Tlowbeta-dr-nut

สวีดัส – สวัสดีครับ นักลงทุนทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความควันหลงงาน Unlock day ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้วครับ เนื่องจากว่าพอหลังจากงาน Unlock ก็มีคำถามเข้ามาหาผมเยอะพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกองทุนที่ผมได้พูดถึงในวันงาน นั่นก็คือ “T-Labetow” ไม่ใช่ !! ……“T-Lowbeta” ครับ (ติดผวนคำมาจากพี่เจ็ท Fundtalk)

ยิ่งไปกว่านั้นครับ พี่แบงค์ หรือ Mr. Messenger ของเรา ถึงกับโทรมาหาผม เพื่อบอกว่า “หมอนัท พี่อยากให้เนื้อหาบทความที่จะออกมาใหม่นี้ พูดถึงกองทุนนี้ด้วย มันน่าสนใจมาก ๆ เลย” แน่นอนครับว่า ผมก็เลยต้องมาเล่าให้นักลงทุนฟังกันว่า ทำไมกองทุนนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์กองทุนหลาย ๆ คน ถึงสนใจกัน

ไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรทั้งนั้นครับ กองทุนนี้ที่น่าสนใจเพราะว่า “ความผันผวน” ของกองทุนโดยรวมนั้น “ต่ำมาก” แถมผลตอบแทนก็ทำได้ดีทีเดียว เอาเป็นว่า ด้วยความผันผวนต่ำ ๆ แบบนี้แหละครับ ที่โดนใจของผมมาก ๆ เลยครับ

เนื่องจากกองทุนที่มีความผันผวนไม่สูง ถ้าเราลงทุนอยู่ด้วยก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเราในบางช่วงเวลานั้นไม่ติดลบมากจนเกินไปจนเกิดความหวั่นไหว แต่ว่าถ้าเราถือกองทุนหุ้นที่มีความผันผวนมาก ๆ แล้วละก็ สิ่งที่จะตามมาก็คือ เกิดอาการร้อนรน ร้อนใจ อยู่ไม่สูข และอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น ขายกองทุนออกมาก่อน ซึ่งแน่นอนครับ ส่วนใหญ่เมื่อเราขาย ราคามันก็มักจะขึ้นเสมอ (ไม่รู้ว่าเพราะอะไร)

ทั้ง ๆ ที่ระยะยาวแล้ว เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากกองทุนที่มีความผันผวนเยอะก็เป็นได้ครับ แต่มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะทนได้ ดังนั้นการเลือกกองทุนที่มีความผันผวนต่ำจะช่วยให้ เราอยู่กับกองทุนได้นานมากขึ้น และถ้ายิ่งถือกองทุนแบบนี้ในระยะยาว ๆ นั้น ก็ยิ่งรู้สึกดี ปลอดภัยมากขึ้นครับ

“บางครั้งการอยู่เฉย ๆ ก็อาจจะดีกว่าการดิ้นรน หรือ ไล่ล่าหาผลตอบแทนก็เป็นไปได้”

ข้อสำคัญอีกประการคือ หากเราขาดทุนมาก ๆ จากความผันผวนที่สูง ๆ การ “เอาคืน” หรือ การที่เราจะต้องทำกำไรให้มากขึ้น เพื่อให้พอร์ตกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ก็มักจะกินเวลา และต้องหาผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น เอาเป็นว่า เสี่ยงน้อยกว่า ก็ขาดทุนน้อย และก็มีโอกาสที่จะได้กำไรมากกว่าในระยะยาวครับ

ถึงแม้จะเป็นกองทุนที่เปิดมาได้เพียง 3-4  ปี แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ไม่น้อยหน้าใคร โดยกองทุนนี้ก็จะมีการคัดเลือกหุ้นที่มีขนาด เล็ก-กลาง ด้วยกลยุทธ์ในการเลือกหุ้นแบบ Low-beta หรือ แนวคิดการคัดเลือกหุ้นที่มีความสัมพันธ์ขึ้น-ลงตามดัชนีตลาดต่ำ หรือเป็นแนวทางการลงทุนในหุ้นประเภท Defensive หรือหุ้นที่ไม่ผันผวนตามตลาดเท่าไรนัก

ในต่างประเทศมีแนวคิดจากผู้จัดการกองทุนหลายท่านที่บอกว่า การลงทุนด้วยสไตล์ Low-beta นี่แหละ ทำให้ผลตอบแทนระยะยาว ๆ นั้น ดีกว่าการลงทุนแบบอื่น ๆ เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ไม่ได้ผันผวนตามตลาดหุ้นเสียเท่าไหร่ และมีพื้นฐานดี ซึ่งต่อให้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังมีโอกาสทำกำไรได้ หรือ โอกาสที่จะปรับตัวลดลงแบบหนัก ๆ ไม่ค่อยมี ดังนั้น หุ้นประเภทนี้จะมีข้อดีตรงที่ว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนหรือ ตลาดหุ้นเป็นขาลง ราคาของหุ้นประเภทนี้ก็อาจจะไม่ลงตามไปมาก หรือ เรียกได้ว่าไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้น หรือ ลง ก็ยังคงทำผลตอบแทนได้ดี ไม่แพ้กองทุนอื่น ๆ เลยครับ

โดยถ้า พิจารณาในระบบการเลือกกองทุนสไตล์  “คลินิกกองทุน” (2R 2S 2F) แล้วละก็น่าสนใจมากครับ

2R = Risk + Return

Return + Risk นั้น ทำได้ดีทีเดียวครับ คือ สามารถเอาชนะกองทุนที่เป็นระดับ Top ด้วยกันได้อย่างสบาย และยังมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุน SET 50 ที่เป็นกองทุนดัชนีด้วยครับ

return t-lowbeta pic

T-LowBeta vs Set50

ภาพเปรียบเทียบความผันผวน ระหว่างกองทุน T-LowBeta (สีส้ม) กับ กองทุน SET50 (สีแดง)

ถ้ามาดูที่ความผันผวนจะเห็นชัดเจนครับ ว่าเวลาตลาดปรับตัวลดลงแรงๆ กองทุนนี้ก็จะมีการผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยพอสมควรครับ

2S = Style + Selective

ส่วนสไตล์การลงทุน และแนวทางการเลือกหุ้นนั้น ก็น่าสนใจมากครับ เรามาดูกันครับ ว่ากองทุนนี้เลือกหุ้นอะไรไว้ในพอร์ตการลงทุนกันบ้างครับ

top5 t-lowbeta

ซึ่งผมเองในตอนที่เห็นพอร์ตการลงทุนของกองทุนนี้นั้น มันเหมือนกับ เจอเนื้อคู่ครับ เพราะว่าหุ้นในพอร์ตของกองทุนนั้น มีหุ้นที่ผมค่อนข้างจะถูกใจรวมกันอยู่เยอะมากครับ เอาเป็นว่า 5 ใน 10 นั้นเป็นหุ้นที่ผมเองก็ลงทุนอยู่แล้วด้วย (ใจตรงกันเลย)

โดยหุ้นในกลุ่มนี้ จะมีอะไรคล้าย ๆ กัน และ เป็นหุ้นที่มีความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย หรือ ที่เราเรียกว่า Low Beta นั่นเองครับ โดยหุ้นจะมีลักษณะดังนี้ คือ

  1. มักจะเป็นหุ้นที่มี Business Model ที่ดี และมีความผูกขาดทางการค้า
  2. หุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีพื้นฐานทางการเงินที่ดี
  3. เมื่อนำหุ้นเหล่านี้เข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนแล้ว จะทำให้พอร์ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลตอบแทนสูงขึ้น ความเสี่ยงต่ำลง และมี Sharpe ratio สูงขึ้น
  4. หุ้นกลุ่มนี้ได้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีมาก ทำให้ต้นทุนที่ลงทุนไม่ลดลงต่ำมากไป
  5. เป็นหุ้นที่มักจะมีกระแสเงินสดอยู่มาก และมีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

และกองทุนนี้เองก็เลือกหุ้นได้ค่อนข้างหลากหลายกลุ่มครับ กระจายความเสี่ยงพอสมควรเลยครับ โดยถือหุ้นประมาณ 34 ตัว (ข้อมูลจาก Website Morningstar Thailand ณ วันที่ 21/6/59) เห็นไหมครับ สไตล์การลงทุนนั้น คงพอจะตอบได้แล้วนะครับ ว่าทำไมกองทุน T-LowBeta จึงน่าสนใจ

นอกจากนี้ Feature ของกองทุนก็น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เป็นกองทุนที่มี Auto Redemption หรือที่เราเรียกว่า การขายคืนอัตโนมัติ ครับ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับการปันผล แต่ว่าจะ เป็นการขายหน่วยลงทุนออกมาแทน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล 10% อย่างที่กองทุนปันผลปกติครับ และถ้าเราไม่ต้องการที่จะขายด้วยวิธีนี้ ก็สามารถแจ้งให้คงเงินไว้ในกองทุนต่อได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องขายออกมาตามที่ทาง บลจ. แจ้งครับ

และยังมีการลงทุนขั้นต่ำไม่สูง เหมาะกับคนที่มีเงินน้อย แต่อยากลงทุนระยะยาว แบบค่อย ๆ สะสมไปครับ

ส่วน 2F ที่เหลือคือ Fee + Fund Manager

ค่าธรรมเนียม (Fee) ผมถือว่าค่อนข้างที่จะเป็น ข้อจำกัด ของกองทุนนี้เพียงอย่างเดียวเลยละครับ ซึ่งผมมองว่ามี ราคา ค่าตัวค่อนข้างแพงมาก โดยอยู่ที่ค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือ TER = 2.328% (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558) ซึ่งนักลงทุนก็ควรที่จะพิจารณาว่า ด้วยค่าธรรมเนียมแบบนี้ ถ้าลงทุนระยะยาว ๆ แล้วจะคุ้มหรือไม่ครับ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมว่าแพงไปหน่อยครับ

Fund manager นั่นก็คือ คุณบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ และทีมงาน ซึ่งถือว่าเป็นทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์สูง มีแนวคิดการลงทุนที่ดี ซึ่งผมเองก็ติดตามผลงานของพี่บุญชัยอยู่เรื่อยๆ จากบทความ และรายการต่างๆ ถ้าใครสนใจก็ไปติดตามบทความจากพี่บุญชัยได้ที่ Posttoday หรือไม่ก็ ลองดูใน Youtube ก็ได้ครับ รับรองว่ามี clip ดี ๆ ที่พี่บุญชัยมาให้ความรู้ มุมมองการลงทุนแบบฟรี ๆ อีกด้วยครับ

ก่อนจากกันไป ผมขอฝากให้นักลงทุนทุกท่าน ที่จะลงทุนกับกองทุนหุ้นครับ ว่าผมอยากให้ทุกท่านมีการวางแผนให้ดีก่อนการลงทุน โดยการบริหารสภาพคล่องก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้จัก Money Management ด้วย อย่าเน้นการลงทุนในกองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว

และเพิ่มความระมัดระวัง ก่อนลงทุน โดยอย่าพยายามขาดทุน ไม่ต้องใจร้อนรีบลงทุน ตราบใดที่เงินยังอยู่ในมือ มันไม่หายไปไหนแน่ ๆ ถ้าลงทุนแล้วขาดทุนเร็ว ขาดทุนเยอะ เวลาเอาคืนมันยากมากครับ

สุดท้าย อย่าซื้อกองทุนจากการแนะนำของคนอื่น ต่อให้เป็นกูรูก็เถอะครับ อย่าไปไว้ใจ 55+ ศึกษาให้ดีก่อนนะครับ ไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่ผมเขียนมา ต้องไปดูข้อมูลต่างๆ ให้เห็นด้วยตาก่อน แน่นอนว่าบทความนี้ ผมอยากให้นักลงทุนได้เห็นแนวทางการคัดเลือกกองทุน และวิธีการอย่างคร่าว ๆ ว่า เราควรจะพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการลงทุนเท่านั้นครับ

ขอให้ทุกท่านมีวินัย และโชคดีในการลงทุน แล้วพบกันครั้งหน้าครับ