ในโลกของการลงทุน มีคำกล่าวที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานว่า “Sell in May and Go Away” หรือ “ขายในเดือนพฤษภาคม แล้วหนีไปเลย” แนวคิดนี้สะท้อนความเชื่อที่ว่าตลาดหุ้นมักจะดิ่งลงในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวที่สุดสำหรับนักลงทุนจริงหรือ?

เราได้ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลังกว่า 100 ปี และพบว่ามีอีก 1 เดือนที่อาจเป็น ‘ฝันร้าย’ ตัวจริงของตลาดหุ้น นั่นก็คือ ‘เดือนกันยายน’ ช่วงเวลาที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น “เดือนที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด” แต่เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เดือนกันยายนกลายเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

วันนี้จะพาคุณไปไขปริศนาเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ พร้อมนำเสนอข้อมูลที่เราได้วิเคราะห์จากสถิติย้อนหลังกว่าหนึ่งศตวรรษ!

ผลตอบแทนเฉลี่ย S&P 500 ในแต่ละเดือน ตั้งแต่ปี 1928-2023

จากข้อมูลของ Yardeni Research ซึ่งแสดงผลตอบแทนย้อนหลังของดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 1928 – 2023 พบว่าในรอบ 1 ปี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะปรับตัวสูงขึ้น 9 ใน 12 เดือน อย่างไรก็ตาม มี 3 เดือนที่มักจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ ได้แก่ กุมภาพันธ์ พฤษภาคม และเดือนที่ถูกกล่าวว่าเป็นฝันร้ายของนักลงทุนนั่นก็คือกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่ S&P 500 ปรับตัวลงมากที่สุด

ปรากฏการณ์ปรับตัวลดลงของตลาดในเดือนกันยายนนี้ เรียกว่า “September Effect” ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายในวงการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำที่บอกให้ขายหุ้นในเดือนพฤษภาคมแล้วรอกลับมาซื้อใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงอาจไม่ถูกต้องเสมอไป (Sell In May And Go Away) เนื่องจาก S&P 500 มักจะมีการเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

ผลกระทบกระจายทั่วโลก

จากกราฟของ Bloomberg แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกและดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายนของแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023

จะเห็นได้ว่าดัชนี MSCI All-Country World Index ซึ่งแทนค่าดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก (กราฟแท่งสีดำ) ส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือนกันยายนของทุกปีที่แสดงในกราฟ (4 ใน 5 ปี) ยกเว้นปี 2019 ที่มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

สาเหตุที่อยู่เบื้องหลัง September Effect

September Effect เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ โดยดัชนี S&P 500 มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยประมาณ -1.17% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ ซึ่งทาง Finnomena ได้รวบรวมปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ September Effect ไว้ดังนี้

  1. ปัจจัยทางจิตวิทยาและพฤติกรรมการลงทุน

เดือนกันยายนมักถูกมองว่าเป็นช่วงที่นักลงทุนเริ่มประเมินผลการดำเนินงานของปี และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับพอร์ตโฟลิโอก่อนสิ้นปี การที่นักลงทุนบางส่วนเลือกที่จะขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรหรือเพื่อลดความเสี่ยงในพอร์ต ทำให้เกิดแรงขายในตลาด ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 มีแนวโน้มลดลงในเดือนนี้

  1. การปรับตัวหลังจากช่วงฤดูร้อน

ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมักเป็นช่วงที่ตลาดมีการเติบโต เนื่องจากนักลงทุนได้รับแรงสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ หลังจากนั้นในเดือนกันยายน ตลาดอาจเกิดการปรับตัวตามธรรมชาติเนื่องจากแรงขายที่เกิดจากการทำกำไรของนักลงทุน

  1. การปิดงบประมาณของสถาบันการเงิน

สถาบันการเงินหลายแห่งมักจะปิดงบประมาณในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งอาจอยู่ในเดือนกันยายน การปรับพอร์ตโฟลิโอหรือการขายสินทรัพย์เพื่อทำให้พอร์ตมีความสมดุลมากขึ้นอาจส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ลดลงในเดือนนี้

  1. การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ

เดือนกันยายนมักเป็นช่วงเวลาที่มีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ตัวเลขการจ้างงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น หากตัวเลขเหล่านี้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจขายหุ้น ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ลดลง

  1. ฤดูกาลซื้อขายที่เงียบลง

เดือนกันยายนเป็นช่วงที่ฤดูกาลซื้อขายเงียบลงหลังจากช่วงฤดูร้อน นักลงทุนอาจเลือกที่จะรอดูสถานการณ์ก่อนเข้าซื้อหรือขายสินทรัพย์ ซึ่งทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น และอาจเกิดการปรับฐานได้ง่ายกว่าในเดือนอื่น ๆ

ปีนี้อาจไม่เป็นไปตามสถิติที่ผ่านมา

เนื่องจากการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ อาจเป็นจุดชี้วัดทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต่างจับตาการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเหล่านี้ รวมไปถึงการประชุม FOMC วันที่ 17 – 18 กันยายนนี้ โดย Finnomena Funds ได้รวมรวมเหตุการณ์สำคัญที่น่าจับตาไว้แล้ว ดังต่อไปนี้

3 กันยายน: ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการ

ดัชนี PMI เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการประเมินภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาคการผลิตและการบริการ โดยจะสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต หากตัวเลข PMI ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ

6 กันยายน: อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) 

อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา บ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.2% ชะลอตัวลงจากในช่วงเดือนกรกกฎาคมที่ระดับประมาณ 4.3% 

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศตัวเลขอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเดือนสิงหาคม โดยตลาดคาดว่าอยู่ที่ระดับ 0.3% (MoM) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากในช่วงเดือนก่อนหน้า (MoM) เดือนกรกกฎาคมที่ 0.2% ซึ่งจะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้น และอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

11 กันยายน: ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

หากตัวเลขเงินเฟ้อมีการปรับลดลง จะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สอดคล้องกับท่าทีของ Jerome Powell ประธาน Fed ที่ส่งสัญญาณถึงการลดดอกเบี้ยในการประชุมที่ Jackson Hole เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

18 กันยายน: การประชุม FOMC 

การตัดสินใจของ Fed ในการ ‘ปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ย’ ในการประชุม FOMC จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจาก Fed ได้ทำการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาตลอด 2 ปี หาก Fed ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก


ที่มา: Bloomberg, Bloomberg, CME Group, Fisher Investments, Fool, Investopedia, Statista, Yahoo Finance