ทางสายแคบ VI

คนจำนวนไม่น้อยรวมถึง Value Investor จำนวนมากถ้าถูกถามว่า Value Investment แตกต่างจากการลงทุนหุ้นแบบพื้นฐานอย่างไร? หรือ การวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทำกันทุกวันนี้แตกต่างจากการวิเคราะห์ของ VI อย่างไร? ผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะตอบไม่ได้หรือตอบไปคนละแนว หลายคนก็อาจจะงง เพราะดูไปแล้วหลักการทั้งสองอย่างก็คล้ายกันมากจนแยกไม่ออก ว่าที่จริงเบน เกรแฮมผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบ VI” นั้น ก็ได้รับการยอมรับเช่นกันว่าเป็น “คณบดี” หรือ “เจ้าสำนัก” ของ “โรงเรียนการวิเคราะห์หลักทรัพย์” เขาน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ช่วยก่อตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของอเมริกาซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาจนถึงวันนี้ โดยที่หลักการการวิเคราะห์ที่ถูกต้องนั้นได้รับการศึกษาและเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและมีหลักการและทฤษฎีเดียวไม่ได้มีการแยกว่านี่คือการวิเคราะห์แบบนักวิเคราะห์มืออาชีพหรือแบบ VI

ถ้าเช่นนั้น

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง VI กับนักลงทุน “มืออาชีพ”

โดยเฉพาะที่บริหารเงินกองทุนต่าง ๆ และใช้หลักการการวิเคราะห์และการลงทุนตาม “ตำรา” ที่ได้ร่ำเรียนและสอบผ่านมาตรฐานการจัดการการลงทุนระดับสากลเช่นได้ CFA (Chartered Financial Analyst) ระดับ 3 ที่เป็นเครื่อง “การันตี” ว่ามีความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นนักลงทุน “มืออาชีพ” ที่น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับคนลงทุนได้

ในความเห็นของผมนั้น ผมคิดว่า VI นั้นใช้หลักการมาตรฐานของการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุนเกือบทุกประการ ความจริง VI นั้นน่าจะเป็น “สไตล์” ของการลงทุนมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎีของมันเอง VI เป็น “แนวทางย่อย” ของการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบพื้นฐานที่เป็น “แนวทางใหญ่” ดังนั้นคนที่ได้ CFA Level 3 ซึ่งถือว่าจบการศึกษา “ขั้นสูงสุดของการลงทุน” จึงสามารถที่จะเรียนรู้การลงทุนแนว VI ได้ไม่ยาก สิ่งที่เขาจะต้องทำก็เพียงแต่ปรับวิธีการคิดและเลือกแนวทางที่ “แคบ” และอาจจะฝืนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่มักจะมี “อารมณ์” ที่เร่าร้อนและต้องการการกระทำที่เห็นผลการลงทุนในระยะสั้น แต่นี่กลับเป็นเรื่องที่ยากที่สุด!

ทางสายแคบ

“ทางสายแคบ” ที่เด่นชัดของการเป็น VI ก็คือ พวกเขาเน้นเลือกเฉพาะหุ้นที่มีราคาถูกหรือถูกมากเทียบกับ “มูลค่าพื้นฐาน” ที่คำนวณได้จาก “ศาสตร์” ของการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบพื้นฐาน ชาว VI นั้นมักจะมองถึง Margin of Safety หรือส่วนต่างระหว่างราคากับมูลค่าที่กว้างเวลาจะซื้อหุ้นลงทุน VI “ดั้งเดิม” นั้นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณภาพ” ของกิจการมากนัก อาจจะเพราะว่าหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพดี” นั้น มักจะไม่เคยถูกหรือไม่ค่อยถูก ดังนั้น เวลาต้องเลือกระหว่างของดีกับของถูก VI รุ่นเก่าแบบดั้งเดิมนั้นมักจะเลือกของถูก อย่างไรก็ตาม VI รุ่นหลัง ๆ ที่ “โดดเด่น” เช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้เปลี่ยนแนวความคิดนี้ไปแล้ว พวกเขาเองยังเน้นว่าหุ้นต้องไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับ “คุณภาพ” ของกิจการ โดยที่บางคนก็ยังเน้นเรื่องของราคามากกว่าเวลาพิจารณาเลือกหุ้นลงทุน ในขณะที่บางคนนั้นเน้นที่คุณภาพมากกว่า

ตัวอย่างของ VI กลุ่มแรกก็คือ พวกเขามักจะดูว่าธุรกิจต้องดูดีพอใช้ไม่ใช่ผู้นำแต่ก็ไม่ใช่ผู้แพ้ ความแน่นอนของผลประกอบการไม่สูงมากแต่ก็ไม่เลวเกินไป แต่ถ้าราคาหุ้นค่อนข้างถูกหรือถูกมาก เขาก็จะสนใจลงทุน เขาไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากแต่คุณภาพแย่แบบ VI ดั้งเดิม

VI อีกกลุ่มหนึ่งนั้นเน้นที่คุณภาพมากกว่าราคา พวกเขาสนใจเป็นพิเศษกับหุ้นที่มีคุณภาพสูงมากซึ่งมักจะเป็นกิจการที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันสูง บางคนก็ต้องการความได้เปรียบที่ยั่งยืนด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พวกเขาก็ยังต้องดูว่าราคาหุ้นนั้นไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับคุณภาพ พูดง่าย ๆ VI กลุ่มนี้เน้นเลือกหุ้นในกลุ่มคุณภาพดีซึ่งมักจะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรกมาก เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังดูอีกว่าราคาหุ้นที่เห็นนั้นต้องไม่แพงเกินไป ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่มีคุณภาพดีมากและอยู่ในเมกาเทรนด์อย่างเช่นโรงพยาบาล เขาอาจจะไม่ซื้อเนื่องจากค่า PE ของหุ้นที่อาจจะสูงเกินไปบางแห่งถึง 40-50 เท่าหรือมากกว่านั้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ หุ้นที่จะถูกเลือกลงทุนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เส้นทางการลงทุนก็จะเป็น VI สายที่แคบลงไปอีก

การวิเคราะห์ประมาณการณ์หาค่าตัวเลขของกิจการที่จะนำไปใช้คำนวณหามูลค่าหุ้นที่แท้จริงของหุ้นเองนั้น VI ก็มักจะ “เดินสายแคบ” พวกเขาเน้นว่าต้อง “อนุรักษ์นิยม” นั่นก็คือ โอกาสผิดพลาดในด้านที่แย่ลงควรจะต้องน้อย เช่น เวลาประมาณการรายได้และกำไรของบริษัท เขาจะไม่ตั้งสูงเกินกว่าแนวโน้มก่อนหน้านั้น เบน เกรแฮม เองถึงกับไม่คาดการณ์อนาคตเลย เขาบอกว่าอนาคตไม่แน่นอน เราควรใช้ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นแล้วมาคำนวณน่าจะดีกว่า ส่วนตัวผมเองนั้น ผมมักจะใช้ตัวเลขจริง อาจจะบวกการเติบโตบ้างถ้าผมมั่นใจสูงว่าบริษัทสามารถโตได้จริงแต่ก็มักจะไม่เกินแนวโน้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมจะไม่คาดการณ์อะไรที่โตกว่าปกติ ผมต้องการความแน่นอนว่าผมจะไม่พลาด

VI พันธุ์แท้

VI “พันธุ์แท้” จำนวนมากนั้นมักจะไม่คาดการณ์หรือประมาณการณ์อะไรถ้าไม่มีความมั่นใจสูงว่ามันจะเกิดขึ้น ผมเองไม่สนใจว่าใครจะประมาณการว่าเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไรไม่ต้องพูดถึงว่าดัชนีหุ้นจะไปที่จุดไหนในอนาคตระยะสั้น ๆ ข้างหน้า ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะถูกต้องนั้นมีพอ ๆ กับผิด ผมจะตั้งสมมุติฐานว่าตัวเลขเหล่านี้ก็จะ “เท่าเดิม” เท่าปีก่อน ในบางกรณีเช่นดัชนีหุ้นผมก็จะบวกเป็นเปอร์เซ็นต์ตามเทรนด์ระยะยาวที่เกิดขึ้นแล้วเช่น ดัชนีหุ้นบวก 7% ในปีหน้าเป็นต้น นี่ก็เป็น “ทางสายแคบ” เพราะมันจำกัดไม่ให้เรา “คาดเดา” ไปไกลแล้วทำให้เราคาดผิดในทางที่แย่ลง ทางสายแคบนี้อาจจะตัดโอกาสที่เราจะคาดการณ์ถึงความสดใสและตัดสินใจซื้อหุ้นในตลาดหรือหุ้นบางตัวที่อาจจะ “ดีมากจริง ๆ” ก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ VI เป็นทางสายแคบของการลงทุนแบบพื้นฐานก็คือ เรื่องของอารมณ์ที่มักจะไปมีผลต่อกลยุทธ์ของการลงทุน VI นั้นมักจะเลือกที่จะลงทุนยาวกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น ราคาหุ้นที่ผันผวนในระยะสั้น ๆ มักจะไม่ใช่จุดตัดสินใจที่จะขายหุ้นถ้าราคานั้นยังไม่เกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นที่ตกลงมากเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานโดยตรงก็ไม่ใช่จุดที่จะตัดสินใจขายหุ้น การซื้อและการขายหุ้นของ VI นั้นมักจะมาจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจมากกว่าราคาที่ผันผวนซึ่งถ้าไม่มากเกินไปแล้ว VI ก็มักจะไม่อยากทำอะไร ความคิดเรื่อง “หุ้นก็คือธุรกิจ” การวิเคราะห์ว่าจะซื้อหรือขายหุ้นนั้นสำหรับ VI เราก็เลือกจากมุมมองของธุรกิจเป็นหลัก การคิดและคาดการณ์จิตวิทยาการซื้อขายหุ้นของฝูงชนประกอบอย่างนักลงทุนกลุ่มอื่นนั้นมักจะไม่ใช่หนทางที่ VI เลือก นี่ก็เป็นทางสายแคบอีกสายหนึ่งของการลงทุน

VI พันธุ์แท้นั้น มักจะมีความคิดที่เป็น “อิสระ” มากกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น VI นั้นมักจะเป็นคนที่ “เปิดหูเปิดตา” มาก เขาอาจจะคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการลงทุนกับคนอื่นแต่เวลาสรุปและตัดสินใจเขามักจะตัดสินใจด้วยตนเอง VI บางคนนั้นก็เดินทาง “สายเปลี่ยว” มีโลกของตนเองและไม่ใคร่ปรึกษากับใครเลย

การเลือกทางสายแคบของ VI นั้น วัตถุประสงค์หรือข้อดีหลักก็คือ เราจะได้ไม่ผิดหรือมีโอกาสผิดน้อยลง ข้อเสียก็คือ โอกาสที่จะกำไรมาก ๆ ในหุ้นบางตัวก็อาจจะหายไป นี่ก็ตรงกับปรัชญาสำคัญของ VI ที่ว่า จง “อย่าขาดทุน” และผมขอเสริมว่า “แล้วกำไรก็จะดูแลตัวมันเอง” ในระยะยาวแล้ว โอกาสที่เราจะไม่ประสบความสำเร็จก็จะน้อยลงมาก ส่วนโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูงก็อาจจะไม่น้อยกว่าแนวทางสายกว้างอื่น ๆ

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/ทางสายแคบของ-vi/