หุ้นเปลี่ยนชีวิต
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทุกคนผมเชื่อว่าจะต้องเคยลงทุนในหุ้นบางตัวที่วงการนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเรียกว่าเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” นั่นก็คือหุ้นที่เขาลงทุนซื้อแล้ว ราคา หรือมูลค่าของหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากแบบ “มโหฬาร” บางทีเป็นหลาย ๆ  เท่าหรือถึง 10 เท่าในเวลาไม่นาน  อาจจะแค่ปีหรือสองปีหรือบางทีน้อยกว่านั้น  แล้วเขาก็ขายไปพร้อม ๆ  กับกำไรมหาศาล ไม่ใช่เพราะว่าเขาลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเขายังใช้มาร์จินหรือใช้บล็อกเทรดที่ขยายกำไรได้อีกเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัว หลังจากการขายหุ้นออกไป ชีวิตเขาก็เปลี่ยน จากนักลงทุนธรรมดาก็กลายเป็น “เศรษฐี”  หุ้นตัวนั้นก็กลายเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ของเขา

หลังจากนั้น หุ้นตัวนั้นก็ตกลงมาอย่างแรง บางทีกลับมาเท่าเดิมตอนที่เขาซื้อหรือต่ำกว่า  เพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนให้หุ้นขึ้นไปเช่นผลกำไรที่ดีเลิศและเรื่องราวในอนาคตที่สวยหรูไม่ได้ดำเนินต่อไปแต่กลับไปในทางตรงกันข้าม  กำไรของบริษัทที่เคยสูงหลุดโลกตกลงมามาก  บางทีกลายเป็นขาดทุน  อนาคตที่สวยหรูไม่เป็นไปตามที่คนเชื่อ

บางกรณีก็เกิดเหตุการณ์โกงหรือการหลอกลวงที่ปิดไว้ไม่อยู่อีกต่อไป  นักลงทุนขาดความมั่นใจขายหุ้นทิ้ง   ราคาหุ้นตกลงมาอย่างรุนแรงเกิน 70-80% กลายเป็น  “คอร์เนอร์แตก”  นักลงทุนจำนวนมากที่ขายหุ้นไม่ทัน  รวมถึงนักลงทุนที่ซื้อหุ้นไว้จำนวนมากและใช้มาร์จินแบบเดียวกับคนที่เป็นเศรษฐีไปแล้ว  ขาดทุนอย่างหนัก  บางคนชีวิตก็เปลี่ยนเหมือนกัน  แต่เปลี่ยนจากคน  “เคยรวย” เป็นคนธรรมดาหรือเป็นยาจก

ดังนั้น  “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” นั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหุ้นที่ดีมาก  หรือเป็นหุ้นที่ดีตลอดหรือแม้แต่ดียาวนาน  และก็เช่นเดียวกัน  หุ้นที่เปลี่ยนชีวิตของคนบางคนก็อาจจะเป็น “หุ้นหายนะ”

สำหรับคนอื่นและอาจจะเป็นคนจำนวนมากด้วยก็ได้ โดยเฉพาะถ้าหุ้นเปลี่ยนชีวิตตัวนั้นไม่ใช่เป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มีคุณสมบัติสำคัญก็คือ  เป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจ  มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่ยั่งยืน  มีกำไรที่ดีและเติบโตยาวนาน—เป็น 10 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย  และหุ้นถูกซื้อใน “ราคาถูก หรือยุติธรรม”

หุ้น “เปลี่ยนชีวิต” ที่เป็นหุ้นของกิจการที่ดีมากในทางธุรกิจและต่อมากลายเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น  ส่วนใหญ่มากก็มักจะไม่ได้เปลี่ยนชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปซื้อเลย  มันจะ “เปลี่ยนชีวิต” เฉพาะคนที่  “มีความเชื่ออย่างแรงกล้า” ในคุณสมบัติของหุ้นตัวนั้นว่ามันจะเป็น  “หุ้นซุปเปอร์สต็อก” และผลประกอบการจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอัตราที่ดีหรือดีมากต่อไปอีกเป็น 10 ปีเป็นอย่างน้อย

และเขาก็ทุ่มเงินจำนวนมากของเขาเข้าไปซื้อและถือไว้ยาวนาน  บ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วงที่พอร์ตการลงทุนยังไม่ใหญ่  เขาจะถือหุ้นตัวนั้นตัวเดียวถึงกว่า 50% ของพอร์ต  จากปกติที่เขามักจะมีการกระจายการถือครองหุ้นตัวหลัก ๆ อย่างน้อย 7-10 ตัว ขึ้นไป  เป็นต้น

หุ้นเปลี่ยนชีวิตแนวซุปเปอร์สต็อกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะไม่ได้เปลี่ยนชีวิตให้กับคนที่ลงทุนรวดเร็วขนาดแค่ภายใน 2-3 ปี  แต่มักจะใช้เวลาอาจจะ 4-5 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย  เพราะหุ้นเหล่านั้นเป็นแนว “หุ้นพื้นฐาน” ที่มักจะทำธุรกิจที่สม่ำเสมอและมั่นคงซึ่งก็มักจะส่งผลให้รายได้และกำไรค่อย ๆ เติบโตไปปีแล้วปีเล่าในอัตราที่ค่อนข้างสูงประเภทเฉลี่ยปีละ 15-20% เป็นต้น

และในระหว่างนั้น ก็มักจะมีปีที่แย่เพราะเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจแย่กว่าปกติ  และปีที่ดีพิเศษที่บริษัทจะโตเร็วกว่าปกติขึ้นไปอีก เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ลงทุนแล้วกลายเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ก็จะไม่ขายหุ้นทิ้งจนถึงวันหนึ่ง เขาก็จะกลายเป็นเศรษฐีเพราะถือหุ้นตัวนั้น

ในช่วงหลัง ๆ และในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ที่มาแรงมากและสามารถเปลี่ยนชีวิตได้อย่างรวดเร็วก็คือ “หุ้นดิจิทัล-ไฮเทค ที่ประสบความสำเร็จ” ที่สามารถและกำลัง “เปลี่ยนโลก” ซึ่งอาจจะรวมถึงหุ้นอย่างเทสลาที่เป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หุ้น NVIDIA ที่เป็นผู้นำทางด้าน AI เป็นต้น

แต่นั่นก็เช่นกัน การเข้าไปซื้อหุ้นลงทุนในหุ้นดิจิทัล-ไฮเทคที่ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ทำให้เป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” เหตุผลสำคัญก็คือ หุ้นเหล่านั้นมักจะมีราคาสูงมากและอาจจะเกินพื้นฐานไปแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ราคาหุ้นขึ้นมาเป็นสิบๆ เท่าหรือมากกว่านั้นในเวลาไม่นาน อาจจะแค่ 2-3 ปี ซึ่งคนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนก่อนหน้านั้นด้วยเม็ดเงินจำนวนมากและอาจจะมากกว่า 50% ของพอร์ต และถือไว้จนถึงวันนี้ก็อาจจะเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” แต่คนที่เข้าไปซื้อหลังจากนั้นและในราคาที่สูงลิ่วแล้วด้วยเงินจำนวนมาก เขาก็จะไม่ได้อะไรเลย และไม่แน่ว่าถ้าถือต่อไปหุ้นก็อาจจะลงมาหนักและขาดทุนได้

มาดูตัวอย่างของการลงทุนใน “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ของวอร์เรน บัฟเฟตต์  ซึ่งผมวิเคราะห์เองว่าเป็นหุ้นตัวไหน ในความเป็นจริงตัวบัฟเฟตต์จะบอกได้ดีว่าเขาคิดว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น “เปลี่ยนชีวิต” เขา  บางทีเขาอาจจะบอกว่าเป็นหุ้นขายช็อกโกแล็ตซีแคนดี้ที่เป็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ในพอร์ตของเขาในวันนี้ แต่ตอนที่ซื้อเมื่อหลายสิบปีก่อน ช่วงที่พอร์ตยังไม่ใหญ่และเขาไม่ได้มีชื่อเสียงขนาดนี้  ซีแคนดี้อาจจะเป็นตัวที่ “เปลี่ยนชีวิต” ก็เป็นได้

ผมคิดว่าหุ้นที่เป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิตของบัฟเฟตต์ตัวแรกก็คือ หุ้นอเมริกันเอ็กซเพรสหรือ AMEX บริษัทบัตรเครดิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยที่เทคโนโลยีทางการเงินยังไม่แพร่หลายในโลกเมื่อหลายสิบปีก่อน ในวันที่บัฟเฟตต์ซื้อ AMEX มีปัญหาฉาวโฉ่ เกิดการโกงขึ้นในธุรกิจทางการเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวกับบัตรเครดิต ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนัก บัฟเฟตต์คงเห็นว่าธุรกิจบัตรเครดิตนั้นยังปกติและยิ่งใหญ่เหมือนเดิมและจะเติบโตต่อไปอีกมาก เรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” แน่นอน เพราะราคาหุ้นที่ลงมาถูกมาก และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดครั้งเดียวและแก้ไขได้

มีเรื่องเล่าว่าบัฟเฟตต์ต้องออกไปสำรวจว่าร้านค้าและลูกค้ายังใช้บัตรของเอเม็กหรือเปล่า คำตอบคือ ทุกอย่างปกติ  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ทุ่มซื้อหุ้นเอเม็กจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  และกล้าใช้เงินลงทุนที่คิดแล้วสูงมากเป็นแนว “ตีแตก”  ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ในช่วงหนึ่งมูลค่าหุ้นขึ้นไปถึง 50% ของพอร์ตซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนผู้ระมัดระวังพึงต้องหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาไม่นาน เอเม็กก็ให้ผลตอบแทนที่สูงมากและน่าจะทำให้ขนาดและความมั่งคั่งของพอร์ตของบัฟเฟตต์เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

หุ้น “เปลี่ยนชีวิต” อีกตัวหนึ่งของบัฟเฟตต์นั้น ผมอยากจะเชื่อว่ามันคือหุ้น “แอปเปิล” ซึ่งบัฟเฟตต์เพิ่งเข้าไปซื้อลงทุนเมื่อไม่นานไม่กี่ปีมานี้เอง และจนถึงวันนี้ เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัท ที่กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นที่สูงที่สุดในโลก ประเด็นสำคัญก็คือ บัฟเฟตต์ทุ่มเงินเข้าไปซื้อหุ้นมโหฬารและรวมกับการที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามหาศาลในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้ทำให้หุ้นแอปเปิลมีมูลค่าสูงถึงกว่า 50% ของพอร์ตหุ้นของบัฟเฟตต์ และนั่นก็มีส่วนทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่ตกต่ำลงมากก่อนหน้านี้เมื่อเทียบกับตลาด  กลับมาเป็นเท่ากับหรือดีกว่าตลาดได้  และนั่นก็จะทำให้บัฟเฟตต์ยังเป็น  “ตำนานนักลงทุน” ที่ไม่ตกเลยแม้ในยุคใหม่ที่บริษัทเทคกำลังครองเมือง

ส่วนตัวผมเองนั้น หุ้นเปลี่ยนชีวิตของผมเกิดขึ้นน่าจะประมาณสิบกว่าปีมาแล้วที่ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันจากร้านค้าดั้งเดิมเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ อานิสงค์จากการที่ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นถึงจุดที่ต้องการความสะดวกและบริการที่ดี ว่าที่จริง ร้านค้าเกือบทุกประเภทก็กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นแบบสมัยใหม่ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าอีกเป็น 10 ขึ้นไปมันจะต้องโตไปเรื่อย ๆ และถ้าเราพบว่าร้านเครือข่ายไหนจะเป็น “ผู้ชนะ” บริษัทนั้นจะต้องรุ่งเรืองไปยาวนานและผลกำไรจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญก็คือ ราคาหุ้นก็ไม่แพงเลย ดังนั้น ความมั่นใจของผมสูงมาก ผมจึงทุ่มซื้อหุ้นในกลุ่มนั้น และในหุ้นตัวหนึ่งที่ผมมั่นใจเป็นพิเศษผมได้ทุ่มเงินประมาณ 50% ของพอร์ตเข้าซื้อและถือยาวมาเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการเติบโตของหุ้นขึ้นมากว่า 10 เท่าตัว และมันก็กลายเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ของผม

เมื่อย้อนดู หุ้นตัวนี้ก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด ว่าที่จริงผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของพอร์ตด้วยซ้ำ แต่เพราะว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่มากในพอร์ต  ผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าของเงินที่ได้รับจึงมากจนทำให้พอร์ตโตขึ้นจน “ชีวิตเปลี่ยน” ตั้งแต่อาจจะ 10 ปีที่แล้ว

แม้ว่าในวันนี้ หุ้นตัวนี้ก็อาจจะไม่เป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิตของใครอีกต่อไป และแม้แต่ตัวผมเอง ความสำคัญของมันก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ผมเองก็กำลังมองหา “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ตัวต่อไปในตลาดหุ้นเวียดนามที่ผมกำลังสงสัยว่าอาจจะเจอแล้วและก็พยายามเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร