สงคราม เศรษฐกิจ เวียดนาม

เมื่อผมลงทุนในเวียตนาม สิ่งหนึ่งที่ผมทำก็คือ ศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศเวียตนามเพื่อที่จะเป็น “Background” หรือภูมิหลังว่าประเทศนี้มีที่มาอย่างไรเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าคนและประเทศเวียตนามน่าจะเป็นอย่างไรและจะก้าวเดินต่อไปทางไหน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ดูว่าเศรษฐกิจจะก้าวหน้าขึ้นเร็วและมากน้อยแค่ไหนซึ่งจะเป็นฐานในการลงทุนในตลาดหุ้นของผม

ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเวียตนามที่ผมสนใจก็คือการที่ประเทศนี้ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระจากการครอบงำของมหาอำนาจของโลกในทุกยุคสมัยและที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของสงครามเพื่ออิสรภาพกับฝรั่งเศสและอเมริกา เหตุผลก็เพราะว่า ทั้ง ๆ ที่ “ศัตรู” ทุกประเทศที่กล่าวถึงนั้นเป็น มหาอำนาจของโลกในยุคนั้น คือจีนที่เป็น “มหาอำนาจแรก” ของโลกรบกับเวียตนามมานับพันปีเพื่อที่จะยึดครองแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ฝรั่งเศสที่เป็นมหาอำนาจในสมัยกว่าร้อยปีมาแล้วและสามารถเอาชนะและยึดครองเวียตนามด้วยพลังอาวุธสมัยใหม่แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพเวียตมินต์ที่เดียนเบียนฟู และสุดท้ายอเมริกาที่เป็น “อภิมหาอำนาจ” ในช่วง 60 ปีก่อนที่สุดท้ายต้อง “ถอยทัพกลับประเทศ” ทั้ง ๆ ที่ “ชนะทุกศึกแต่แพ้สงคราม” ในปี 2518 หรือเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้วซึ่งผมเองยังจำได้ดีในวันที่ไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน “แตก” และคนแย่งกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์เที่ยวสุดท้ายหนีตายกันอย่างทุลักทุเล

สงครามเวียตนาม

คนมักใช้เรียกสงครามระหว่างสหรัฐซึ่งหนุน “เวียตนามใต้” กับ “เวียตนามเหนือ” ที่นำโดยโฮจิมินห์ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งเอาชนะและ “ปลดแอก” เวียตนามตอนเหนือจากฝรั่งเศสสำเร็จนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี 60 ปีมาแล้ว โดยเหตุผลของอเมริกาก็คือต้องการเข้าไปขัดขวางไม่ให้คอมมิวนิสต์ยึดครองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดซึ่งจะทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยวและหมดอิทธิพลในเอเซีย อเมริกาเชื่อในทฤษฎี “โดมิโน” ว่า ถ้าเวียตนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกประเทศในพื้นแผ่นดินย่านนี้ซึ่งรวมถึงไทยและมาเลเซียก็จะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ในขณะที่เวียตนามเหนือเองนั้นเห็นว่าเวียตนามใต้นั้นก็คือส่วนหนึ่งของประเทศเวียตนามดังนั้นสงครามจึงเริ่มขึ้น

ความเป็นจริงที่เป็นภาพใหญ่กว่าก็คือ สงครามเวียตนามนั้นเป็น “สงครามร้อน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามเย็น” ระหว่างค่าย “คอมมิวนิสต์” ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและ “โลกเสรี” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา “สงครามเย็น” ก็คือสงครามที่ไม่ได้มีการรบพุ่งกันโดยตรงแต่แข่งกันทุกด้านในการที่จะเป็นผู้นำโลก เช่น แข่งกันยิงจรวดสู่อวกาศ แข่งในด้านของกีฬา แข่งในด้านของการผลิตสินค้าและอาวุธยุทโธปกรณ์ และที่สำคัญที่สุดก็คือแข่งกันหาพวกให้เข้ามาเป็นฝ่ายตนที่มีความคิด การบริหารและการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คอมมิวนิสต์นั้นเน้น “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” หรือของ “คนจน” เช่นชาวนาในจีน โดยการบริหารทางเศรษฐกิจนั้นเน้นการจัดการจาก “ส่วนกลาง” ที่รัฐจะกำหนดทุกอย่าง ส่วน “โลกเสรี” นั้น เน้นทางด้าน “ทุนนิยม” ที่ปล่อยให้ “ตลาด” เป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายและให้ผู้คนมี “สิทธิและเสรีภาพเสมอกัน” ในทุก ๆ ด้าน

สงครามเวียตนาม “เต็มอัตราศึก” กินเวลาประมาณ 15 ปี มันเป็นสงครามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากสงครามตามรูปแบบที่โลกโดยเฉพาะกองทัพอเมริกันรู้จัก มันเป็นสงคราม “กองโจร” ที่ไม่มี “แนวรบ” ไม่รู้ว่าจะเกิดศึกที่ไหน ไม่รู้ว่าจะไปยึดเมืองอะไร ว่าที่จริงสำหรับทหารอเมริกันแล้ว พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครคือข้าศึกหรือฝ่ายตรงข้ามที่จะจัดการเพราะทหารของเวียตนามเหนือก็มีหน้าตาและพูดเหมือนคนเวียตนามใต้ที่เป็นฝ่ายเดียวกับตน พวกเขาไม่มีเครื่องแบบ บางคนก็เป็นผู้หญิง รอบตัวทหารอเมริกันนั้นอาจจะกลายเป็นทหารฝ่ายตรงกันข้ามก็ได้ นอกจากนั้น ทหารอเมริกันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปยึดเมืองหรือฐานทัพฝ่ายตรงข้ามด้วย เพราะนี่เป็น “สงครามเย็น” ที่อเมริกาไม่ได้ต้องการที่จะก่อสงครามโดยการเข้ายึดฮานอยหรือเวียตนามเหนือที่เป็นประเทศอิสระ และนั่นก็คือจุดอ่อนของสงครามที่อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับ “ชัยชนะ” ใน “สงครามเย็น” กับสหภาพโซเวียตพูดในภายหลังว่า เขาจะไม่ส่งกองทัพอเมริกันไปรบที่ไหนอีกถ้ากองทัพ “ไม่ได้รับอนุญาตให้ชนะ”

ในช่วงสูงสุดของสงคราม มีทหารอเมริกันในเวียตนามถึงกว่าห้าแสนคน ตลอดสงครามนั้นคนหนุ่มอเมริกันกว่า 2 ล้านห้าแสนคนได้เข้าไปรบ ทหารอเมริกันเสียชีวิตไปเกือบ 6 หมื่นคนในขณะที่คนเวียตนามน่าจะตายมากกว่า 10 เท่า ระเบิดที่ทิ้งในสงครามเวียตนามนั้นน่าจะมากกว่าระเบิดที่เคยถูกทิ้งมาทั้งหมดในโลกรวมกัน แต่ที่สำคัญมากก็คือ นี่คือสงครามที่เป็นเหมือนรายการ “Reality” ทางทีวีที่มีการถ่ายทำสงครามแบบออกอากาศ “สด” จากสนามรบเป็นครั้งแรกอานิสงค์จากความก้าวหน้าของโทรทัศน์ที่มีกันทุกบ้านในอเมริกา และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้อเมริกา “แพ้สงคราม” ที่ยืดเยื้อยาวนานและ “แพง” มาก เพราะมันก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านสงครามอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะที่จะต้องถูกเกณฑ์ไปเสี่ยงตายในสถานที่ที่ไม่รู้จักและไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร บางคนบอกว่าหนุ่มสาวอเมริกันประท้วงสงครามโดยการทำตัวเป็น “ฮิปปี้” ไว้ผมยาวรกรุงรัง บางคนก็เสพยาเพื่อระบายความเครียด เพลง Imagin ที่มีเนื้อหาต่อต้านสงครามดังระเบิด สุดท้ายประธานาธิบดีนิกสันต้องประกาศถอนกองทัพจากเวียตนาม หลังจากนั้นไม่นานเวียตนามใต้ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ในปี 2518 ในช่วงเวลาเดียวกับการเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“สงครามเย็น” สงบลงในปี 2532

หลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินที่กักขังชาวเยอรมันตะวันออกไว้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง สองปีต่อมาสหภาพโซเวียตรัสเซียก็ล่มสลายลงพร้อม ๆ กับลัทธิและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรกที่ได้สร้างโซเวียตให้กลายเป็นอภิมหาอำนาจเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เป็นไปได้ว่าในช่วงแรกของการพัฒนานั้น การวางแผนและควบคุมจากส่วนกลางอาจจะมีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาประเทศเนื่องจากสามารถสร้างความมั่นคงและความสงบให้กับสังคมและสามารถสั่งหรือจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในระดับที่ก้าวหน้าขึ้นนั้น ระบบตลาดที่เป็นทุนนิยมที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานและเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่าก็จะเป็นฝ่ายที่ชนะ และนั่นก็นำมาซึ่งนโยบาย “Doi Moi” หรือ นโยบายปฏิรูปประเทศที่เน้นกลไกตลาดของเวียตนามในปี 2529 หรือประมาณ 11 ปีหลังจากรวมประเทศสำเร็จและกลายเป็นสังคมนิยม

หลังจากประกาศนโยบายดอยมอย ประเทศเวียตนามก็ผ่อนคลายข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายที่อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทและบริษัทมหาชนขึ้นในปี 2533 และรัฐธรรมนูญได้รับรองบทบาทของภาคเอกชนอย่างเป็นทางการในปี 2535 ระบบเศรษฐกิจการตลาดของเวียตนามเริ่มขึ้นอย่างมั่นคง ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 และที่สำคัญที่สุดก็คือการเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็อนุญาตให้ต่างชาติมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นได้ 100% ในแทบจะทุกธุรกิจ และนั่นมีส่วนทำให้เศรษฐกิจเวียตนามในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาเติบโตเร็วมากน่าจะเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีนและผมคิดว่าต่อจากนี้ไปน่าจะโตเร็วกว่าเพราะว่าเศรษฐกิจของเวียตนามยังเล็กมาก

เขียนมาถึงจุดนี้ผมคงต้องสรุปว่าเวียตนามนั้นทำสงครามชนะมาตลอดแม้ว่าจะต้องรบกับมหาอำนาจอันดับต้นของโลก ต่อจากนี้ไปก็คือ “สงครามเศรษฐกิจ” ที่เวียตนามกำลังเข้าสู่ “สนามรบ” โดยเฉพาะกับประเทศที่อยู่ในภูมิศาสตร์เศรษฐกิจระดับเดียวกันซึ่งรวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของเวียตนามในครั้งนี้แตกต่างกับสงคราม “กู้ชาติ” โดยสิ้นเชิง เพราะปรัชญาและแนวทางนั้นเป็นแบบ “เสรี” และ “เปิดประเทศ” เต็มที่ ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ พันธมิตรสำคัญในคราวนี้ก็คือสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งทำสงครามที่ขมขื่นมายาวนาน ถ้าจะให้ผมคาดการณ์หรือให้คะแนน ผมคิดว่าจากสถิติสงครามที่เวียตนามผ่านมาหลายศตวรรษ ผมคิดว่าเวียตนามจะประสบความสำเร็จได้ชัยชนะในสงครามเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่การค้นหาหุ้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้ก็มักจะสอดคล้องกันในระยะยาว

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/