อัศจรรย์ของการลงทุนใน RMF-LTF

ผมเพิ่งซื้อกองทุน RMF และ LTF ประจำปี 2560 ตามที่ทำมาทุกปีในช่วงปลายปีเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว เหตุผลหลักที่ซื้อก็คือเพื่อที่จะลดภาษีที่ต้องจ่ายจากรายได้ลง 30% นั่นก็คือ ทุกปีผมจะซื้อกองทุน RMF และ LTF อย่างละประมาณ 15% ของรายได้ประจำปีแต่ไม่เกิน 250,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด นี่คือเงินที่ผม “ได้แน่ ๆ” ในวันที่ซื้อหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตาม การซื้อกองทุนทำให้ผมต้องเสียโอกาสที่จะนำเงินนั้นมาลงทุนเองที่ “อาจจะ” ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ผมเองค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าผมซื้อกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ผลตอบแทนที่ได้ในระยะยาวก็คงต่ำกว่าการลงทุนที่ผมจะทำเองมากและคงไม่คุ้มกับภาษีที่ผมประหยัดได้แน่ ดังนั้น ผมจึงเลือกลงทุนใน RMF ที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมด ในส่วนของ LTF ซึ่งลงทุนในหุ้นเป็นหลักอยู่แล้วผมก็เลือกลงทุนในกองที่เน้นการถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงที่สุด นอกจากนั้น ทั้งสองกองทุนผมก็ยังเลือกที่จะไม่รับปันผลเลย เพราะผมเชื่อว่าเงินที่เก็บรักษาและลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น เราไม่ควรนำมาใช้เลยก่อนที่เราจะเกษียณ เราควรจะปล่อยให้มันทบต้นไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่เราจะนำมันออกมาใช้

ผมเอง “เกษียณ” จากการทำงานประจำมานานแล้ว ว่าที่จริงเมื่อผมเริ่มซื้อกองทุนแค่สองสามปี ผมก็ลาออกจากงานประจำแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีรายได้อื่นโดยเฉพาะจากลิขสิทธิ์หนังสือที่ผมเขียนมาโดยตลอดและผมก็ซื้อกองทุน RMF และ LTF ต่อเนื่องมาทุกปีเพื่อ “ลดภาษีรายได้” โดยที่ไม่ได้สนใจว่ามันจะเติบโตขึ้นเพียงพอที่ผมจะนำมาใช้ในยามเกษียณหรือไม่ เหตุผลก็เพราะผมมีเงินเพิ่มขึ้นมากจากการลงทุนในตลาดหุ้นเองจนเงินในกองทุน RMF และ LTF นั้นกลายเป็นเงินส่วนน้อยที่ไม่มีนัยสำคัญไปแล้วและผมก็ไม่สนใจที่จะดู อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติว่าผมไม่ได้ร่ำรวยขึ้นอย่างที่เป็นอยู่และก็ยังคงต้องทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ RMF และ LTF ที่ผมถืออยู่ในวันนี้มันจะมีความหมายแค่ไหน? มันจะพอให้ผมใช้ในยามเกษียณจริง ๆ ที่ไม่มีรายได้ไหม? นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดและจะเขียนในวันนี้

จากสถิติการลงทุนของผมที่ถูกบันทึกไว้ในสมุดบัญชีกองทุน ผมเริ่มลงทุนใน RMF ตั้งแต่เริ่มมีกองทุนนี้ในประเทศไทยในปี 2545 วันที่ผมเริ่มลงทุนนั้นเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเงียบเหงามากอานิสงค์จากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 350 จุด แต่นั่นสำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว มันคือ “ฤกษ์” ที่ดีที่สุด เพราะในปีต่อมา ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นถึง 117% ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นปีที่ตลาดให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

หลังจากนั้นผมก็ลงทุนใน RMF ทุกปี จนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปี เงินที่ผมลงทุนคิดรวมกันเท่ากับ 2,680,000 บาท แต่สินทรัพย์สุทธิหรือเม็ดเงินที่อยู่ในกองทุนที่ผมจะถอนออกมาใช้ได้คือ 6,557,545 บาท หรือมีเงินเพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านบาท ผลตอบแทนที่กองทุนทำได้ตามที่รายงานโดยผู้จัดการกองทุนคือประมาณปีละ 14.4% แบบทบต้น เงินก้อนแรกที่ผมลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 8 เท่าตัว ตรงกันข้าม ถ้าผมเก็บเงินทั้งหมดฝากธนาคารทุกปีด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเงินของผมอาจจะเพิ่มขึ้นมาเป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท

ผมเริ่มลงทุนในกองทุน LTF ตั้งแต่เริ่มต้นโดยรัฐบาลเช่นกันในปี 2547 หรือ 2 ปีหลังจากการลงทุนใน RMF และก็เป็นปีสุดท้ายที่ผมทำงานกินเงินเดือน การลงทุนของผมหลังจากนั้นก็จะเป็นการลงทุน “คู่กัน” หรือลงทุนเท่ากันและพร้อมกันกับการลงทุนใน RMF ทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปี เงินลงทุนทั้งหมดของ LTF คือ 2,180,000 บาท แต่ตัวเลขสินทรัพย์สุทธิในกองทุนก็คือ 4,277,075 บาท ผลตอบแทนที่กองทุนทำได้ในช่วง 14 ปีคือ 10.2% ต่อปีแบบทบต้น เงินก้อนแรกที่ลงไปน่าจะโตขึ้นมาเป็น 4 เท่าตัว ผมคิดว่าผลตอบแทนต่อปีที่ต่ำลงของกองทุน LTF เมื่อเทียบกับ RMF มากทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งห่างกันเพียง 2-3 ปี นั้น น่าจะมาจากการที่กองทุน RMF ได้รับประโยชน์จากตลาดหุ้นที่บูมมากในปี 2546 อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนทบต้นในระดับ 10% ต่อปีแบบทบต้นเป็นเวลานานถึง 14 ปีก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากมากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ลงทุนเองหรือมีความสามารถในการลงทุนเป็นพิเศษ

โดยรวมแล้ว ผมเองลงทุนทั้งใน RMF และ LTF เป็นเงิน 4,860,000 บาท ในช่วงเวลา 16 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 300,000 บาทเศษ ๆ หรือเดือนละประมาณ 25,000 บาท และเริ่มตอนที่ผมอายุประมาณ 50 ปี จนถึงขณะนี้ผมก็มีเงินสะสมที่สามารถนำมาใช้ได้จำนวนประมาณ 10.8 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ถ้าผมนำไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นและสามารถได้ผลตอบแทนปีละ 10% ปีหนึ่งผมก็จะมีกำไรหรือรายได้ ประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ๆ หรือเดือนละประมาณ 90,000 บาท ซึ่งก็เป็นรายได้ที่น่าจะทำให้ผมสามารถอยู่ได้อย่างสุขสบายถ้าหากผมไม่ได้มีเงินจากแหล่งอื่นเลย ว่าที่จริง รายได้จากการทำงานในทุกวันนี้ของผมก็อยู่ประมาณเท่า ๆ กันนั่นแหละ

ประสบการณ์ของการลงทุนใน RMF และ LTF ของผมนั้น ผมคิดว่าไม่มีอะไรพิเศษและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนอื่น ๆ ที่มีการศึกษาและพื้นฐานใกล้เคียงกัน คนที่มีอายุ 50 ปีและมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ได้มากหรือน้อย การกันเงิน 30% หรือปีละ 300,000 บาท ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนักโดยเฉพาะเมื่อลูก ๆ เติบโตทำงานได้แล้วรวมถึงภาระผ่อนบ้านหรืออื่น ๆ ถ้ามีก็น่าจะหมดลง สิ่งที่ต้องตัดสินใจก็คือ การเลือกที่จะลงทุนในหุ้นให้สูงที่สุดและการมีวินัยที่จะต้องลงทุนทุกปีหรือทุกเดือนและไม่นำเงินออกไปใช้ก่อนเกษียณ ทั้งหมดนั้นต้องอาศัยศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว ที่จริงผมเองสามารถที่จะถอนหรือขายหน่วยลงทุนทั้ง RMF และ LTF ได้ทั้งหมดตั้งแต่อายุ 55 ปีแล้วแต่ผมก็ไม่ได้ทำและยังลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ จนเกิน 60 ปี ผมคิดว่าตราบใดที่ผมยังมีรายได้ผมก็จะไม่ใช้เงิน “เพื่อการเกษียณ” นี่ก็เป็น “วินัย” อีกข้อหนึ่งที่ควรยึดถืออย่างเคร่งครัด

แน่นอน อนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนใน LTF และ RMF ของผมในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอีก 16 ปีข้างหน้า บางทีมันอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในตลาดหุ้นไทยแต่มันก็อาจจะเกิดในตลาดของประเทศอื่นก็ได้ ไม่มีใครรู้ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงเสมอ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สอนเราว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นเองกลับมีความเสี่ยงน้อยลงและโอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตราสารการเงินอื่นนั้นมีน้อยมาก ๆ ดังนั้น ถึงวันนี้ผมเองก็ยังคิดว่าคนกินเงินเดือนหรือคนมีรายได้จากการทำงานและอายุไม่เกิน 50 ปีนั้น ควรที่จะต้องลงทุนในหุ้นไม่ว่าจะผ่านเครื่องมืออะไรในอัตราส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าสามารถลงทุนเป็นเงินถึง 30% ของรายได้แล้วละก็ อนาคตการเงินหลังเกษียณก็น่าจะสดใสและไม่เป็นภาระกับใครเลย

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/

iran-israel-war