dr-niwes--food-for-the-masses01

การ “ปฏิวัติ” ของรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์นั้น ผมคิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของคนจำนวนมากทั้งที่เป็นผู้ผลิตและใช้รถยนต์ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จำนวนคนที่ใช้ในการผลิตรถยนต์จะลดลงมากเนื่องจากการผลิตรถไฟฟ้าใช้คนน้อยกว่ามาก เหตุผลก็เพราะแบตเตอรี่ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญมากและเป็นต้นทุนที่อาจจะสูงที่สุดนั้นคงใช้คนน้อยมาก เช่นเดียวกัน มันไม่ต้องมีชิ้นส่วนของเครื่องยนต์และที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์มากมายที่จะต้องทำ ทั้งหมดนั้นจะทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ซึ่งรวมถึงผู้ค้นหา ผลิตและจำหน่ายน้ำมันอยู่ในสถานการณ์ที่ “ลำบาก” ในด้านของผู้ใช้นั้น พวกเขาจะได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากรถไฟฟ้า ไล่ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายที่จะถูกลงมากเนื่องจากต้นทุนค่าพลังงานที่จะมาจากกระแสไฟฟ้าที่ถูกกว่าค่าน้ำมันมากและค่าซ่อมและดูแลรักษารถที่จะถูกลงเนื่องจากมันไม่ใคร่มีชิ้นส่วนที่จะต้องหล่อลื่นและสึกหรอเหมือนรถยนต์ มาถึงเรื่องของการ “ขับ” ที่จะ “ไม่ใช้คน” เมื่อการพัฒนาทางด้านของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ พร้อมที่จะรองรับ ซึ่งนั่นจะทำให้ “ต้นทุน” ในการเดินทางลดลงมหาศาล และสุดท้าย ค่าประกันภัยเกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนได้เองก็จะถูกลงเนื่องจากอุบัติเหตุก็จะลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน

นอกจากรถยนต์แล้ว ภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่พอ ๆ กันและตกเป็นเป้าหมายที่จะถูก ปฏิวัติ” โดยความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยี 4.0” ผมคิดว่าคืออาหาร เหตุผลก็เพราะว่าอาหารนั้นเป็นกิจกรรมที่กระจัดกระจายไปทั่วทุกสังคมและใช้คนมากมายโดยเฉพาะในการผลิตอาหารสำเร็จที่พร้อมจะรับประทาน การใช้ระบบอัตโนมัติยังทำได้ยากเนื่องจากคนต้องการกินอาหารที่สดและใหม่ทุก 4-5 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะ “แก้ปัญหา” เหล่านั้นก็ดำเนินมาตลอด การผลิตทางด้านวัตถุดิบที่เป็นอาหารสดนั้นมีความก้าวหน้ามากมายต่อเนื่องมานาน ความสามารถในการประมง การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการจัดเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมใช้ในการผลิตอาหารสำเร็จ ต่างก็มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนทำให้ต้นทุนนั้นลดลงมาจนถึงจุดเกือบจะต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสำเร็จก็ยังมีต้นทุนที่สูงและใช้คนจำนวนมาก ธุรกิจภัตตาคารนั้นยังต้องอาศัยคนจำนวนมากในการปรุงและบริการแม้ว่าธุรกิจ “อาหารจานด่วน” จะลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วอาหารก็ยังใช้คนมากอยู่ดี และสิ่งที่คนยังไม่ตระหนักที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ต้นทุน” ของคนที่ปรุงอาหารกินเองที่ต้องเสียเวลาและแรงงานในการทำ ซึ่ง “ต้นทุน” ส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตาม “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้นมาตลอด

เทคโนโลยีกับความสดใหม่

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิตและเก็บรักษารวมถึงการจัดจำหน่ายอาหารที่ “สดใหม่” พร้อมกินตลอดเวลานั้นกำลังก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง หลักฐานที่ผมเห็นนั้นรวมถึงการที่ได้เห็นโรงงานผลิตเกี๊ยวซ่าระบบอัตโนมัติในประเทศจีนที่แทบไม่ต้องใช้คนเลยและมีกำลังการผลิตมหาศาลที่มีคนโพสต์ในยูทูปเร็ว ๆ นี้ ผมคิดว่าต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตน่าจะต่ำกว่าการผลิตแบบเดิมมากและนี่จะเป็นตัวอย่างที่จะมีการสร้างโรงงานผลิตอาหารสำเร็จเมนูอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป แน่นอนว่าไม่ใช่อาหารทุกเมนูที่จะทำแบบนั้นได้เนื่องจากลักษณะของอาหารที่มีความหลากหลายมาก แต่มันก็ทำให้อาหารเหล่านั้นถูกลงเมื่อเทียบกับอาหารเมนูอื่นและนั่นทำให้อาหารที่ผลิตเป็นแมสเหล่านั้นขายได้ดีขึ้นและคนที่กินได้ประโยชน์ชัดเจนเช่นเดียวกับบริษัทที่ผลิตอาหารด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ที่จะทำกำไรได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับโรงงานเกี๊ยวซ่าแต่เป็นเรื่องของวัตถุดิบก็คือ “โรงงานเลี้ยงปู” ที่สิงคโปร์ที่มีคนโพสต์ในยูทูปเร็ว ๆ นี้ นี่คือการเลี้ยงปูที่มีราคาสูงใน “คอนโด” ที่เป็นห้องเล็ก ๆ ที่จะมีปูแต่ละตัวอาศัยอยู่ ปูเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในระบบที่มีการควบคุมทุกอย่างโดยเฉพาะอาหารที่จะใช้เลี้ยงปูอย่างมีประสิทธิภาพสูง และมีจำนวนที่แน่นอนสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้ใช้คนน้อยมากและเป็นคนที่ทำงานในสถานที่ที่น่าอภิรมย์เมื่อเทียบกับชาวประมงที่ต้องอยู่บนท้องทะเลเป็นเวลานาน

การเปลี่ยนแปลงในวิธีการผลิตอาหารไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบและอาหารสำเร็จน่าจะดำเนินไปเรื่อย ๆ ในอัตราเร่งในยุคปัจจุบัน เหตุผลก็เพราะว่าต้นทุนของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านั้นลดลงเรื่อย ๆ อานิสงค์ส่วนหนึ่งจากความก้าวหน้าด้านดิจิตอลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด นักคิดค้นที่ทำ “Startup” รวมถึงบริษัทที่พยายามเพิ่มผลกำไรโดยการคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและจำหน่ายอาหารให้กับผู้บริโภคจำนวนมากจะทำให้เกิดการ “ปฏิวัติเล็ก ๆ” เกิดขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะในประเทศไทยเองนั้นผมคิดว่าช่องทางน่าจะยังเปิดกว้างมากเนื่องจากสังคมไทยเองนั้นเราเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบด้านอาหารค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นผู้นำของโลกประเทศหนึ่ง กิจการที่ทำทางด้านนี้น่าจะมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์สูงในการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่จะลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพได้ไม่ยากนัก

ในด้านของการผลิตอาหารสำเร็จและการจัดจำหน่ายนั้น ในภาคของ “High End” หรืออาหารที่มีราคาแพงและบริโภคโดยคนที่มีรายได้สูงนั้น เราคงทำอะไรไม่ได้มากและไม่คุ้มที่จะทำเนื่องจากมียอดขายจำนวนน้อยและผู้บริโภคเองไม่ได้สนใจเรื่องของราคา แต่ในด้านของแมสหรือคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางและเป็นคนส่วนใหญ่นั้นผมคิดว่าความต้องการกำลังถึงจุดที่พร้อมจะรับกับการเปลี่ยนแปลงในวิธีการผลิตและการจำหน่ายแบบใหม่ ๆ มากขึ้นมาก เหตุผลก็เพราะว่า “ต้นทุน” ของการทำรูปแบบเดิมนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ต้นทุนและราคาของการผลิตและการจำหน่ายรูปแบบใหม่ต่ำลงเรื่อย ๆ

รูปแบบเดิมที่คนส่วนใหญ่ยังทำอาหารกินที่บ้าน หรือรูปแบบที่กินตามร้านอาหารขนาดเล็ก “แถวบ้าน” ซึ่งปรุงอาหารโดย “แม่ครัว” นั้น เมื่อสมาชิกของครอบครัวที่จะกินน้อยลงมากมักจะไม่เกิน 3-4 คน จำนวนมากนั้นเพียง 1- 2 คน จะเป็นอะไรที่ “ไม่คุ้ม” มากขึ้นทุกที เช่นเดียวกัน ร้านอาหาร “ตามสั่ง” เล็ก ๆ แถวบ้านเองนั้น ด้วยต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการซื้อวัตถุดิบจำนวนน้อยทำให้ต้นทุนรวมต่อหน่วยของอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับระบบการผลิตและจำหน่ายอาหารที่เป็นระบบ “อัตโนมัติ” และขายให้แก่คนจำนวนมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กิจการขนาดใหญ่มี Economies of Scale หรือมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับระบบการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารรูปแบบเก่า ดังนั้น ธุรกิจก็จะเฟื่องฟูขึ้นเนื่องจากสามารถดึงดูดคนให้หันมากินอาหารของตนแทนที่จะกินที่ร้านเล็ก ๆ หรือทำอาหารกินเองทุกวัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า “อาหารแพ็ค” จาก “โรงงาน” นั้นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นก็คือการที่อาหารเหล่านั้นมีราคาลดลงเหลือเพียงจานหรือกล่องละ 30-40 บาท ในขณะที่อาหารตามร้านแถวบ้านก็ขายในระดับใกล้เคียงกันและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก รวมถึงการที่อาหารแพ็คมีรสชาติและ “คุณภาพ” ที่ดีกว่าในด้านของความสะอาดถูกหลักอนามัยและก็ไม่ต่างในด้านของ “ความสด” มากนักในขณะที่สามารถกินในเวลาไหนก็ได้และ “เสิร์ฟ” ได้ทันที ทำให้อาหารเหล่านั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผมเองคิดว่านอกจากธุรกิจ “อาหารแพ็ค” แล้ว การผลิตและให้บริการอาหารแก่คนจำนวนมากด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพดีจะถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคนหรือบริษัทที่ทำสำเร็จก็จะมีกำไรที่ดีเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่จะได้ “ผลตอบแทน” ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเดิม และทั้งหมดนั้นก็คือสิ่งที่ผมจับตามอง โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนหรือกิจการที่สามารถฉกฉวยโอกาสที่จะเข้ามา “แก้ปัญหา” ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากในด้านของกิจกรรมการกินอาหารที่ต้องทำทุกวันวันละหลายเวลา และเมืองไทยเองนั้นยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอแต่พร้อมที่จะยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า

 ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/อาหารเพื่อมวลชน