ตลาดหุ้นเวียดนามถล่ม วิกฤติหรือโอกาส

ในช่วงที่โลกกำลังประสบกับปัญหาสารพัด ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยเฉพาะของสหรัฐและประเทศสำคัญทั้งหลายถดถอยและลดต่ำลงจนกลายเป็น “วิกฤติ” นั้น ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามซึ่งเคยเป็น “ดารา” และให้ผลตอบแทนสูงแทบจะที่สุดในโลกถึงสิ้นปีที่แล้ว ก็ตกลงมาแบบ “ถล่มทลาย” เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และถ้านับจากต้นปีถึงช่วง 3-4 วันนี้ ดัชนีได้ตกลงมาจากประมาณ 1,500 จุดเหลือเพียง 1,000 จุด หรือลดลงประมาณ 33% แล้ว ทั้ง ๆ ที่เวียดนามไม่ได้มีปัญหาอะไรใหญ่โต เศรษฐกิจเวียดนามเองไม่ได้ถดถอย ว่าที่จริงเศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโต “เป็นบ้า” ไตรมาส 3 ของปีนี้ ที่เพิ่งประกาศตัวเลขนั้น GDP โตถึง 13.7% รวม 3 ไตรมาสก็โตถึง 8.8% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2011

สิ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามตกลงมาเป็นวิกฤตินั้น นอกจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่มาจากต่างประเทศแล้ว เหตุผลที่อาจจะสำคัญกว่าก็คือ การที่ทางการเวียดนามจับนักลงทุนและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนรวมถึงผู้ควบคุมกฎเช่น ผู้บริหารของ กลต. และตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการฉ้อฉลและทำผิดกฏของการออกและซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรและการปั่นหุ้นในหลาย ๆ กรณีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

นั่นทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นซึ่ง 90% เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่เข้ามาเล่นแบบเก็งกำไรตกใจเทขายหุ้นทำให้หุ้นตกหนัก และส่งผลให้นักลงทุนที่ใช้มาร์จิ้นซึ่งมีจำนวนมากต้องขายหุ้นตามเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟอร์ซเซล ผลก็คือ ตลาดหุ้นถล่ม

และทุกครั้งที่ตลาดเกิด “วิกฤติ” สิ่งที่นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์ก็คือ มันเป็น “ภัยคุกคาม” ที่จะต้องหนีหรือขายหุ้นทิ้ง หรือเป็น “โอกาส” ที่จะเข้าไปช้อนซื้อหุ้นที่ตกลงมามากมายทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มีปัญหาหรือถูกกระทบอะไรมาก และเมื่อสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ผ่านไป ราคาหุ้นก็จะปรับตัวกลับขึ้นมาเท่าเดิมและโตต่อไปอีกยาวนานโดยเฉพาะถ้ามันเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก”

คำตอบของผมชัดเจนว่า นี่เป็นโอกาสที่น่าจะหาได้ยาก ตั้งแต่นักลงทุนไทยเริ่มสนใจและเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามในรอบหลายปีที่ผ่านมา ลองมาดูเหตุผลกัน

ข้อแรก พื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นแข็งแกร่งและจะไม่ถดถอยลงเหมือนประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่ “โตเร็ว” อื่น ๆ แม้ว่าเวียดนามจะมีการส่งออกสินค้าสูงมากและปริมาณมากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงเพื่อปราบเงินเฟ้อที่รุนแรง

แต่การส่งออกของเวียดนามก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอานิสงส์ จากความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น และสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนก็ช่วยสนับสนุนให้เวียดนามค้าขายได้มากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เวียดนามได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนปี 2022 นี้ และก็น่าจะยังเป็นบวกต่อ ๆ ไปในปีนี้และปีหน้า

ที่สำคัญมากยิ่งกว่าการส่งออกก็คือ การเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศที่โตขึ้นแบบก้าวกระโดดอานิสงส์จากการเปิดเมืองหลังโควิด ซึ่งแทบทุกเซกเตอร์รวมถึงภาคบริการเช่นในเรื่องของอาหารและการค้าปลีกเติบโตเกิน 20% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ “ต่ำ” ที่ 2.7% ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา

ผมได้คุยกับกลุ่มนักลงทุน VI ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการไปทัวร์เวียดนามและพบปะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง สิ่งที่พวกเขาพบก็คือ บรรยากาศที่เวียดนามคึกคักมาก ภัตตาคารและสถานบริการกลางคืนเช่นบาร์ทุกแห่งเต็มหมด ต้องจองล่วงหน้าถึงจะเข้าไปใช้บริการได้

ถนนหนทางเต็มไปด้วยรถและผู้คนที่คนส่วนใหญ่ถึง 90% เลิกสวมหน้ากากกันโควิดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงห้างร้านหรือชอปปิงมอลที่คึกคักกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ในขณะที่สนามบินในส่วนของการบินภายในประเทศนั้น ขณะนี้แน่นกว่าช่วงก่อนโควิดไปแล้ว ทั้งหมดนั้นทำให้การคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้าโต 6.5% และ 6.7% ตามลำดับ

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่า การเข้าไปลงทุนในช่วงนี้น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะไม่เกิน 2-3 ปีขึ้นไป ก็คือการที่ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในขณะนี้ “ถูกมาก” ค่า P/E ของตลาดน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10-12 เท่า และนั่นรวมถึงค่า P/E ของ “ETF Diamond” กองทุนหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่ประกอบด้วยหุ้นที่มี Foreign Premium ประมาณ 20 ตัว ที่มีค่า P/E ประมาณ 10 เท่า เท่านั้น

การคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงซัก 1 ปีข้างหน้าซึ่งอาจจะเป็นตัวถ่วงไม่ให้หุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงหลายไตรมาศข้างหน้าได้นั้นก็ดูไม่น่าห่วง เพราะบริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนว่าจะโตเป็นเลขสองหลัก ดังนั้น ก็ไม่น่ากลัวว่าค่า P/E ที่ต่ำในวันนี้จะสูงขึ้นในวันข้างหน้าเพราะกำไรของบริษัทลดลง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับหุ้นเวียดนามหลังจากนี้ ดูเหมือนจะอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่มีการปรับขึ้นทีเดียวถึง 1% จาก 4% เป็น 5%  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ อัตราดอกเบี้ยทั่ว ๆ ไปที่รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีการปรับตัวขึ้นไปสูงมาก ขนาดที่บางแห่งให้ดอกเบี้ยปีละ 7-8% ซึ่งทำให้น่าสนใจมากที่จะฝากเงินแทนที่จะไปลงทุนอย่างอื่น

รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้น และถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงนี้ดำรงอยู่นานมากอย่างที่เคยเป็นในอดีตของเวียดนาม นี่อาจจะทำให้การลงทุนในหุ้นน่าสนใจน้อยลงและหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นไปสูงต่อเนื่องยาวนานยากขึ้น

สถานการณ์ทั้งหมดซึ่งรวมถึงการจับการปั่นหุ้นและการฉ้อฉลในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์และสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปก่อนปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือเป็นช่วงประมาณ 22 ปีแรกของตลาดหุ้นไทยเหมือนกับช่วง 22 ปีของเวียดนามวันนี้  เพราะมันมีความละม้ายคล้ายกันมากในแง่ที่ว่า ตลาดหุ้นยังไม่ “Mature” หรือยังไม่พัฒนาพอ การควบคุมมีความหละหลวม และเมื่อตลาดหุ้นบูมก็จะมีการปั่นหุ้นและการฉ้อฉล และเมื่อถึงจุดหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อหุ้นตกลงมาแรงก็จะมีการจับกุมคนทำผิด หรือบางทีก็เพราะมีการจับคนทำผิด หุ้นก็เลยตกลงมาแรง

ในด้านของนักลงทุนเองนั้น ก็แทบจะมีแต่นักเล่นหุ้นรายย่อยเก็งกำไรที่พร้อมจะเข้าและออกทันทีที่ได้ยิน “เสียงนกหวีด” ดังขึ้นและมีคนร้องตะโกนว่า “ไฟไหม้” แค่เห็นควันดำปลิวเข้ามาทางประตูหรือหน้าต่าง ในขณะที่มีนักลงทุนต่างประเทศและสถาบันเพียงน้อยนิดที่ไม่มีกำลังอะไรที่จะต้านกระแสหรือพลังของนักลงทุนจำนวนมหาศาลไม่ว่าจะทางดีหรือทางร้าย

ในด้านของเศรษฐกิจมหภาคเองนั้น ประเทศไทยยุคนั้นก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากไม่แพ้อัตราของเวียดนามในวันนี้ ซึ่งก็ทำให้การฝากเงินในธนาคารเป็นการลงทุนที่ไม่เลวหรืออาจจะเรียกว่าดีเลยแหละ เพราะได้ผลตอบแทนปีละเป็น 10% โดยที่ “ไม่มีความเสี่ยง” เพราะรัฐบาล “ค้ำประกันเงินฝาก” ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเวียดนามออกมาบอกว่าจะค้ำประกันเงินฝากให้ประชาชนที่แห่ไปถอนเงินจากแบงก์ที่กำลังมีปัญหาผู้บริหารถูกจับเพื่อป้องกัน “Bank Run” หรือธนาคารล้มเพราะไม่มีเงินพอให้ถอน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/10/17/2712