระจกสะท้อน (Reflexivity) เพราะต้องระลึกไว้เสมอว่าเรื่องไม่ปรกติจะไม่อยู่กับตลาดไปตลอด ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ยากที่ทุกอย่างจะร้ายหรือดีอย่างเดียวเมื่อผู้กำหนดนโยบายเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาด

เช่น สงครามการค้าที่เรากังวลมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพราะกินระยะเวลายาวนาน แต่กลายเป็นภาวะที่กดดันจนธนาคารกลางพลิกกลับมาลดดอกเบี้ยจนกลายเป็นบวกกับตลาด

ขณะที่ปัญหาไวรัสระบาด อาจสั้นราว 1-3 เดือน แต่ถ้าไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ดีพอจะกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ ก็อาจเห็นตลาดที่ซึมยาวกว่านั้น

หรือการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะเกิดขึ้นภายในไม่ถึงปีข้างหน้า แม้ตอนนี้จะไม่ใช่ประเด็นที่ตลาดสนใจ แต่ถ้าเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองก็จะกลายเป็นความผันผวนของตลาดทันที

อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณเหตุการณ์มากมายหลายอย่างในตลาดการเงินตอนนี้ที่เตือนเราอีกครั้งว่า “ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง” และถึงจะรู้ Narrative ในตลาดก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ยากที่จะควบคุม สิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดอย่างมีกำไรในตลาดระยะยาว จึงอาจไม่ใช่การคาดเดาอนาคตให้ถูกเสมอ แต่อยู่ที่การยอมรับว่ามีเรื่องที่เราไม่รู้ และวางอารมณ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความโลภหรือความกลัวในระยะสั้น ซึ่งผมเชื่อว่าการวิเคราะห์ที่เป็นระบบจะช่วยเราได้ครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

คอลัมน์รู้ทันโลกการเงิน นสพ.กรุงเทพธุกิจ วันที่ 12 ก.พ. 2020

iran-israel-war