ผู้จัดการหุ้น

ในแวดวงดาราสมัยนี้ต้องมี ผู้จัดการส่วนตัว” ที่มีความสามารถรู้ว่าจะแนะนำให้ดาราทำตัวอย่างไรรวมถึงการทำประชาสัมพันธ์” หรือโปรโมตตัวดาราด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้ดาราเป็นที่นิยมมากขึ้นซึ่งจะทำให้ “ค่าตัวดารา” สูงขึ้น ในเรื่องของหุ้นเองนั้น ผมคิดว่าหุ้นไทยจำนวนไม่น้อยก็มี “ผู้จัดการหุ้น” ที่คอย “ปั้น” หุ้นให้มีมูลค่าตลาดหรือ Market Cap. สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการไม่ทำ มูลค่าตลาดของหุ้นที่สูงขึ้นนั้น จะสูงขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบหลาย ๆ อย่างรวมถึงความสามารถของ “ผู้จัดการ” ที่เป็นคนปั้นด้วย นี่ก็คงคล้าย ๆ กับผู้จัดการส่วนตัวดาราบางคนที่ปั้นเก่งมากทำให้ดารามีค่าตัวสูงขึ้นมากเช่นเดียวกับตัวผู้จัดการที่รวยไม่แพ้กันจากการได้รับ “ส่วนแบ่ง” ตามค่าตัวดารา

การ ปั้นหุ้น” นั้นก็คล้าย ๆ กับการปั้นดารา จะต้องเริ่มจากการหาหุ้นหรือหาดาราที่จะปั้น หุ้นที่จะสามารถปั้นให้ “ดัง” และมีมูลค่าตลาดสูงขึ้นได้มากนั้น จะต้องมีพื้นฐานที่เหมาะแก่การส่งเสริมให้โดดเด่นได้ไม่ยาก ประการแรกบริษัทจะต้องอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ดีและมีโอกาสที่จะเติบโตไม่เป็นธุรกิจ “ตะวันตกดิน” และถ้าไม่สามารถเติบโตในประเทศได้ก็ต้องมีเหตุผลชัดเจนว่าจะโตในต่างประเทศที่ไหนและเมื่อไร ยิ่งมีโอกาสที่จะเติบโตมากเท่าไรก็ยิ่งสามารถปั้นให้บริษัทดูโดดเด่นมากขึ้นเท่านั้น

Story หรือ เรื่องราวหรือประวัติของบริษัทก็จะต้องดูดีเหมือนกับตัวดาราเช่นกัน หุ้นที่มีภาพที่ดีนั่นคือ มีความสามารถหรือเป็นผู้นำในระดับที่น่าประทับใจก็จะสามารถ “ขาย” ให้กับนักลงทุนที่จะทำให้พวกเขาเชื่อว่าอนาคตการดำเนินงานของบริษัทจะสดใสประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่เคยทำได้มาแล้วในอดีต

ช่วงเวลาที่จะโปรโมทหุ้นนั้น จะต้องเป็นเวลาที่เหมาะสมนั่นก็คือ ภาวะตลาดหุ้นจะต้อง “เป็นใจ” นักลงทุนจำนวนมากกำลัง “คลั่งไคล้” กับการลงทุน เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและปริมาณการซื้อขายสูงลิ่ว เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนมีเงินสดในมือมากแต่การลงทุนทางอื่นโดยเฉพาะการฝากเงินให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก

ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่จะปั้นหุ้นให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงตามพื้นฐานระยะยาว

ก็คือ บริษัทจะต้องมีหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับพลังการซื้อของนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยและรายใหญ่ที่เข้ามา “เล่นหุ้น” หรือซื้อขายหุ้น “ทุกวัน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่าหุ้น Free Float ต่ำ ถ้าจะถามว่าคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนเท่าไรก็คงตอบยาก แต่ในตลาดหุ้นไทยเวลานี้ผมคิดว่าหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่มี Market Cap. ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท นั้น ก็อยู่ในวิสัยที่ผู้จัดการหุ้นสามารถปั้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้า Free Float น้อยกว่านั้นก็จะทำให้การปั้นง่ายขึ้นตามส่วน ยิ่งหุ้นน้อยก็ยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการจัดการหุ้นให้ประสบความสำเร็จก็คล้าย ๆ กับการปั้นดารา นั่นก็คือ ความร่วมมือของ “ดารา” หรือเจ้าของบริษัท ในกรณีนี้ก็คือ เจ้าของและผู้บริหารบริษัทจะต้องโปรโมตตัวเองและบริษัทเต็มกำลัง การออกข่าวดี ๆ เกี่ยวกับบริษัทต้องมีมากและสม่ำเสมอ ความมั่นใจในความสามารถและการเติบโตของบริษัทต้องเต็มที่ สำหรับผู้บริหารแล้ว “Sky’s a limit” นั่นคือ บริษัทจะเติบโตและกลายเป็นบริษัท “ระดับโลก” ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ในระหว่างที่กำลัง “ปั้น” นั้น เจ้าของจะต้องไม่ขายหุ้นจำนวนมากที่จะทำให้ “วงแตก” เสียก่อน ถ้าอยากจะขายก็ต้องหลังจากที่มูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นมามากแล้วและบริษัทเป็นที่ “ยอมรับ” ในตลาดแล้วเท่านั้น

ความสำเร็จของการปั้นหุ้นของผู้จัดการหุ้นนั้นก็เหมือนกับการปั้นดารา นั่นก็คือ มีทั้งหุ้นที่ “ประสบความสำเร็จ” และที่ล้มเหลว ระดับของความสำเร็จของหุ้นแต่ละตัวเองก็ต่างกัน หุ้นบางตัวประสบความสำเร็จสูงมากและบางตัวก็น้อย ผมเองมีเกณฑ์ของระดับของความสำเร็จในการโปรโมทหุ้นแบบหยาบ ๆ ดังต่อไปนี้คือ

ความสำเร็จระดับสูงสุดในการ “ปั้นหุ้น” ผมจะเรียกว่าเป็น “หุ้นปั่น”

นี่คือหุ้นที่มีราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทในระยะยาวเกิน 50% แต่ในความเป็นจริงแล้วหุ้นปั่นจำนวนมากมีราคาเกินพื้นฐานมากกว่า 100% หรือบางทีก็อาจจะหลายเท่า เช่น จากราคา 2 บาทกลายเป็น10 บาทในช่วงสูงสุด มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่หลังจากนั้นเมื่อ “เลิกปั่น” ไปแล้วหุ้นก็ตกกลับลงมาเหลือเท่าเดิม คนปั้นหุ้นและเจ้าของอาจจะขายหุ้นทำกำไรมหาศาลในขณะที่คนที่เข้าไปเล่นส่วนใหญ่ขาดทุนอย่างหนัก

ระดับความสำเร็จรองลงมาผมจะเรียกว่าเป็น “หุ้นที่มีการดูแล” นี่คือหุ้นที่ผู้จัดการหุ้นโปรโมตได้ในระดับที่ดีและทำให้หุ้นมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงตั้งแต่ 20-50% ในระยะเวลาที่เขาทำอยู่ ความร้อนแรงและปริมาณการซื้อขายหุ้นรายวันก็มักจะไม่แรงเท่ากับหุ้นปั่น

ระดับความสำเร็จ “ขั้นต้น” นั้น อาจจะแทบมองไม่ออก แต่ผมจะเรียกว่าเป็น “หุ้นที่มีการจัดการ” นี่อาจจะเป็นแค่เรื่องของการโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์กิจการโดยที่ “ผู้จัดการหุ้น” อาจจะไม่ได้เข้าไป “ดูแล” ในการซื้อขายหุ้นเป็นระยะอย่างในกรณีของ “หุ้นที่มีการดูแล” เลย แม้แต่ชื่อว่าเป็นผู้จัดการเองนั้น ก็อาจจะไม่ใช่คำเรียกที่เหมาะสม ดังนั้น มูลค่าหุ้นก็จะสูงกว่าความเป็นจริงไม่เกิน 20%

หุ้นกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่และมี Market Cap. รวมทั้ง Free Float ที่สูงเกินกว่าที่ผู้จัดการหุ้นจะดูแลไหวนั้น ผมจะเรียกว่าเป็น “หุ้นที่ดูแลไม่ได้” นี่คือหุ้นที่ราคามักจะสะท้อนพื้นฐานที่ควรเป็น เพราะคนที่เข้ามาซื้อขายนั้นต่างก็พิจารณาลงทุนซื้อหรือขายหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่ต่างคนต่างก็คิดด้วยเหตุและผล คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะที่ซื้อขายหุ้นมาก ๆ อย่างนักลงทุนสถาบันมักจะมีความรู้และมีข้อมูลมาก ถ้าเขาคิดว่ากิจการดีและหรือโตเร็วเขาก็ซื้อ แต่ถ้าแย่เขาก็จะขาย โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาของหุ้นก็จะสะท้อนความคิดเหล่านั้นซึ่งก็มักจะถูกต้อง โดยเฉลี่ย

สุดท้ายก็คือหุ้นที่ผมเรียกว่าเป็น “หุ้นที่ไม่มีการดูแล” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นที่เจ้าของไม่สนใจราคาหุ้นของบริษัทหรือไม่สนใจที่จะโปรโมตหุ้นของตนเอง พวกเขาไม่สนใจที่จะขายหุ้นและคิดว่าหน้าที่ของเขาก็คือบริหารกิจการและจ่ายปันผลเมื่อมีกำไร ดังนั้น ราคาหุ้นก็มักจะไม่เกินมูลค่าพื้นฐานของกิจการ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริษัทที่ผู้บริหารหรือเจ้าของไม่สนใจผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือผู้ถือหุ้นอื่นเท่าที่ควร ซึ่งทำให้ไม่มีใครสนใจจะลงทุนซื้อขายหุ้นของบริษัท ราคาหุ้นก็อาจจะต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นได้

การที่จะรู้ว่าเป็นหุ้นที่มีการจัดการหรือไม่นอกจากจะดูพฤติกรรมแล้วก็ยังต้องดูถึงความถูกความแพงของหุ้น เช่น จากค่า PE ว่าหุ้นตัวนั้นมีค่าเท่าไร ถ้าบริษัทมีการโปรโมตมาก มีราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและมีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงกว่าปกติและมีผู้ถือหุ้นสถาบันน้อย ประกอบกับค่า PE ที่สูงลิ่วประเภท 40-50 เท่าขึ้นไป แบบนี้เราก็ต้องระวังว่ามันอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่มีการดูแลสูง โอกาสที่ราคาหุ้นจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมากก็เป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าเราเป็น VI ที่เน้นความปลอดภัยก็ควรจะหลีกเลี่ยงการลงทุน แต่ถ้าเราพิจารณาดูแล้วเห็นว่าหุ้นตัวนั้นไม่สามารถถูกจัดการได้ และราคาหุ้นนั้นน่าจะสะท้อนมูลค่าพื้นฐานตามที่เป็นจริง—ในสายตาของ “ตลาด” แต่เราเห็นต่างว่ามันเป็นหุ้นถูก เราก็สามารถซื้อหุ้นลงทุนได้

ข้อสรุปสุดท้ายก็คือ การพิจารณาทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้น จะทำให้เราเข้าใจและสามารถวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวได้โดยอาศัยพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนที่อาจจะเป็น “ผู้จัดการหุ้น” ประกอบกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาด ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพว่าหุ้นตัวนั้นน่าจะเป็นหุ้นประเภทไหนและราคาน่าจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดนั้นจะช่วยให้เราเลือกหุ้นได้ละเอียดรอบคอบขึ้น โดยส่วนตัวผมเองแล้ว ผมจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เสี่ยงจะเป็นหุ้นปั่นและหุ้นที่มีการดูแลและเน้นลงทุนในหุ้นที่ดูแลไม่ได้หรือหุ้นที่ไม่มีการดูแลเป็นหลัก ส่วนหุ้นที่มีการจัดการนั้น บางทีผมก็ลงทุนอยู่เหมือนกัน เพราะแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะสูงไปบ้างเล็กน้อย แต่หุ้นแบบนี้มักจะปรับตัวได้เร็วเวลามีข่าวดีเช่นตลาดหุ้นกำลังวิ่ง เป็นต้น

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/ผู้จัดการหุ้น