อวสานของโควิด19-อนาคตของประเทศไทย

ในวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564- ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด  ประเทศไทยก็จะเริ่มมีการ “ระดมฉีด” วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศและจะทำต่อเนื่องจนคนทั้งประเทศมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่จะป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงจนกลายเป็น “วิกฤติ” ตั้งแต่ต้นปี 2563   ตามแผนการที่กำหนด  คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าก็น่าจะภายในกลางปีหน้า  กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเดินทางจะกลับมาเป็นปกติ  และ GDP หรือ ผลผลิตมวลรวมของประเทศก็น่าจะกลับมามีขนาดเท่าเดิมก่อนเกิดโควิดภายใน 1 ปีหลังจากนั้น  หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ  โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทย  “หายไป” หรือหยุดนิ่งไปประมาณ 3 ปี  โดยที่การฟื้นตัวหลัก ๆ  จะเกิดขึ้นในปี 2565  โดยในวันสิ้นปี 2565 หรือกลางปี 2566  สภาพหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะใกล้เคียงกับวันสิ้นปี 2562 นั่นคือ

เราจะมีภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกสินค้า “ยุคเก่า” เช่นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและอุตสาหกรรมที่เป็น “เทคโนโลยีเก่า” ที่เน้นแรงงานเหมือนเดิม  มีภาคเกษตรกรรมที่อิงอยู่กับการใช้ที่ดิน  เครื่องจักร  และแรงงานของคนสูงอายุ ที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีดั้งเดิม  และเราก็จะยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว  “ยอดนิยม” ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนจำนวนประมาณ 40 ล้านคนซึ่งจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ต้องอยู่แต่ในประเทศของตนเองมานานอย่างน้อย 2-3 ปี  การเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าโลกจะ “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” นั้น  อาจจะไม่ใช่สำหรับประเทศไทยในวันสิ้นปี 2565  สามปีที่ผ่านไปนับจากวันเกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น  อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยในประเทศไทยยกเว้นพฤติกรรมบางอย่างเช่น  การซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นและการทำงานบางอย่างผ่านทางเครื่องมือสื่อสารที่จะอยู่กับเราต่อไปหลังจากโควิด-19

อนาคตของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566 จะไปทางไหน?  นี่เป็นคำถามสำคัญที่เราจะต้องตอบ  เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในวันนี้  ผมคิดว่าอนาคตของประเทศจะ “มืดมน” เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นั้น  กำลัง  “ล้าสมัย” อย่างรวดเร็ว  เอาแค่รถยนต์ใช้น้ำมันที่ทั่วโลกต่างก็จะเลิกใช้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านั้นก็อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของเรา “เซ” ไปได้แล้ว  ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรม “ไฮเท็ค” อย่างเครื่องมือสื่อสารหรืออิเล็คโทรนิคที่เราถูก “ผ่าน” ไปยังประเทศที่เป็นแหล่งลงทุนใหม่ ๆ  อย่างเวียตนามเพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ดูเหมือนจะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ

สินค้าด้านการเกษตรซึ่งเคยเป็น “กระดูกสันหลัง” ของไทยตั้งแต่ช่วงสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเองนั้น  สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันก็ดูไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักยกเว้นการใช้เครื่องทุ่นแรงที่มีการใช้เกือบเต็มเท่าที่ทำได้  อย่างไรก็ตาม  เรื่องสำคัญก็คือรูปแบบและแนวคิดในการทำงานดูเหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก  คนไทยก็ยังปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ด้วยที่ดินส่วนตัวหรือพื้นที่เช่าขนาดเล็กซึ่งก็มักจะไม่มี “Economies of Scale” หรือการประหยัดเนื่องจากขนาดซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  เกษตรกรขาดความรู้สมัยใหม่ทั้งทางด้านของตัวสินค้าและความรู้ในด้านของการผลิตยุคใหม่ที่เน้นในด้านของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถดูแลและควบคุมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ถึงวันนี้เราก็ยังเน้นการปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเช่นข้าวธรรมดาแทนที่จะเป็นแบบออร์แกนนิค  หรือเลี้ยงกุ้งในแบบเดิมที่นับวันจะแข่งขันไม่ค่อยได้กับประเทศที่กำลังพัฒนาขึ้นมาใหม่ ๆ

ในด้านของการท่องเที่ยวที่เป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ค่อนข้างใหม่ของไทยนั้น  ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นเราได้อานิสงส์มหาศาลจากประเทศจีนที่คนร่ำรวยขึ้นมากจนมีความสามารถและได้รับอนุญาตจากรัฐให้ออกมาเที่ยวต่างประเทศได้เต็มที่  นั่นประกอบกับการที่ประเทศไทยมีองค์ประกอบในการแข่งขันค่อนข้างดีมากทำให้การท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็น “กระดูกสันหลังอันใหม่”  ทางเศรษฐกิจของไทยอย่างรวดเร็ว  และเมื่อโควิด-19 ผ่านไป  ผมคิดว่าการท่องเที่ยวจากต่างชาติจะกลับมาอย่างรวดเร็ว  และเราจะต้องทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะสามารถรับ  “คลื่น” ของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นทันทีที่โลกและประเทศไทยพร้อมที่จะเดินทาง  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการพุ่งขึ้นของการท่องเที่ยวที่จะมาอย่างรุนแรงแล้ว  ประเทศไทยก็จะต้องคิดถึงความ “ยั่งยืน” ของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากต่างประเทศเพื่อที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปอีก  อาจจะเป็นสิบ ๆ ปี  เพราะนี่คือภาคเศรษฐกิจที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

การที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเศรษฐกิจของประเทศเพื่อที่จะทำให้ไทยมีการเติบโตของ GDP ต่อไปในอนาคตจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้นั้น  ผมคิดว่าเราไม่สามารถ “ทำแบบเดิม” ได้อีกต่อไปในสถานการณ์โลกปัจจุบัน  พูดง่าย ๆ  เราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ด้วยเทคโนโลยีและความคิดแบบเก่าแบบเดิมได้  และเราก็ไม่สามารถทำเพิ่มขึ้นได้โดยการเพิ่มกำลังคนเนื่องจากแรงงานของเราไม่เพิ่มแล้วและแถมแก่ตัวลง  วิธีที่เราจะทำได้ก็คือการคิดและทำใหม่  ในอดีตนั้น  ผมไม่เคยเชื่อว่ารัฐหรือรัฐบาลสามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้  การพัฒนาตลอดมาตั้งแต่ที่ผมเป็นเด็กนั้นส่วนใหญ่เกิดจากภาคเอกชน  ข้อดีของรัฐบาลในขณะนั้นก็คือ  ไม่ขวางการพัฒนาและเข้ามาสนับสนุนเอกชนซึ่งรวมถึงต่างชาติให้ทำธุรกิจตามความต้องการของ  “ตลาด”  รัฐอาจจะบอกว่าเรามี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” มาตลอดเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว  แต่ผมคิดว่าแต่ละแผนก็แค่ต่อเส้นกราฟออกไปจากของเดิม  ไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรที่เป็นของใหม่จริง ๆ

แต่สำหรับครั้งนี้ หลังวิกฤติโควิด-19 ผมคิดว่าถ้าจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้  เราจะต้องมาคิดกันอย่างจริงจังถึงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยว่าจะไปทางไหน  อย่าบอกว่าจะไปทุกทางเพราะนั่นเหมาะเฉพาะสำหรับประเทศที่ยังจนอยู่  ทุกอย่างยังเล็ก  หลายภาคส่วนเพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาหรือเริ่มโต  และนั่นก็คงคล้าย ๆ  กับสถานการณ์ที่เวียตนามที่คนมักถามว่าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนดี  ซึ่งผมก็มักจะบอกไปทุกครั้งว่าทุกเซคเตอร์ก็ยังโตหมด  ไม่มีกลุ่มไหนที่อิ่มตัว  แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว  เซคเตอร์ใหญ่ ๆ  ทั้งหมดดูเหมือนว่าจะอิ่มตัวแล้วในรูปแบบ “เศรษฐกิจเก่า”  การที่จะสร้างการเติบโตต่อไปได้  เราจะต้องรุกเข้าไปในบางจุด ไม่ใช่ทุกจุด  เพราะถ้าเราทำทุกจุดเท่า ๆ  กัน  ทรัพยากรจะไม่พอ  เราต้องเลือก  และเมื่อเลือกแล้ว  ก็ต้องทุ่มความคิดและทรัพยากรเข้าไป  การที่จะเดินหน้ารอบนี้ไม่ง่ายและผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีนักคิด  มีผู้นำ  มีการจัดเป็น “วาระแห่งชาติ”  โดยคนที่เข้ามาร่วมต้องมาจากทุกภาคส่วน  และแน่นอนต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง  ต้องมีพรรคและนักการเมืองที่จะทำ

ตัวอย่างของสิงคโปร์เป็นโมเดลที่น่าสนใจมากในแง่ที่ว่าเขาสามารถเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจเมืองท่า” ซึ่งจะเติบโตได้จำกัด  กลายเป็น “Financial Hub” หรือศูนย์กลางทางการเงินโลก  เปลี่ยนเป็นเมือง “ไฮเท็ค” ซึ่งจะเป็นแหล่ง Startup ที่สำคัญสำหรับคนย่านนี้  และสิ่งที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวก็คือ  คุณภาพของคนหรือการศึกษาที่จะมารองรับ  และนั่นก็ทำให้สิงคโปร์สร้างมหาวิทยาลัยชันนำของประเทศให้กลายเป็นมหาวิทยาลัย “ระดับโลก” ได้สำเร็จภายในเวลาไม่กี่สิบปี  สำหรับรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว  แม้แต่การพูดภาษาอังกฤษให้ได้สำเนียงที่ดีก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างประเทศให้เป็น Hub หรือศูนย์กลางของหลาย ๆ  สิ่งที่สำคัญของโลก

ถึงนาทีนี้  ผมเองก็ไม่ได้หวังว่าประเทศไทยจะสามารถทำอย่างที่กล่าวได้ยกเว้นว่าจะมี “ปาฏิหาริย์”  ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะทางการเมือง  เอาแค่เรื่องของงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีนั้นก็ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย  ดูเหมือนว่างบประมาณที่ได้ของแต่ละหน่วยงานจะขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้ากระทรวงหรือพรรคการเมืองเป็นหลักและก็ทำแบบ  “เทียบกับงบปีที่แล้ว มากกว่าที่จะดูว่างบนั้นจะสนับสนุนนโยบายหรือยุทธศาสตร์อะไรที่จะนำพาประเทศให้ก้าวหน้าไปในอนาคต  ดังนั้น  ผมเองต้องตั้งสมมติฐานว่าอนาคตของประเทศไทยนั้น  จนถึงสิ้นปี 2565 หรือกลางปี 2566 เราคงกลับมาที่เก่าได้  แต่หลังจากนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน  เวลาลงทุนผมก็จะคิดว่าตลาดหุ้นคงจะถึงจุดสูงสุดในวันใดวันหนึ่งก่อนหน้านั้น  คือดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจจะไปถึง 1,800 หรือ 2,000 จุด  แต่นั่นก็อาจจะเป็น  “ก๊อกสุดท้าย ถ้าไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อต่อสู้ใน “โลกยุคใหม่” ได้

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2021/06/07/2516