อวสานของนักลงทุนรายย่อย

สัปดาห์ที่แล้วช่องทีวี “Money Channel” ของตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศปิดตัวลงอย่าง “กะทันหัน” หลังจากเปิดดำเนินการมา 13 ปี  วันที่เปิดตัวนั้นผมเองยังจำได้ว่าตนเองไปร่วมงานและเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมทำรายการ  “Money Talk”  บรรยากาศในวันนั้นผมเองรู้สึกถึง  “พลัง” ของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  สถานีโทรทัศน์ที่เน้นแต่เรื่องการเงินการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนจำนวนมากต้องการดูต้องการศึกษาหาข้อมูล  ในเวลานั้นนักลงทุนส่วนบุคคลเองก็ยังไม่มากนักแต่ดูเหมือนว่าการเติบโตกำลังพุ่งขึ้น  การเปิดช่องสถานีทีวีน่าจะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นและที่สำคัญเข้ามาลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น

หลังจากการเปิดตัวของมันนี่แชนเนล  ตลาดหุ้นไทยก็ “คึกคัก” ขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจของนักลงทุนส่วนบุคคลที่เริ่มเข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  รายการทีวีทำให้บุคคลธรรมดารู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องของการลงทุนในหุ้นและตราสารต่าง ๆ  มากขึ้น  หุ้นไม่ใช่เป็นเรื่องของนักพนันหรือนักเก็งกำไรอีกต่อไป  เช่นเดียวกัน  มันไม่ใช่เรื่องที่ทำโดยสถาบันการลงทุนแต่เพียงฝ่ายเดียว  นักลงทุนส่วนบุคคลก็สามารถเรียนรู้และเข้าใจการลงทุนได้และอาจจะไม่แพ้นักลงทุนสถาบันด้วย  เซียนและนักลงทุนรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จสูงหลาย ๆ  คนกลายเป็น  “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พยายามเรียนรู้และทำตามเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการเงินการลงทุนจนมี “อิสรภาพทางการเงิน” หรือรวยไปเลยด้วยการลงทุนในหุ้น  ในเวลาเดียวกัน  ดัชนีหุ้นไทยก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และถึงแม้ว่าจะมีการสะดุดบ้างแต่ก็มักจะเป็นเวลาสั้น ๆ  ไม่เกินปี  นั่นส่งผลให้นักลงทุนส่วนบุคคลของไทยมีจำนวนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกลายเป็นที่  “น่าอิจฉา”  ของตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน จนถึงวันนี้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยรวมของไทยน่าจะสูงกว่าทุกประเทศในอาเซียนทั้ง ๆ  ที่ขนาดของตลาดหุ้นของเราไม่ได้ใหญ่ที่สุด

การเติบโตของนักลงทุนส่วนบุคคลในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าจะเริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด  สาเหตุสำคัญนั้นน่าจะมาจากการที่หุ้นขนาดกลางและเล็กที่เป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนส่วนบุคคลมีราคาตกลงมาอย่างหนักแทบจะเป็น  “หายนะ”  หลังจากที่มันถูก “ปั่น” ขึ้นไปสูงมากก่อนหน้านั้นอานิสงค์จากการที่นักลงทุนรายย่อยเข้ามาเล่นหุ้นกันมาก   การขาดทุนอย่างต่อเนื่องทำให้นักลงทุนรายย่อยเริ่มทยอยออกจากตลาดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทำให้สัดส่วนการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนส่วนบุคคลลดลงมาเรื่อย ๆ  อย่างรวดเร็วจากที่เคยมีสัดส่วน 60-70% เหลือน่าจะไม่เกิน 40% ในช่วงเร็ว ๆ  นี้และน่าจะลดลงต่อไปถ้าหุ้นขนาดเล็กและกลางยังไม่ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวซึ่งแนวโน้มก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะราคาหุ้นก็ยังแพงอยู่มาก

เช่นเดียวกับภาวะของตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวย  ย้อนหลังไปน่าจะใกล้ ๆ  กับช่วงของการเปิดมันนี่แชนเนล  หน่วยงานรัฐและรัฐบาลเองก็มีการส่งเสริมให้นักลงทุนส่วนบุคคลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างมาก  มาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลสำหรับเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุน LTF และ RMF ก็ทำให้คนที่มีรายได้สูงเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นมาก  คนเริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขารู้สึกว่าหุ้นนั้นแค่ “ผันผวน”  เวลาตกลงไปแรงไม่นานมันก็กลับมา  มันเป็น  “โอกาส” ซื้อหุ้นถูก มันไม่ใช่ความเสี่ยง ดังนั้นพวกเขาจึงกล้าเข้ามาลงทุนในตลาดด้วยตนเองมากขึ้น

บริษัทจดทะเบียนเองก็เริ่มเห็นว่านักลงทุนส่วนบุคคลนั้นมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะสามารถขับดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปสูงและสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของบริษัทได้  พวกเขาจึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนส่วนบุคคลเข้าไปเยี่ยมชมกิจการและซักถามข้อมูลต่าง ๆ  เช่นเดียวกับที่นักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์หุ้นสามารถเข้าถึงได้  ตลาดหลักทรัพย์เองก็สนับสนุนโดยการเปิดรายการ “Opportunity Day” ที่เปิดโอกาสและชักชวนให้บริษัทจดทะเบียนมาให้ข้อมูลแก่นักลงทุนส่วนบุคคลโดยตรงเป็นรายไตรมาศ  ซึ่งก็มีบริษัทจำนวนมากมาร่วมกิจกรรมนี้  นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยรู้สึกว่าเขามีโอกาสที่จะลงทุนในตลาดหุ้นเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และก็เช่นเดียวกัน  เป็นเรื่องที่  “น่าอิจฉา” ของนักลงทุนรายย่อยในประเทศอื่น ๆ  แทบจะทั่วโลกไม่ต้องพูดถึงนักลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่นักลงทุนส่วนบุคคลมักจะไม่สามารถเข้าถึงผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนได้

มาถึงวันนี้ผมคิดว่าเรื่องราวดี ๆ  และที่ช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนส่วนบุคคลของตลาดหุ้นไทยก้าวหน้าและมีบทบาทสูงในตลาดหุ้นไทยนั้น  น่าจะใกล้จุดสูงสุดหรือ Peak ไปแล้ว

เริ่มจากภาวะตลาดหุ้นของหุ้นตัวเล็กและกลางที่เป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนรายย่อยนั้น  ผมคิดว่าน่าจะจบรอบใหญ่ไปแล้วและน่าจะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าภาวะที่เคยเป็นจะหมุนกลับมาใหม่  สิ่งที่บอกว่ามันถึง “อวสาน” แล้วก็คือผลงานของหุ้น IPO ที่ในระยะเร็ว ๆ  นี้ทำผลงานน่าผิดหวัง  หุ้นส่วนใหญ่ที่เข้ามาต่างก็ต่ำกว่าราคาจองตั้งแต่วันแรก   หุ้น IPO นั้นเป็น Indicator หรือเครื่องวัดที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง  นั่นก็คือ  ช่วงที่ตลาด Peak หรือกำลังร้อนแรงสุดนั้น  IPO เกือบทุกตัวจะทำกำไรได้ดีมาก  เข้าตลาดวันแรกก็ทำกำไรบางทีเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่ดีหรือถูกแต่อย่างใด  จำนวนหุ้น IPO ก็จะมีมากเพราะเจ้าของบริษัทต่างก็อยากรวยโดยการเอาหุ้นเข้าตลาด  ตรงกันข้าม  เมื่อ IPO เริ่มขาดทุนและขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  หุ้น IPO เข้าตลาดน้อยลงเรื่อย ๆ  นั่นก็เป็นสัญญาณว่า  ตลาดหุ้นกำลังวายแล้ว

ในด้านของการสนับสนุนจากทางการต่อตลาดหลักทรัพย์และหุ้นเองนั้น  มาถึงวันนี้ผมคิดว่าน่าจะลดลงมากเฉพาะอย่างยิ่งต่อนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อย  พวกเขาอาจจะคิดว่าตลาดก้าวหน้าและเติบโตแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมอีกต่อไป  มาตรการลดภาษีให้คนลงทุนผ่านกองทุนรวมโดยเฉพาะ LTF และ RMF จึงกำลังถูกยกเลิก  นอกจากนั้น  ดูเหมือนว่าทางการไม่อยากส่งเสริมให้นักลงทุนส่วนบุคคลลงทุนเอง  พวกเขาคิดว่านักลงทุนรายย่อยไม่มีความรู้หรือความสามารถพอจึงควรให้นักลงทุนมืออาชีพทำผ่านการซื้อกองทุนรวมจะดีกว่า  การปิดมันนี่แชนเนลเองนั้น  ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์จะบอกว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทีวีกำลังหมดยุคและตลาดจะยังคงส่งเสริมการให้ความรู้กับนักลงทุนส่วนบุคคลผ่านช่องทางหรือแนวทางอื่น  แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดน่าจะแสดงบทบาทน้อยลงจากอดีตที่เป็น “ผู้นำ”  อนาคตนั้นดูเหมือนว่าตลาดจะเป็นคนสนับสนุนให้คนอื่นทำมากกว่า

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นผมเองมองว่าเป็นเรื่องของวิวัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่เหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก  จริงอยู่ในช่วงที่นักลงทุนส่วนบุคคล “เฟื่อง” นั้น  ตลาดหลักทรัพย์ของไทยนั้นนักลงทุนส่วนบุคคลของไทยค่อนข้างจะเฟื่องกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ  ประเทศ  นักลงทุนส่วนบุคคลของไทยมีบทบาทที่โดดเด่นในแง่ของการลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  นักลงทุนส่วนบุคคลที่โดดเด่นมีพอร์ตใหญ่ขนาดกองทุนรวมหลายรายต้อง “ชิดซ้าย”  หุ้นที่ “เซียน” เล่นหลาย ๆ  ตัวผู้จัดการกองทุนรวมต้องเล่นตาม  บริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ  แห่งต้อนรับนักลงทุนส่วนบุคคลยิ่งกว่านักวิเคราะห์หรือกองทุนรวม  แต่สุดท้ายแล้ว  “งานเลี้ยงก็จะต้องเลิกรา” ผมเองคิดว่าเวลานี้คือ “อวสานของนักลงทุนส่วนบุคคล” ที่รุ่งเรืองมายาวนาน หลังจากนี้นักลงทุนส่วนบุคคลจะค่อย ๆ มีบทบาทน้อยลง  ปริมาณการซื้อขายหุ้นน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น  และถ้าตลาดหุ้นไทยจะโตต่อไปเรื่อย ๆ   วันหนึ่งนักลงทุนส่วนบุคคลก็แทบจะไม่มีความหมายเหมือนกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย

ที่มาบทความ: thaivi.org