dr-niwes-30-years-in-stock-market

เริ่มต้นลงทุน

ผมเริ่ม “ลงทุน” หรือว่าที่จริงน่าจะเรียกว่า “เล่นหุ้น” มาตั้งแต่ปี 2529-30 ซึ่งเป็นเวลาที่ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาและกลับมาทำงานทางด้านการเงินที่อดีต “บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เงินทุนระยะยาวให้กับโครงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย และ “สนับสนุน” ให้เกิด “เงินทุนระยะยาว” ขึ้นในประเทศ เช่น Underwrite หรือรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจัดตั้ง “บริษัทจัดการกองทุนรวม” แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนและนำเงินนั้นมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าจะพูดก็คือ บรรษัทเป็นสถาบัน “กึ่งรัฐ” ที่มีหน้าที่หรือบทบาทในการพัฒนา “ตลาดทุน” ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย เพื่อที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ยังเป็นประเทศ “เกษตรกรรม” ในช่วง 40-50 ปีก่อน

การทำงานที่บรรษัทนั้นได้ทำให้ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างไม่ตั้งใจเริ่มตั้งแต่การได้เข้าไป “แก้ไข” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ เข้าไป “รับรู้” ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดในปี 2530 ที่เกิดเหตุการณ์ “Black Monday” หรือ “วันจันทร์ทมิฬ” ในวันที่ 19 ตุลาคม 2530 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงมาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ในหนึ่งวัน โดยที่ดัชนีดาวโจนส์ลดลงไปถึง 508 จุดเหลือ 1738.74 จุดหรือลดลงถึง 22.61% เหตุการณ์แบล็คมันเดย์นั้น ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากการซื้อขายของ “Program Trading” หรือการซื้อขายโดยอาศัยคอมพิวเตอร์สั่งซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วโดยอิงกับเรื่องของราคาหุ้นที่ขึ้นลง โดยที่โปรแกรมนั้นทำขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันพอร์ตของเทรดเดอร์ไม่ให้เสียหายหนักถ้าหุ้นมีความผันผวนหรือตกลงมาแรงที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “Portfolio Insurance” อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนก็เถียงว่ามันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดก่อนหน้านั้นขึ้นมาแรงเกินไป โปรแกรมเทรดดิ้งแค่ทำให้มันปรับตัวลงมาอย่างรวดเร็วมาก

ช่วง 10 ปีแรก ของการลงทุน

การลงทุนในตลาดหุ้นของผมในช่วง 10 ปีแรกนั้น เริ่มตั้งแต่การซื้อหุ้นจองหรือ IPO โดยเฉพาะที่บรรษัทเป็นผู้รับประกันการจำหน่ายซึ่งก็ได้มาในระดับร้อยหุ้นเท่านั้น ต่อมาผมก็เริ่มซื้อขายหุ้นเองบ้าง และก็เริ่มมากขึ้นเมื่อผมย้ายงานมาอยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยทำหน้าที่ทางด้านวานิชธนกิจหรือ IB ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาการระดมเงินแก่บริษัทจดทะเบียนและการรับประกันการจำหน่ายหุ้น รวมถึงการลงทุนโดยพอร์ตของบริษัทเองที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ป็อปเทรด” อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” แต่เนื่องจากเป็นคนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมและกลัวความเสี่ยง ผมจึงลงเงินเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะเกิน 10% ของเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ผมไม่เคยนับและบันทึกผลงานการลงทุน แต่ถ้าจะเดาก็คือคง “เสมอตัว” ไม่ได้กำไรหรือขาดทุนแม้ว่าช่วง 10 ปีนั้นตลาดหุ้นจะขึ้นมามหาศาล

ปี 2540

สิบปีหลังจากวิกฤติตลาดหุ้นแบล็คมันเดย์คือในปี 2540 ผมก็พบกับวิกฤติตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่อไทยประกาศลดค่าเงินบาทลงและคนขาดความมั่นใจส่งผลให้ค่าเงินบาทตกลงมาอย่างหนักจาก 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์กลายเป็น 50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ซึ่งส่งผลให้บริษัทจำนวนมากล้มละลาย ตลาดหุ้นตกลงมากว่า 50% ในปี 2540 และอนาคตของประเทศดูมืดมนเนื่องจากบริษัทเกือบทั้งประเทศต่างก็เป็นหนี้มากมายและไม่มีใครมี “เงินสด” ที่จะนำมาลงทุนได้เป็นเรื่องเป็นราว ผู้คนจำนวนมากรวมทั้งตัวผมเองต้อง “ตกงาน” และไม่รู้ว่าจะยังหางานอื่นที่ดีหรือมีรายได้พอเลี้ยงชีพหรือดำรงสถานะความเป็นอยู่แบบเดิมได้หรือไม่ แต่ก็อย่างที่ปราชญ์บางคนกล่าวไว้ “ในวิกฤติมีโอกาส”

เริ่มการลงทุน “เพื่อชีวิต”

ผมเริ่มต้นชีวิตการลงทุน “เพื่อชีวิต” เพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงแล้วมีเงินพอดำรงชีพแบบเดิมได้ ผมเห็นโอกาสที่จะลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดีเยี่ยม เป็นผู้นำที่ขายสินค้าที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น มีหนี้น้อย และที่สำคัญราคาหุ้นถูกมาก ค่า PE ไม่ถึง 10 เท่า ปันผลอย่างน้อย 5% ต่อปี บางบริษัทอาจจะถึง 10% ผมคำนวณดูแล้ว เงินออมของผมทั้งหมดที่มีอยู่ ถ้านำไปลงในหุ้นพวกนี้ ผมจะได้รับปันผลเพียงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ผมค่อย ๆ ลงจนเงินออมทั้งหมดอยู่ในตลาดหุ้น ผมลงโดยไม่คิดว่าจะขายหุ้น ผมคิดว่าผมกำลังลงทุนทำธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่ดีเยี่ยม มีกำไรและจ่ายปันผลดี ผมจะอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ ตลอดไป เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถึงผมอยากจะขาย ผมก็ขายไม่ได้ ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครมีเงินซื้อหุ้น มีแต่คนอยากขาย ผมประกาศตัวเป็น Value Investor หรือ VI ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร

Value Investor

หลังจากการเป็น VI และความคิดด้าน VI กลายเป็นกระแสใหม่ มีคนที่เรียกตัวเองว่า VI จำนวนมาก การลงทุนแบบ VI ประสบความสำเร็จอย่างสูงส่วนหนึ่งจากภาวะตลาดหุ้นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2551 หรือ 10 ปีเต็มนับจากวิกฤติปี 40 ตลาดหุ้นไทยก็ประสบกับวิกฤติอีกครั้งหนึ่งตามวิกฤติที่เกิดขึ้นจากกรณี “ซับไพร์ม” หรือวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ดัชนีหุ้นไทยตกลงไปถึงเกือบ 50% ตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะซบเซาและหลายคนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะคล้ายหรือหนักกว่าภาวะวิกฤติในปี 2540 อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม ภายในเวลาเพียงปีสองปี ทุกอย่างกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับตลาดหุ้นที่คึกคักกว่าเดิม เกือบ 10 ปีที่ผ่านมามันกลายเป็นยุคทองหรือทศวรรษทองของตลาดหุ้นและ VI โดยที่ปีที่เลวร้ายมีน้อยมาก และถ้าปีนี้ตลาดก็ยังดีอยู่ ทศวรรษนี้ก็จะเป็นทศวรรษที่ดีและไม่เกิดวิกฤติตลาดเลย

ถ้าจะมองย้อนหลังไปช่วงที่ตลาดเปิดใหม่ๆ ในปี 2518 พอถึงปี 2522 ตลาดไทยก็เกิดวิกฤติ “ราชาเงินทุน” ที่บริษัทหลักทรัพย์ราชาเงินทุนที่เข้ามาเล่นหุ้นตนเองล้มละลาย ก่อให้เกิดวิกฤติ ดัชนีหุ้นลดลงถึงกว่า 40% ก็จะพบว่า ประมาณทุก 10 ปี เป็นเวลา 4 ครั้งคือประมาณปี 2520 30 40 และ 50 ที่ตลาดเกิดวิกฤติ แต่เกือบ 10 ปีสุดท้ายนี้ กลับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดและตลาดไม่เกิดวิกฤติเลย ว่าที่จริงสิบปีสุดท้ายนี้เป็นช่วงเวลาที่เราแทบไม่เคยเจอช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นตกรุนแรงด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนมากมองภาพของตลาดหุ้นที่ดีและอาจจะมี “ความเสี่ยงต่ำ” คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นจำนวนมากนำเงินเข้ามาลงทุนราวกับว่าเงินนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่นี่สำหรับผมแล้วกลับเป็นเรื่องที่น่าห่วง ผมเองนั้นก็ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤติในปี 2560 ผมไม่เชื่อเรื่องดวง ว่าที่จริงถ้าจะเกิดวิกฤติจริงผมก็ไม่กลัวเนื่องจากผมผ่านมันมาหลายครั้งแล้ว ผมเพียงแต่คิดว่าผมต้องหาหุ้นที่ปลอดภัยพอสมควรแม้ว่าจะเกิดวิกฤติ ซึ่งมันก็จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเพราะมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ตลาดหุ้นก็เป็นอย่างนั้น นักลงทุนที่ดีก็คือจะต้องผ่านวิกฤติให้ได้ทุกครั้ง

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/30-ปีในตลาดหุ้น