ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์กับการลงทุน 

คนที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือแม้แต่ลงทุนในประเทศเองในปัจจุบันนั้น สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมขึ้นจากอดีตอย่างหนึ่งก็คือ ความเสี่ยงทางรัฐศาสตร์และการเมืองของประเทศหรือตลาดหุ้นที่เข้าไปลงทุนหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Geopolitical Risk ซึ่งตัวอย่างความเสี่ยงนี้มีมากมาย เช่น

  1. การที่การลงทุนของเราอาจจะถูกรัฐบาลของประเทศนั้นยึดเป็นของรัฐ  ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะถูกกล่าวหาว่าทำ “ผิดกฎหมาย” เช่น  การยึดสัมปทานการทำเหมืองแร่ในหลาย ๆ  ประเทศรวมถึงประเทศไทย หรืออาจจะเกิดเพราะบริษัทหรือเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่เป็นศัตรูหรือปฏิปักษ์กับรัฐบาลของประเทศนั้น  ตัวอย่างก็เช่น  การยึดเงินหรือทรัพย์สินของคนที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนปูตินในช่วงนี้ เป็นต้น
  2. การเกิดสงครามกลางเมืองและความรุนแรง  เช่น  การก่อการร้าย  การกบฏ  การประท้วงรุนแรงซึ่งนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของประเทศซึ่งส่งผลต่อราคาของหลักทรัพย์  ประเทศบางแห่ง เช่น ในตะวันออกกลางนั้นก็ทำให้ทรัพย์สินแทบจะหมดค่า  แม้แต่ในตลาดที่เจริญแล้วเช่นฮ่องกงในช่วงที่มีการประท้วงรุนแรงของคนรุ่นใหม่ต่อรัฐบาลจีนก็ทำให้ทรัพย์สินและหลักทรัพย์ถูกกระทบไม่ใช่น้อย
  3. การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในประเทศที่เข้าไปลงทุนในปัจจุบันก็มีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินมากขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะบ่อยครั้งประเทศก็ถูกแซงชั่นทำให้ไม่สามารถค้าขายกับโลกได้สะดวก  ตัวอย่างก็น่าจะรวมถึงเมียนมาร์หลังจากกองทัพทำรัฐประหารและปราบปรามการประท้วงรุนแรงรวมถึงการทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยซึ่งทำให้บริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์ก่อนหน้านั้นแทบจะต้องปิดธุรกิจอย่างสิ้นเชิง
  4. ความขัดแย้งระหว่างประเทศและนำไปสู่สงครามทั้งสงครามจริงและสงครามการค้าซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ตัวอย่างก็เช่น  สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน  เป็นต้น กรณีแบบนี้ธุรกิจก็มักจะประสบปัญหาหนักและราคาหลักทรัพย์ตกลงมารุนแรง

มองจาก “ภาพใหญ่” นั้น  โลกในช่วงเร็ว ๆ  นี้ดูเหมือนว่าจะเกิดความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นมากแม้ก่อนเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ดัชนี “Geopolitical Risk Index” หรือ GPR ของโลกเมื่อมองย้อนหลังไปกว่า 100 ปี คือตั้งแต่ปี 1900  นั้น  มีจุดสูงสุดที่สูงกว่าช่วงนี้ไม่กี่ครั้ง  ซึ่งนั่นรวมถึงเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และเหตุการณ์ช่วงการบุกอิรักของอเมริกา  เป็นต้น

คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนก็คือ  เกิดอะไรขึ้นกับโลก?  และเราควรจะกลัว  กังวล  หรือลดการลงทุนโดยเฉพาะในต่างประเทศที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงหรืออาจจะถูกผลกระทบรุนแรงหรือไม่?  ที่สำคัญจะวิเคราะห์อย่างไร? ถ้าจะพูดกันตรงประเด็นก็คือ  สงครามรัสเซียกับยูเครนนั้นเกิดเพราะอะไรและจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกจนทำให้การลงทุนย่ำแย่หนักแค่ไหน  นอกจากนั้น  มันมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามโลกไหม? และสุดท้าย  ความขัดแย้งนี้ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง?

ก่อนที่จะพูดเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ผมอยากจะมอง “ภาพใหญ่”ของ Geopolitics หรือความขัดแย้งระหว่างคนและประเทศต่าง ๆ  ของโลกเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้เข้าใจพื้นฐานว่าเกิดจากอะไร

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และก่อนหน้านั้น  ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ก่อให้เกิดสงครามนั้นมักจะเป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์” ที่จะได้รับจากการแย่งชิงทรัพยากร เช่น ที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ  เช่น ทองและสิ่งของมีค่าอย่างอื่น  โดยชนวนที่จุดให้เกิดสงครามมักจะมาจากตัวผู้นำรัฐหรือประเทศที่มีอีโก้สูงที่ต้องการขยายอาณาจักรของตนให้ยิ่งใหญ่รวมไปถึงเป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” ในกรณีที่มีการกระทบกระทั่งกันหรือมีการแข่งขันกันระหว่างรัฐ เป็นต้น

ในช่วงสงครามเย็นคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 จนถึงปี 1991 สงครามระหว่างชาติมักเป็นเรื่องของ “อุดมการณ์” ระหว่างฝ่าย “โลกเสรี” ที่นำโดยอเมริกากับ “สังคมนิยม” ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน โลกถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนพอ ๆ  กันและต่อสู้กันโดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายคอยสนับสนุนและบางครั้งผู้นำก็ลงมาเล่นเองเช่นในกรณีสงครามเกาหลีและเวียดนาม เป็นต้น  แต่ก็ไม่เคยรบกันตรง ๆ เพราะต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายโลกได้  อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฝ่ายสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยมีรัสเซียเป็นประเทศหลักที่เหลืออยู่ หลังจากนั้น ผู้คนและประเทศทั่วโลกแทบจะไม่มีใครเป็นสังคมนิยมแบบเดิมอีกยกเว้นเกาหลีเหนือและคิวบา

ตั้งแต่ปี 1991 ถึงปัจจุบัน  ความขัดแย้งและสงครามดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของปรัชญาความคิดในการปกครองของประเทศโดยเฉพาะในช่วงเร็ว ๆ  นี้  นั่นคือ มักเป็นความขัดแย้งระหว่างคนหรือประเทศที่ยึดความเป็น “ประชาธิปไตย” กับประเทศที่เป็น “เผด็จการ” ไม่ว่าจะเรียกชื่อประเทศว่าอย่างไร  ว่าที่จริง น่าจะเกือบทุกประเทศในโลกนี้ต่างก็อ้างว่าประเทศตนเองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันทั้งนั้น ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการนั้น เป็นเรื่องของแนวความคิดที่แตกต่างกันคนละขั้ว และวิธีที่จะดูว่าประเทศนั้นน่าจะเป็นอย่างไรจึงควรคำนึงถึงค่านิยมและความเชื่อของคนดังต่อไปนี้

ฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่และประเทศจะมีความเชื่อในเรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” หรือความเท่าเทียมของคนและเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นความสุขและไม่รบกวนสิทธิของคนอื่น  เวลาจะตัดสินอะไรในประเทศก็ต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นและตัดสินด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่  ถ้ามองในระดับประเทศก็จะพบว่าพวกเขาจะยึดหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ๆ  3-4 เรื่องนั่นก็คือ  “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” โดยที่เสรีภาพก็คือความเป็นอิสระที่จะ “พูด” หรือทำอะไรต่าง ๆ โดยไม่ถูกห้ามหรือลงโทษตราบที่ไม่ได้เป็นการให้ร้ายคนอื่นให้เสียหายหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน  เสมอภาคคือทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน  “ตามกฎหมาย” และภราดรภาพก็คือการมีความรักและเห็นอกเห็นใจกัน “ฉันพี่น้อง” คือต่างก็ให้เกียรติกัน  “ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร” หรือไม่มีใครเหนือกว่าใคร

ฝ่ายที่เป็นแนวเผด็จการหรือไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น  ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีแนวความคิดที่ว่าคนเกิดมา “ไม่เท่ากัน” บางคนมีพลังอำนาจบารมีเหนือคนอื่น  อาจจะเพราะเป็นผู้ชาย  เป็นคนเกิดในตระกูลสูง  เป็นคนผิวขาวที่มีความฉลาดและความสามารถเหนือคนผิวสีอื่น  เป็นต้น   ดังนั้น  คนบางคนจึงควรมีสิทธิมากกว่าคนอื่นหรือเป็นคนที่จะควบคุมคนอื่นเพื่อที่จะทำให้ประเทศหรือโลกสงบสุขเจริญก้าวหน้า  คนที่ด้อยกว่าควรจะเป็นผู้ตามหรือถูกบังคับให้ทำตาม  ทั้งโดยขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎหมายที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และประพฤติปฏิบัติตาม

มองในภาพใหญ่ระดับประเทศ  พวกเขาก็จะเน้นใน 3-4 เรื่องเช่นเดียวกันนั่นก็คือ  “ชาติ-ศาสนา-ผู้นำสูงสุด” โดยที่ในสังคมของเผด็จการ  บางแห่งก็เน้นในเรื่องของชาติเช่นการเป็น “ชาติที่ยิ่งใหญ่” อย่างรัสเซียในประวัติศาสตร์และช่วงเร็ว ๆ นี้  บางรัฐเช่นหลายแห่งในตะวันออกกลางอาจเน้นทางด้านศาสนาที่ต้องการให้มีเพียงหนึ่งเดียวและเป็นสิ่งสูงสุดที่ทุกคนยึดถือ  และสุดท้าย  แทบจะทุกสังคมเผด็จการมักจะต้องมี “ผู้นำสูงสุด” ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงและก้าวหน้าที่ทุกคนจะยอมรับและให้ “อำนาจและสิทธิพิเศษ” เหนือคนอื่น  และพวกเขามักจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานบางทีตลอดชีวิต  ตัวอย่างอาจจะรวมถึง  เกาหลีเหนือ  คิวบาและอีกหลายประเทศ

แน่นอนว่าความเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการนั้น  ไม่มีเส้นแบ่งเด็ดขาด  แต่เป็นเรื่องของ  ดีกรี” ว่ามากน้อยแค่ไหน  อเมริกาหรือประเทศยุโรปตะวันตกอาจจะถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากแต่ก็ไม่สมบูรณ์  รัสเซีย  ยุโรปตะวันออกหรือเอเชียที่กำลังพัฒนาอาจจะถือว่าเป็นเผด็จการแต่ก็น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน  โลกในช่วงหลัง ๆ นี้ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ฝ่ายเผด็จการก็ยังไม่ได้หมดไปและบางครั้งกลับเพิ่มขึ้น  ตัวอย่างเช่นกรณีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ได้รับเลือกและดูเหมือนว่าจะนำอเมริกา ถอยหลัง” จากประชาธิปไตยจนน่ากลัว

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/04/04/2656