เส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างหุ้น Value-Growth-Corner

ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ “VI พันธุ์แท้” มานาน และได้เห็น VI โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นหลังหน่อยโดยเฉพาะที่มีอายุน้อยลงมาจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็น VI เหมือนกัน แต่ก็มีหลักการและความคิดแตกต่างจาก VI ดั้งเดิมไปพอสมควร เฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาจะเน้นการลงทุนที่ค่อนข้าง “Aggressive” และต้องการ “ทำกำไร” อย่างรวดเร็วแบบ “นักเก็งกำไร” ที่ผมเรียกว่าเป็น “Value Speculator” แทนที่จะเป็น “Value Investor”

ที่จริงคำว่า Value Speculator นั้น ไม่ได้มีในสารบบทางวิชาการ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับ Value Investor ก็คือ “Growth Investor” ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ Value Investor แนว วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือแนว VI ที่เน้นลงทุนใน “ซุปเปอร์สต็อก” อย่างที่ผมเองทำในช่วง “ปีทอง” หรือ “ทศวรรษทอง” ของการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทย

โดยเฉพาะในช่วงหลังปีวิกฤติซับไพร์ม 2008 หรือ 2551 ถึงประมาณ 2560 ซึ่งทำให้นักลงทุนแบบ VI ของไทยจำนวนมาก “รวยไปเลย” โดยเฉพาะที่เป็น “Value Speculator” นั้น น่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่า Value Investor ที่มักจะไม่ค่อยได้ใช้มาร์จินหรือ Leverage และมักจะระวังตัวมากกว่าในยามที่ตลาดกำลังเป็นช่วงกระทิงดุ

ถึงวันนี้ เมื่อตลาดหุ้นไทยพัฒนาขึ้นมากในด้านของแนวคิดการลงทุน ผมคิดว่าเราควรกำหนดให้ชัดเจนขึ้นว่าหลักการใหญ่ของการลงทุนของแต่ละแบบเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจว่าเรากำลังเป็นนักลงทุนแบบไหน เรื่องนี้สำคัญกับผลตอบแทนระยะยาวของนักลงทุน เช่นเดียวกันกับเรื่องของการปฏิบัติและเรื่องของ “จิตวิทยา” ของนักลงทุนเองว่าจะเป็นอย่างไรหรือต้องเผชิญกับอะไรเมื่อเราเป็นนักลงทุนแบบหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

เดิมก่อนที่จะกำเนิดแนวคิด Value Investment หลังปี 2540 ในตลาดหุ้นไทยนั้น นักลงทุนหรือควรจะเรียกว่า “นักเล่นหุ้น” นั้น ไม่ได้ใช้หลักวิชาอะไรมากนัก  ส่วนใหญ่ก็มักจะอาศัย “ฟังจากข่าว” หรือ “ข่าวลือ” หรือ “ข้อมูลภายใน” แล้วก็จะเข้าไป “ซื้อ-ขายหุ้น” รายวันหรืออย่างมากก็รายเดือนในหุ้นที่ได้หรือเสียประโยชน์จากข่าวเหล่านั้น

นอกจากนั้นแล้วก็จะมีเรื่องของนักเล่นหุ้น “รายใหญ่” ที่มีเพียงหยิบมือเดียว ที่จะมีการ ซื้อ-ขาย หุ้นรายตัวในปริมาณมากที่สามารถจะชี้นำราคาหุ้นได้ โดยทั้งหมดนั้นก็มักจะมีการปล่อยข่าวและหลาย ๆ กรณีก็จะ “ปั่นหุ้น” ไปด้วย

VI เป็น Concept หรือแนวทางการลงทุนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นและนำโดย “นักลงทุนรุ่นใหม่” ที่มักมีการศึกษาสูงและศึกษาทฤษฎีการลงทุนใหม่ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ การลงทุนในหุ้นนั้นจะต้องมีการ “วิเคราะห์” ธุรกิจของบริษัทอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ด้านของการตลาด การผลิต คุณสมบัติของผู้บริหาร และสุดท้ายด้านการเงินและผลประกอบการที่จะบอกถึงคุณภาพและอนาคตของการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนั้น ยังต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วยว่าสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ดีแค่ไหน พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเลยก็ยากที่จะเป็น VI

ก่อนที่จะเข้าลงทุน VI ยังต้องวิเคราะห์ว่า “ราคาหุ้น” นั้นจะต้องถูกพอที่จะทำให้มี “Margin of Safety” หรือ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” เพียงพอหรือไม่? นั่นก็คือ มันถูกกว่ามูลค่าของบริษัทที่คิดจากความแข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทในปีนั้นและปีต่อ ๆ ไปอีกยาวนาน มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เกิดความปลอดภัยในกรณีที่อาจจะวิเคราะห์ตัวบริษัทผิดพลาดหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเข้ามากระทบกิจการของบริษัทรุนแรง

หลักการของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้น เพิ่มเติมขึ้นมาจาก VI ดั้งเดิมแบบของ เบน เกรแฮม ตรงที่มักจะเลือกเฉพาะกิจการที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน และ “เติบโต” เร็วด้วย ดังนั้น นักลงทุนไทยที่เป็น VI ตั้งแต่เริ่มแรก จึงเน้นว่า หุ้น VI คือหุ้นของกิจการที่ “ดี” และ “โตเร็ว” ด้วย โดยที่คำว่าดีก็คือเป็นกิจการที่มีกำไรดี และคำว่าโตก็คือ กำไรเพิ่มขึ้นเร็ว—จากตัวเลขที่เห็นในขณะนั้น และจากการวิเคราะห์ไปข้างหน้า

Concept หรือแนวคิดของหุ้น“Growth” นั้น เน้นว่าจะต้องเป็นหุ้นที่ธุรกิจ “โตเร็ว” หรือโตเร็วมาก ที่นำเสนอโดย ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นจากบริษัทที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือบริษัทที่มีรูปแบบหรือการจัดโครงสร้างใหม่ในการทำธุรกิจที่เหนือกว่าแบบเดิมในอุตสาหกรรม หุ้นลักษณะนี้จะเติบโตเร็วมาก ถ้าซื้อไว้ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปเร็วและสูงมาก ดังนั้น เรื่องของราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะวันหนึ่งกำไรของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นมากจนคุ้มค่ากับราคาที่เราจ่าย

มองจากประเด็นของตัวธุรกิจที่จะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและต้องเป็นธุรกิจที่ “ดี” ก็จะพบว่าหุ้น Growth นั้นแทบจะเหมือนกับหุ้น VI แนว วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะแตกต่างก็อยู่ที่ว่าราคาของหุ้นนั้น ในกรณีหุ้น Growth เราจะไม่ค่อยสนใจว่าจะแพงหรือถูก เหตุผลก็คือ ส่วนใหญ่แล้วมูลค่าของหุ้น Growth นั้น ประเมินได้ยากมาก เพราะมันขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรในอนาคตอันยาวไกลว่าจะมากน้อยแค่ไหน

และถ้าตั้งสมมุติฐานผิดแม้เพียงเล็กน้อย มูลค่าที่คำนวณได้จะต่างไปมากมหาศาล ดังนั้น พวกเล่นหุ้น Growth จึงไม่ค่อยจะสนใจหาว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมจะเข้าซื้อเป็นเท่าไร พวกเขาจะสนใจแต่ว่า ถ้าราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ซื้อไป ไม่ต้องดูราคาว่าถูกหรือแพง อาจจะเรียกว่าดู “โมเมนตัม” และถ้าหุ้นเริ่มลงก็อาจจะขาย

ในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้ ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมและเป็นหุ้นที่ “ดีสุดยอด” เพราะราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงมาก บางทีภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปีราคาหรือมูลค่าหุ้นขึ้นไปหลายเท่าตัว นอกจากนั้น ธุรกิจก็ “ดี” มีกำไรเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “มีอนาคต” ที่สำคัญผู้บริหารมี “วิสัยทัศน์” ที่ก้าวไกลและพยายามนำบริษัทให้เติบโตในระดับ “แสนล้านบาท”

แต่สิ่งหนึ่งที่คนอาจจะไม่รู้ก็คือ หุ้นของบริษัทที่หมุนเวียนซื้อ-ขายในตลาดมักจะมีน้อยเมื่อเทียบกับขนาดโดยรวมของบริษัท และผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่บางรายก็อาจจะเข้าไปกวาดซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนมาก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่าหุ้น Growth คือภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือภายใน 1-2 ปี ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 10 เท่า ซึ่งหุ้นเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็น หุ้นCorner หรือหุ้นที่ถูก Corner คือถูกซื้อจนหมดซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้

แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่แยกได้ยากจากหุ้น Growth เพราะมันมักจะมีกำไรที่เติบโตแรงช่วงเร็ว ๆ นี้ อยู่ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเป็น “อนาคตของโลก” ผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปกวาดซื้อและให้ความเห็นต่อสาธารณชน อาจจะรวมถึงการที่บริษัทจะโตเป็น “แสนล้านบาท”แม้ว่าขณะนั้นบริษัทยังเล็กมาก เช่นเดียวกับในส่วนของราคาว่าอะไรคือราคาหุ้นที่เหมาะสมที่มักไม่มีใครสนใจ ดังนั้น ตราบใดที่ราคาหุ้นในตลาดยังขึ้นอยู่ นั่นก็คือราคาที่เหมาะสม

ข้อสรุปของผมก็คือ เส้นแบ่งว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Value ที่เน้นแนว Growth หรือซุปเปอร์สต็อก กับหุ้น Growth ในนิยามแบบวิชาการที่นำเสนอโดยฟิลลิป ฟิชเชอร์ และหุ้นที่ถูก Corner ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้นั้น “บางมาก” นั่นก็คือ มันยากที่จะบอก เวลาที่ผ่านไปเท่านั้นที่จะบอกได้ชัดเจนว่าหุ้นตัวไหนที่จริงแล้วเป็นหุ้นอะไร

เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หุ้นที่เป็น Value ก็มักจะ “อยู่ทน”คือขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจจะช้า ๆ ส่วนหุ้น Growth เองนั้น เวลาที่ธุรกิจหรือตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ราคาก็อาจจะทยอยถอยลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็หยุดลงในจุดที่เหมาะสม และหุ้น Corner เองนั้น มีโอกาสสูงว่า ราคาจะลงไปในระดับ “หายนะ”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร