tech-and-vi-dr-ni01

ผมเกิดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น เมื่อโลกก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารแบบดิจิตอลในยามที่ผมมีอายุมากแล้ว  ผมจึงไม่ใคร่ที่จะคุ้นเคยและชำนาญในการใช้มัน ผมมองดูคนรุ่นใหม่ด้วยความ “ทึ่ง” ไล่ตั้งแต่เด็กเล็กอายุน่าจะไม่เกิน 2-3 ปี นั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์บนโทรศัพท์มือถืออย่างคล่องแคล่ว

พวกเขาใช้นิ้วเล็ก ๆ  กดหาเกมจำนวนมากบนจอแล้วเล่นหรือดูโปรแกรมสำหรับเด็ก  พอเบื่อเกมหนึ่งเขาก็รู้จักกดออกแล้วกลับไปหาเกมใหม่อย่างไม่รู้เบื่อ  นิ้วเล็ก ๆ  ที่จิ้มลงบนจอนั้นไม่เคยพลาด  ว่าที่จริงทักษะในการใช้นิ้วของเขานั้นน่าจะดีกว่าการเดินที่บางทียังกระเตาะกระแตะด้วยซ้ำ  ดังนั้น  เมื่อพวกเขาโตขึ้น  การพิมพ์หรือใช้นิ้วกับตัวอักษรเล็ก ๆ  บนโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็ก ๆ  จึงเป็นเรื่องธรรมชาติและทำได้เร็วมาก และนั่นน่าจะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารและใช้งานจากโทรศัพท์หรือน่าจะเรียกว่า “คอมพิวเตอร์พกพา” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คนรุ่นโตขึ้นมาหน่อยระดับ Gen Y อายุไม่เกิน 30 ปีเศษ  ซึ่งก็เป็นคนที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กเองนั้นผมก็ทึ่งในแง่ที่ว่าพวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  พวกเขาสามารถและใช้  App ต่าง ๆ  ที่มีมากมายในปัจจุบัน  ตัวอย่างเช่นในเรื่องของ E-Commerce ที่พวกเขาใช้ในการซื้อสิ่งของต่าง ๆ  ที่ต้องการได้จากทั่วโลกด้วย  “ปลายนิ้ว” ในขณะที่ผมเองนั้นรู้สึก  “กลัว” และไม่กล้าทำเนื่องจาก “ไม่ได้เห็นของจริง” และกลัวเรื่องการชำระเงินที่อาจจะยัง  “ไม่ปลอดภัย”  หรือในการเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ  ทั่วโลกที่ไม่คุ้นเคยและไม่เคยไปนั้น  พวกเขาสามารถ “ไปเอง” ได้โดยไม่ต้องอาศัยทัวร์  พวกเขาใช้กูเกิลนำทางซึ่งดีและถูกต้องบางทียิ่งกว่าไก้ด์ในขณะที่ผมเองนั้น “นึกไม่ออก” ว่าจะทำได้อย่างไรถ้าจะต้องจองตั๋วเครื่องบิน  จองโรงแรม  จองรถหรือรถไฟเพื่อเดินทางระหว่างเมืองในต่างประเทศ  ผมกลัวว่าจะผิดพลาดในจุดใดจุดหนึ่งซึ่งจะทำให้ทุกอย่าง “เละ” ไปด้วย  กลัวหลงทาง  กลัวปัญหาต่าง ๆ  ที่จะเกิดจากระบบของเทคโนโลยี  ดังนั้น  ผมจึงพยายาม “หลีกเลี่ยง”  ถ้าผม “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องใช้

แต่แล้วโลกก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

โลก “เก่า” ถูกแทนที่ด้วยโลกของดิจิตอลมากขึ้นทุกที  หลาย ๆ  อย่างที่ผมเคยทำหรือเคยใช้อย่างคุ้นเคยและสบายใจนั้น  บัดนี้เขาเลิกหรือกำลังจะเลิกใช้  ผมต้องปรับตัวเพื่อที่จะหันมาใช้ของใหม่  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของสื่อสังคมที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว  เพื่อนฝูง  และเพื่อนร่วมงานนั้น  ผมก็ต้องเริ่มใช้ App ที่ติดต่อกันผ่านโทรศัพท์มือถือ  อย่างไรก็ตาม  หลาย ๆ  เรื่องผมเองก็ยังพยายาม  “เลื่อน”  ออกไป  ไม่ยอมใช้  ตัวอย่างเช่น Planner ที่ใช้นัดกับคนอื่นนั้น  ผมก็ยังใช้สมุดนัดอยู่  มันคงเป็นเรื่องที่ผมคุ้นเคยและสะดวกในการจดบันทึก การเขียนหรือพิมพ์บนโทรศัพท์มือถือขนาดเล็กสำหรับผมนั้นเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกยากและ “งุ่มง่าม”  ที่จะทำ

ผมเองรู้สึกว่าประสิทธิภาพของผมในการทำงานและใช้ชีวิตนั้นลดลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและกล้าใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมากกว่า  มีเพียงเรื่องของการศึกษาหรือเรียนรู้ที่ผมคิดว่ายังเสียเปรียบไม่มากนัก เหตุผลก็เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่การ “ใช้สมอง” เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ส่วนในเรื่องของข่าวสารและข้อมูลที่จะนำมาสู่สมองนั้น ตราบใดที่ผมยังมีความสามารถในการ  “ท่องอินเตอร์เน็ต”  โดยเฉพาะที่เพียงเข้าไปดู  ผมก็จะยังมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่ต่างจากเด็กรุ่นใหม่  จริงอยู่  ผมอาจจะใช้เวลามากกว่าในส่วนของการค้นหาข้อมูล แต่ผมเองก็อาจจะเสียเวลาน้อยกว่าในการอ่านหรือดูข่าวสารและข้อมูลที่เป็นเรื่องของสังคมหรือความบันเทิงที่ไม่ได้เพิ่มความรู้ความเข้าใจ ผมไม่ค่อยจะคุยในเรื่องสัพเพเหระที่คนส่วนใหญ่มักจะทำ  ผมไม่โพสข้อความต่าง ๆ  บนสื่อสังคมถ้าไม่จำเป็น ผมเลือกสิ่งที่ผมจะดูหรืออ่าน  ดังนั้น  ผมคิดว่าผมยังสามารถเรียนรู้และเข้าใจวิวัฒนาการและโลกได้ไม่แพ้คนที่  “ไฮเทค”  แม้จะรู้ตัวเองว่าเป็นคน  “โลว์เทค”

โชคดีที่ว่าการลงทุนที่เป็นอาชีพหรือ “ชีวิต” ของผมเองนั้น มันขึ้นอยู่กับ “ความคิด” และความเข้าใจในโลกและการดำเนินการของบริษัทหรือธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรายัง “อยู่รอด” ได้ ถ้าผมยังทำงานในออฟฟิส เป็นผู้บริหาร หรือทำงานวิชาชีพหลาย ๆ อย่างที่ต้อง Execute หรือลงมือปฏิบัติมาก ๆ  ผมคง “เอาตัวไม่รอด”  ถ้ามีความรู้ทางด้านดิจิตอลในระดับนี้   แต่ถ้าจะพูดอีกด้านหนึ่ง  ถ้าผมยังทำงานอย่างที่กล่าว  ผมเองก็คงต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากกว่านี้และคงไม่เป็นคนที่โลว์เทคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ข้อสรุปของผมก็คือ อาชีพนักลงทุนนั้น เป็นอาชีพที่คนทำสามารถที่จะโลว์เทคได้ แต่คุณจะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ  นั้นส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง  มันส่งเสริมธุรกิจอะไรมากน้อยแค่ไหน  และมัน “ทำลาย” ใคร  เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงไม่รับรู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

ผมเองยอมรับว่าไม่มีความสามารถที่จะคาดการณ์ว่าบริษัทเทคโนโลยีไหนจะเป็นผู้ชนะ  ดังนั้น  ผมไม่ลงทุนในบริษัทใหม่ ๆ  ที่กำลัง “ร้อนแรง” ผมรู้ว่าบริษัทไหนชนะแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่าราคาหุ้นเหมาะสมคือเท่าไร เหตุผลก็เพราะว่าผมไม่รู้ว่ามันจะคงชนะอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน  หรือมันจะเติบโตทำกำไรได้เร็วพอกับราคาหุ้นที่ “สูงลิ่ว” หรือเปล่า  ดังนั้นผมจึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นเหล่านั้นไม่มีอยู่ในตลาดหุ้นไทยที่ผมคุ้นเคยและเป็นตลาดลงทุนหลักของผม    

สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ  หุ้นตัวไหนจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากเทคโนโลยี 

ถ้าหุ้นตัวไหนมีโอกาสที่จะ “ถูกทำลาย”  หรือด้อยลงไปมากเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิตอล ผมก็จะหลีกเลี่ยง หุ้นที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือไม่ถูกกระทบจากเทคโนโลยีมากนักจะเป็นหุ้นที่ผมเลือกที่จะลงทุน  แต่ก็อย่างที่มักจะพูดกัน  เทคโนโลยีนั้นมักจะไม่ใคร่ช่วยธุรกิจเก่า  ส่วนมากมันทำลายล้างของเก่าเพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่

ธุรกิจใหม่ ๆ  ที่เทคโนโลยีดิจิตอลสร้างขึ้น  หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ  “Startup”  นั้น  ผมเองต้องยอมรับว่ายังไม่เข้าใจพอที่จะวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนจะประสบความสำเร็จและน่าลงทุน การที่ยังมีขนาดเล็กและยังไม่มีกำไรนั้นทำให้ผมรู้สึกว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก  ดังนั้น  ผมจึงหลีกเลี่ยงมัน  เป็นไปได้ว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า การลงทุนในธุรกิจที่เน้นและอิงกับเทคโนโลยีดิจิตอลอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ถ้าคำนึงถึงอายุของผมแล้ว ผมอาจจะไม่ได้ลงทุนกับมันเป็นเรื่องเป็นราวเลยในชีวิตนี้  แต่นี่ก็จะเป็นเรื่องที่ผมต้องติดตามไปเรื่อยๆ แต่ ณ. ขณะนี้ สิ่งที่ผมจะลงทุนนั้น  นอกจากบริษัทจะมีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นกิจการที่มีความแข็งแกร่งและมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนแล้ว  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  มันมีโอกาสที่จะ “ถูกทำลาย”  ต่ำ  โดยที่เหตุผลที่จะเป็นอย่างนั้นอาจจะเพราะว่ามันเป็นเรื่องของความรู้สึกและรสนิยมที่ติดอยู่ในยีนของคน หรือด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่าด้านต้นทุนที่ทำให้ดิจิตอลไม่สามารถมาแทนที่ได้

ตัวอย่างเช่นในเรื่องของธุรกิจอาหาร ที่อย่างไรเสีย คนก็ยังต้องกิน และยังต้องการ รสชาดที่ถูกปากที่อะไรก็มาแทนไม่ได้  หรือในกรณีเรื่องความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจที่การค้าขายทางอินเตอร์เน็ตไม่สามารถแทนที่ได้ ก็เช่น สินค้านั้นมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนในการส่งของซึ่งทำให้คนยังต้องไปตรวจสอบดูด้วยตนเองอย่างเช่นบ้านหรือเครื่องเพชรราคาแพง หรือสินค้าที่มีราคาต่ำมากจนการส่งของตามสั่งแต่ละชิ้นนั้นไม่คุ้มค่าเช่นสินค้าสะดวกซื้อเป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือสินค้าระดับราคากลาง ๆ โดยเฉพาะที่คุณสมบัติของสินค้าเป็นมาตรฐานและไม่ได้มียี่ห้อหลากหลายเช่นอุปกรณ์เครื่องใช้ทางอิเลคโทรนิก เช่น คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นต้น

สุดท้ายสำหรับ VI รุ่นใหม่นั้น  ผมคิดว่าพวกเขาส่วนใหญ่น่าจะเป็นคน “ไฮเทค” ซึ่งทำให้ได้เปรียบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตและการลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักและระวังก็คือ การใช้มันในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในโลกและชีวิตมากเกินไปอาจจะเนื่องจากว่ามันสะดวกมากที่จะทำผ่านระบบดิจิตอล และนั่นจะเป็นข้อเสียที่สำคัญของการมีเทคโนโลยี “ที่ปลายนิ้ว”

 ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/เทคโนโลยีกับ-vi/