ค้นหาผู้ชนะในสงครามการค้าตามพิชัยสงครามซุนวู

ไม่ทันที่จะรู้ตัว นักลงทุนทั่วโลกก็กลายเป็นตัวประกันในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไปเป็นที่เรียบร้อย

ตลาดการเงินปั่นป่วนอย่างหนัก สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกออกอาการ ลบสลับบวก ตามข่าวการกีดกันทางการค้าและความเห็นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของทางฝั่งจีนและอเมริกา

มุมมองของนักวิเคราะห์ทั่วโลกเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าสงครามการค้าครั้งนี้เป็น No Winner War ที่ไม่ว่าใครจะชนะก็ต้องเจ็บ แต่นักลงทุนอย่างเราก็อยากรู้อยู่ดีว่า “ใครได้เปรียบมากกว่า” และผลกระทบต่อการลงทุนจะเป็นอย่างไร

แนวคิดการมองผู้ชนะด้วยหลัก The Art of War ของซุนวู อาจบอกว่าใครกันแน่ที่จะกำชัยในการศึกครั้งนี้ โดยพิชัยยุทธ์ซุนวูกล่าวว่า ผู้ชนะจะต้องมีคุณลักษณะห้าประการ

He will win who, prepared himself, waits to take the enemy unprepared

“ผู้ชนะคือผู้ที่เตรียมพร้อมและจู่โจมศัตรูที่ไม่ได้เตรียมตัว” จุดนี้ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ ทำได้เหนือกว่าจีน

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศสงครามการค้าอย่างรวดเร็ว ขณะที่จีนไม่ทันตั้งตัว จีนตกเป็นฝ่ายตั้งรับและเสียเปรียบกว่าในช่วงต้นสงครามแน่นอน

He will win who knows how to handle both superior and inferior forces

ผู้ชนะคือผู้ที่จัดการได้ทั้งกองทัพที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอจุดนี้ผมถือว่าจีนเป็นผู้ชนะ

การตอบโต้ของจีนชัดเจน สังเกตได้จากปริมาณการค้าที่หยิบยกมาต่อรองมีค่าเท่ากับที่สหรัฐฯ กดดันเสมอ ทุกตาเดินไม่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม ต่างจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ตั้งใจจะลดการขาดดุลการค้าห้าแสนล้าน แต่เลือกใช้อาวุธเล็กอย่างการกีดกันการค้าระดับไม่กี่หมื่นล้าน ไม่ต้องเป็นยอดกุนซือก็มองออกว่าการกระทำดังกล่าว เป็นตาเดินที่เสียเปล่าและไม่มีทางจัดการการขาดดุลการค้าได้

He will win whose army is animated by the same spirit throughout all its ranks

 “ผู้ชนะคือผู้ที่บัญชากองทัพที่มีจิตวิญญาณเดียวกัน” มุมนี้ผมมองว่าจีนก็ชนะ

ฝั่งสหรัฐฯ มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายกีดกันทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ แม้เป็นพรรคริพับบลิกันก็ยังเสียงแตก เหตุผลหลักอาจจะมาจากการเลือกตั้งมิดเทอมในสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แม้แต่ภาคประชาชนเองก็ยังไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะอยู่ได้ครบเทอมหรือไม่

ต่างจากฝั่งจีนที่การเมืองนิ่งและสีจิ้นผิงจะอยู่ไปจนจบสงครามแน่นอน ทำให้ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนกล้าที่จะเชื่อมั่นในการออกรบครั้งนี้

He will win who knows when to fight and when not to fight

และข้อสี่ผู้ชนะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรสู้เมื่อไหร่ไม่ควร” จุดนี้ผมมองว่าเสมอกัน

โดนัลด์ ทรัมป์ไม่สามารถชนะสงครามการค้านี้ได้ถ้าไม่เป็นคนเปิดเกมส์ก่อน แม้จีนจะไม่ได้มองการเกินดุลการค้าเป็นเรื่องแพ้ชนะ แต่ก็ตอบโต้ด้วยนโยบายการค้าทันทีเพราะรู้ว่านี่คือเกมส์การเมือง การยอมอ่อนข้ออาจตามมาด้วยการกดดันด้านอื่น ศึกนี้จึงเป็นศึกที่ไม่ควรถอย

He has military capacity and is not interfered with by the sovereign

และสุดท้าย “ผู้ชนะคือผู้ที่มีกำลังเหนือกว่าและไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมือง” มุมนี้ดูจะไม่มีผู้ชนะ

แม้โดนัลด์ ทรัมป์จะเป็นคนที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจสหรัฐ แต่ก็ไม่มีกำลังรบพอที่จะจัดการการขาดดุลการค้าได้จริง กลับกับจีนที่กำลังรบสูงส่ง แต่ภาคธุรกิจกลับถูกควบคุมอย่างเข้มงวด จนเราไม่สามารถเชื่อได้ว่าการตอบโต้ทางการค้าของทางการจีนได้หารือกับภาคธุรกิจบ้างหรือไม่

โดยสรุป จีนมีโอกาสเป็นผู้ชนะในสงครามนี้มากกว่าสหรัฐฯ เล็กน้อย

ผมมองว่าในระยะสั้น การเปิดเกมเร็วของสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องคิดหนักและตั้งรับ โอกาสพลาดพลั้งก็พอมี แต่ในระยะยาว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งเศรษฐกิจจีนอยู่มาก สงครามการค้าส่งผลเสียกับสหรัฐฯ มากกว่าจีนแน่นอน และเมื่อไหร่ที่จีนสามารถตั้งตัวเป็นมหาอำนาจได้ สหรัฐฯ อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

ผลกระทบที่นักลงทุนอย่างเราเจอจึงเป็นความผันผวนที่เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน

ความผันผวนของตลาดหุ้นจีนเพิ่มขึ้นจากระดับ 14% ไปที่ 36% ขณะที่ความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นถึง 25% จากที่เคยอยู่ในระดับต่ำเพียง 6% สะท้อนภาพว่าตลาดกลัวจีนจะพลาดพลั้งมากกว่าสหรัฐฯ

อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับหยวนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นต้องติดตาม เมื่อไหร่ที่ทรัมป์รู้ตัวว่า ภาษีไม่สามารถกดดันการนำเข้าสินค้าจากจีนได้ ค่าเงินก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น และเงินหยวนอาจต้องถูกสังเวยด้วยการแข็งค่าขึ้นเพื่อเป็นการยุติปัญหา

ท้ายที่สุด ไม่ต้องรอให้ซุนวูมาบอกนักลงทุนก็ควรก็รู้เองได้ว่า การลงทุนในสองประเทศนี้ต้องระมัดระวังอย่างสูง เพราะ “สงครามการค้านี้เพิ่งจะเริ่มเปิดฉากเท่านั้น”

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด

SaveSave

SaveSave

iran-israel-war