Bitcoin = Digital Gold

การซื้อบิทคอยน์จำนวน 1.5 พันล้านเหรียญและการประกาศว่าเทสลาจะรับบิทคอยน์เป็นค่าซื้อรถเทสลาของ อีลอน มัสก์ เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ต้องถือว่าเป็น  “ข่าวใหญ่” ในแวดวงธุรกิจ การเงินและการลงทุน  หลังจากที่ข่าวออกไปในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 64 ราคาบิทคอยน์ก็ปรับตัวขึ้นถึง 19% เป็นประมาณ 1.4 ล้านบาทไทยและสูงที่สุดในประวัติศาสตร์  ทำให้มูลค่าทั้งหมดหรือ Market Cap. ของบิทคอยน์เท่ากับประมาณ 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 26 ล้านล้านบาทไทย  แน่นอนว่า “อิทธิพล” ของมัสก์  ได้ช่วยขับเคลื่อนราคาของบิทคอยน์ขึ้นไปมาก  คนคงจะเชื่อมั่นในตัวมัสก์ว่ามองอะไรไม่ผิด  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นเทสลาของเขาก็มีการปรับตัวขึ้นมามโหฬารในช่วงเร็ว ๆ  นี้จนมีมูลค่าประมาณ 8.2 แสนล้านดอลลาร์ใกล้เคียงกับมูลค่าของบิทคอยน์  ยิ่งไปกว่านั้น  ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา  หุ้นเทสลาปรับตัวขึ้นมาประมาณ 5.6 เท่า  ในขณะที่บิทคอยน์ก็ขึ้นมาประมาณ 4.6 เท่า ใกล้เคียงกัน

ถ้ามองทางด้านของ “พื้นฐาน” หรือเหตุผลที่ทั้งสองหลักทรัพย์หรือตราสารมีคล้าย ๆ  กันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เทสลานั้นขายความเป็น  “โลกแห่งอนาคต” ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้คนขับที่จะ “ปฏิวัติ” รถยนต์ดั้งเดิมของโลก  ในขณะที่บิทคอยน์เองนั้นก็จะเป็น  “โลกแห่งอนาคต” ของ “เงิน” ที่จะใช้กันทั่วโลกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า  ดังนั้น  ราคาที่ขึ้นมาแรงและเร็วมากจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า  เทสลาจะยิ่งใหญ่มากในโลกของรถยนต์  ในขณะที่บิทคอยน์ก็จะยิ่งใหญ่มากในโลกของเงินที่เรียกว่า “Cryptocurrency” ที่วันหนึ่งคนจะใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันทั่วโลกแทนระบบเงินตราปัจจุบันที่เป็นดอลลาร์  หยวน หรือบาทและอื่น ๆ  ที่เป็นเงินของแต่ละประเทศที่ใช้กันมานาน

ผมเองไม่อยากที่จะพูดถึงข้อโต้เถียงที่ว่า  การปรับตัวขึ้นของทั้งเทสลาและบิทคอยน์นั้นเป็นเรื่องของการเก็งกำไรและ/หรือปั่นหุ้นจากนักเก็งกำไรที่กำลังคึกคักกันทั่วโลกอานิสงค์จากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจาก QE ที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เนื่องจากมีคนพูดกันมากแล้ว  แต่อยากจะมี Comment หรือการวิจารณ์ถึงเหตุผลที่พูดกันว่าบิทคอยน์กำลังโตขึ้นเพราะวันหนึ่งมันจะเป็น “เงินเข้าระหัด” ที่คนทั่วโลกจะใช้กัน

เป็นความจริงว่าบิทคอยน์นั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะเป็น “เงิน” ที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสะดวกและต้นทุนต่ำ  แถมเงินนี้จะไม่เฟ้อเหมือนเงิน “กระดาษ” ที่นักวิชาการเรียกว่าเงิน Fiat เช่น เงินดอลลาร์หรือเงินของประเทศทั้งหลายในโลก  เนื่องจากมันจะไม่มีการเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจของรัฐบาลที่มักจะ “พิมพ์” เงิน Fiat เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่กำลังทำกันอยู่มากมายในช่วงนี้  ดังนั้น  ในอนาคต  คนจะหันมาใช้เงินบิทคอยน์แทนและจะทำมากขึ้นเรื่อย ๆ  และจะ Disrupt เงิน Fiat ในที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันหลังจากที่บิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นและมีการซื้อขายกันในตลาดเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว กลับปรากฏว่ามีคนที่ใช้บิทคอยน์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าน้อยมาก  เหตุผลนั้นก็ชัดเจนว่า  ข้อแรก  มีคนขายสินค้าที่รับเงินบิทคอยน์น้อยมาก  เช่นเดียวกับคนที่มีบิทคอยน์ที่จะนำมาซื้อสินค้าก็มีน้อยมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คนทั่วไปที่ทำงานกินเงินเดือนที่จะทำให้มีเงินนั้น  ต่างก็รับเป็นเงิน Fiat  คงมีแต่คนที่เล่นหรือลงทุนในบิทคอยน์เท่านั้นที่จะมีเงินนี้  ประการที่สองก็คือ เรื่องของ “ต้นทุน” ที่ต้องใช้ในการโอนหรือแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลหนึ่งมาอีกสกุลหนึ่งที่มักจะค่อนข้างสูง  ตัวอย่างเช่น การโอนจากเงินบาทไปเป็นเงินเยนหรือเงินด่อง  มักจะมีค่าธรรมเนียมและอัตราส่วนต่างซื้อขายที่ค่อนข้างสูง  บางทีก็ต้องโอนสองต่อคือเป็นดอลลาร์ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง  การใช้บิทคอยน์อาจจะสามารถลดตรงส่วนนี้ได้  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่านี่ยังเป็น “อนาคต” เท่านั้น  เพราะ ณ ขณะนี้  ผมคิดว่าการใช้บิทคอยน์ทำธุรกรรมส่วนนี้น่าจะยังมีต้นทุนและความเสี่ยงสูงเกินไป  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ระบบต่าง ๆ  เช่นระบบกระเป๋าเงินและการจ่ายเงินทางอิเลคโทรนิคส์ที่มีการคิดค้นขึ้นก็สามารถช่วยลดต้นทุนของการโอนและแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ  ลงมากจนอาจจะทำให้การใช้บิทคอยน์ไม่จำเป็นแม้แต่ในอนาคต

ประการสุดท้ายที่ทำให้บิทคอยน์ไม่เป็นที่ยอมรับในการซื้อขายสินค้าหรือบริการก็คือ  ความผันผวนของราคาบิทคอยน์ที่เกิดขึ้นอย่างแรงในชั่วเสี้ยววินาที  นี่ทำให้คนขายและซื้อต่างก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก  เพราะเวลาตกลงราคาหนึ่งแต่ในช่วงจ่ายเงินซึ่งอาจจะห่างกันเพียงไม่กี่นาทีกลายเป็นอีกราคาหนึ่งที่คิดจากฐานของเงิน Fiat ที่ทั้งคู่ใช้อ้างอิงที่แตกต่างกันมาก  กำไรหรือขาดทุนที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหรือความพึงพอใจของคนซื้อและขายก็อาจจะเกิดขึ้น  และนั่นก็จะทำให้การซื้อขายสินค้าด้วยบิทคอยน์ไม่ประสบความสำเร็จ  การที่เทสลาบอกว่าจะยอมรับเงินบิทคอยน์จากคนที่มาซื้อรถนั้น  ก็คงเป็นแค่  “กิมมิก” เพื่อโปรโมตบิทคอยน์มากกว่า  คนที่บอกว่าบิทคอยน์จะได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างรวดเร็วคล้าย ๆ  กับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือแทนโทรศัพท์บ้านหรือคนที่ใช้เฟซบุคที่เพิ่มขึ้นเป็นล้านล้านคนนั้นผมคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นกับบิทคอยน์  เพราะในกรณีแรกนั้น  โทรศัพท์มือถือดีกว่าโทรศัพท์บ้านทุกอย่าง  ส่วนเฟซบุคนั้นก็ดีกว่าสื่ออื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น  แต่ในกรณีของบิทคอยน์นั้น  มันกำลังต่อสู้อยู่กับเงิน Fiat ที่พัฒนาด้วยดิจิตอลเหมือนกัน  ทำให้มันไม่สามารถเอาชนะได้ในด้านของการใช้เงินเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าได้

ถ้าเช่นนั้น  บิทคอยน์ในสถานะที่เป็นอยู่นี้คืออะไร?  ผมเองลองคิดดูแล้วก็รู้สึกว่ามันน่าจะคล้าย “ทอง” มากที่สุด  จะเรียกว่า “ทองเสมือน” ก็น่าจะได้  หรือถ้าพูดแบบสากลหน่อยก็อาจจะเรียกว่าเป็น  “Digital Gold”  หรือเป็นทองที่สร้างขึ้นจากดิจิตอล  นั่นก็คือ  เอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นบล็อกเชนมาเขียนหรือออกแบบให้มีคุณสมบัติคล้าย ๆ  ทองคำ  นั่นก็คือ  มันมีจำนวนที่กำหนดตายตัวและไม่สามารถสร้างหรือ “ขุด” เพิ่มขึ้นมาง่าย ๆ  การขุดต้องใช้เงินหรือทรัพยากรมาก  นอกเหนือจากนั้นก็คือ มันต้องมีความน่าเชื่อถือว่ามัน “มีค่า” สามารถทำให้คนยอมรับ  ซึ่งอย่างในกรณีของทองคำนั้น  ปริมาณที่ค้นพบและขุดขึ้นมาแล้วในโลกมีรวมกันคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 244,000 ตัน หรือคิดเป็นปริมาตรเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกประมาณ 3 สระเท่านั้น  แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบันที่ 58.2 ล้านเหรียญต่อตันก็เท่ากับประมาณ 14.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  ในส่วนของความน่าเชื่อถือนั้น  ทองคำได้รับความน่าเชื่อถือว่ามีคุณค่าหรือมูลค่ามากทั้ง ๆ  ที่ในความเป็นจริงมันก็คือโลหะชนิดหนึ่งซึ่งเอาไปทำอะไรไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราว  หรือถึงทำได้มันก็มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะทำอะไรในโลกนี้  ซึ่งก็จะคล้าย ๆ  กับบิทคอยน์ที่ไม่มีอะไรจับต้องได้  มีแต่ตัวเลข

แต่บิทคอยน์เป็นตัวเลขที่ถูก “ล็อค” เอาไว้ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ ในขณะที่จำนวนบิทคอยน์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18.5 ล้านบิทคอยน์  ดังนั้น  จึงเหลือบิทคอยน์อีกเพียง 2.5 ล้านบิทคอยน์ที่จะค่อย ๆ ถูก “ขุด” ขึ้นมา  ซึ่งก็ต้องใช้ต้นทุนและพลังงานจำนวนมากเหมือนการขุดทองคำ  ถ้าคิดราคาของบิทคอยน์ในปัจจุบันที่ราคาประมาณบิทคอยน์ละ 47,000 ดอลลาร์ก็จะเป็นมูลค่าตลาดของบิทคอยน์ทั้งหมดที่ประมาณ  870,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับประมาณ 6% ของมูลค่าทองคำทั้งโลก  ในส่วนของความน่าเชื่อถือว่าเป็น “สินทรัพย์” ที่มีค่านั้น  ผมคิดว่ามันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ  อานิสงส์ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้นำโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางธุรกิจอย่างอีลอน มัสก์เข้ามาสนับสนุนโดยการ “ถือบิทคอยน์” เป็น  “เงินสำรอง” แทนที่จะถือเงินดอลลาร์ที่ความน่าเชื่อถืออาจจะกำลังลดลงเนื่องจากมีการพิมพ์แบ้งค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าเขากำลังเข้ามา “เก็งกำไร” และมองบิทคอยน์คล้าย ๆ กับทองที่ราคาวิ่งขึ้นลงได้ตามความต้องการหรือ Demand ที่เพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนบิทคอยน์ที่มีหรือ Supply มีจำกัด

ประเด็นว่าราคาบิทคอยน์ตอนนี้สูงเกินไปหรือยังในระยะยาวนั้น  คงต้องดูว่าความต้องการที่จะสำรองบิทคอยน์โดยคนที่มีเงินมหาศาล เช่น บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งอาจจะรวมถึงรัฐบาลในอนาคตจะต้องการนำบิทคอยน์มา “สำรอง” คล้าย ๆ  ทองคำหรือไม่?   ซึ่งก็น่าจะอยู่ที่ความ “น่าเชื่อถือ ของบิทคอยน์ในอนาคต  ทองคำนั้น  อยู่กับโลกและได้รับความน่าเชื่อถือมากว่า 6,000 ปีแล้ว  แต่บิทคอยน์เพิ่งจะเกิดไม่กี่ปี  มันจะ Disrupt หรือทำลายทองคำหรือไม่?  ถ้าใช่ มูลค่าก็คงมหาศาลกว่านี้  ถ้าไม่ใช่  ซึ่งอาจจะมาจากประเด็นสารพัด เช่น  ปัญหาการถูกแฮ็กและที่อาจจะสำคัญยิงกว่าก็คือ  รัฐบาลทั้งหลายอาจจะ “ไม่ยอมรับ ราคาของบิทคอยน์ก็น่าจะสูงเกินไปและอาจจะ “ถล่ม ลงมาได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  “เงินคริปโต” ตัวอื่นที่ทำได้แบบบิทคอยน์ก็มีมากมายแม้ว่าจะยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเท่า  ยิ่งไปกว่านั้น  ในวันหนึ่งรัฐบาลหลาย ๆ  แห่งในโลกก็อาจจะออกคอยน์ของตนเองขึ้นมาแข่งกับบิทคอยน์ก็ได้  และถ้าเป็นอย่างนั้น  บิทคอยน์ก็อาจจะลดความสำคัญลงไปมากแม้แต่จะเทียบกับทองคำที่เป็น “ของจริง” เสมอ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/02/15/2463