YOLO Investors กับปรากฏการณ์ GameStop

โลกการลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง และคงไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่ากระแสการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อย ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งตลาดการเงิน

ที่ผมพูดถึงคือเรื่องบริษัท GameStop และการทำ Gamma Squeeze ที่ทุกท่านคงได้อ่านจากหลากหลายสื่อไปบ้างแล้ว ผมจึงอยากชวนคิดในอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือวลี YOLO ย่อมาจาก You Only Live Once หรือแปลเป็นไทยคงประมาณ “ชีวิตเรา ใช้ซะ!” ที่หมู่รายย่อย r/WallStreetBet ใช้เป็น “เหตุผล” ในการซื้อ

บังเอิญจริง ๆ ว่าเมื่อช่วงเดียวกันนี้เมื่อสามปีที่แล้ว (2018) ผมเคยเขียนเกี่ยวกับอารมณ์ FOMO และเกริ่นถึง YOLO ไว้บ้าง ในตอนนั้นไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา ตลาดการเงินทั่วโลกก็ปรับฐานราว 5-7% เราจึงควรรู้ให้ทันอารมณ์ตลาดการเงินช่วงนี้ เพื่อจะได้วางกลยุทธ์การลงทุนไว้ให้พร้อม

ประเด็นแรก YOLO ครั้งนี้สะท้อนภาวะ Liquidity Bubble ที่จุดเริ่มต้นของการซื้อขายไม่ได้เกิดจากความโลภ

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์แบบเกิดขึ้นได้เพราะนักลงทุนได้รับสภาพคล่องส่วนเกิน ขณะที่ติดอยู่ในบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ เมื่อไม่ใช่เงินส่วนตัว ก็อยากใช้เงินที่รัฐให้มาซื้อความสนุกและความหวังบ้าง การเก็งกำไรรูปแแบบ Online Option จึงตอบโจทย์

ไม่เพียงเท่านั้น รายย่อยเหล่านี้ถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือ “การต่อสู้กับนายทุนที่เอาเปรียบคนอื่นมาตลอด” แม้จะต้องเสียเงินก็คือ “การเสียสละ” ทำให้ยิ่งกล้ารับความเสี่ยงโดยไม่สนใจความเสียหาย

อารมณ์เช่นนี้มักทำให้ขาขึ้นไปได้ไกลเกินจินตนาการ เพราะทัพหน้ากล้าตายโดยเชื่อว่าเป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี

ประเด็นที่สอง เหตุการณ์อย่าง GameStop อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกง่าย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ เพราะ YOLO Investors ยังอยู่ และไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหาความจริงมาตั้งแต่ต้น

ต่อจากนี้ ผมเชื่อว่าทั้งตลาดจะต้องเพิ่มความเข้มงวดของ Risk Management ผู้กำหนดนโยบายอาจเข้ามาปรับกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้ตลาดกลับสู่ความสงบ

แต่สำหรับนักลงทุน YOLO แล้วการจะให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่อนาคตไม่รู้ว่าจะกลับไปมีงานทำหรือไม่ และตัวเองเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่สามารถต่อกรกับระบบที่โหดร้ายได้ ดูจะไม่ใช่ความจริงที่อยากเชื่อ

เหมือนกับฉากหนึ่งในหนังคลาสสิคไซไฟเรื่อง Metrix ที่ Neo ถาม Morpheus ว่า “Matrix คืออะไร” และ Morpheus ยื่นยาสีฟ้ากับสีแดงขึ้นมาให้เลือก

ถ้ากิน “ยาสีฟ้า” ทุกอย่างจะจบ คุณจะตื่นขึ้นบนเตียงและได้เชื่อในสิ่งที่คุณอยากเชื่อ แต่ถ้าคุณหยิบ “ยาสีแดง” คุณก็จะกลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง และต้องยอมรับกับผลที่ตามมา และ Morpheus ให้ได้แค่ความจริงสองอย่างนี้

แน่นอนว่า YOLO Investor จะหยิบ “ยาสีฟ้า” เข้าปากอย่างรวดเร็ว

ในภาวะแบบนี้ นักลงทุนที่มีเหตุผลควรตั้งสติให้ดี ไม่เผลอไปกับความผันผวน แต่ก็ต้องรู้จักหาโอกาสจากสถานการณ์แบบนี้ด้วย

เราต้องเป็นให้ได้อย่าง Neo ที่หยิบ “ยาสีแดง” แต่ต้องจำไว้ด้วยว่าแม้จะเป็นถึง Neo ก็ยังต้องมีคนคอยช่วยเหลือ

ขั้นแรกคือ “อย่าคิดคนเดียว” อยู่กับกลุ่มนักลงทุนที่ถูกต้อง รับข้อมูลจริง และ ประมวลผลไปพร้อมกับตลาด

ขั้นต่อมาคือ “ต้องรู้ตัว” เมื่อเข้าสู่โลกการเงินในช่วงนี้ หุ้นของบริษัทกับพื้นฐานของบริษัทจะแยกขาดจากกันได้มากผิดปรกติ เพราะนักลงทุนเข้ามาด้วยหลากหลายเป้าหมายมากกว่าแค่การทำกำไร จึงต้องไม่ลืมนึกก่อนว่ากำลังลงทุนในอะไร และพื้นฐานของสิ่งนั้นกับราคาปัจจุบันต่างกันแค่ไหน

และสุดท้ายก็ต้อง “ตั้งใจมองหาความแตกต่าง” ระหว่างกฎเกณฑ์บนโลกความจริงและโลกการเงิน เพราะนั่นคือสิ่งที่สร้างกำไรและบริหารความเสี่ยงให้เรา

เช่น สภาพคล่องที่สูงเกินไป แต่ไม่มีใครคิดว่าต้องลด ควรทำให้เรากล้าลงทุนมากขึ้น

หรือ ไวรัสกลายพันธุ์ แต่ตลาดเชื่อว่าวัคซีนจะรักษาได้ทั้งหมด ทำให้เราไม่ควรหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากเกินไป

ขณะเดียวกัน ก็ควรระวังมุมมองว่ากำไร 100% ต่อปีจากการลงทุนเป็นทำได้ง่าย ทั้งที่ในโลกความจริงผลตอบแทนระดับนั้นไม่เคยเป็นสิ่งที่ยั่งยืน

โดยสรุป ผมมองว่าภาวะ YOLO ทำให้การเก็งกำไรกลายไปเป็นการพนัน นักลงทุนจึงต้องหมั่นตรวจสอบเหตุผลของตลาดบ่อยกว่าปรกติ

ในกรณี GameStop จากการเคลื่อนไหวของหุ้นที่พุ่งขึ้นเป็น 100 เท่า แต่สุดท้ายก็ปรับตัวลงมาติดลบเกือบ 100% ต้องบอกว่ายังดีที่ทั้งตลาดไม่ได้อยู่ในอารมณ์ YOLO ไม่เช่นนั้น ตอนนี้เราคงอยู่ในวิกฤติการเงินรอบใหม่ไปแล้ว

และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เราต้องจำไว้เตือนตัวเองเสมอว่า แม้เราจะเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียวก็จริง แต่ความจริงนี้ไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมหรือเกี่ยวข้องกับการรับความเสี่ยงหรือการลงทุนของเราครับ

YOLO Investors กับปรากฏการณ์ GameStop

ราคาหุ้น GameStop ขึ้นจากระดับ 4ดอลลาร์ไปเป็น 483 ดอลลาร์และกลับตัวลงอย่างรวดเร็ว
ที่มา: S&P Global และ SCB Securities

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์