best-au

ณ เวลานี้ ชั่วโมงนี้ คงไม่มีร้านขนมหวานในประเทศไทยที่ดังไปกว่า After You (อาฟเตอร์ยู) อีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะไปที่สาขาไหนก็จะเห็นผู้คนต่อคิวรอเข้าร้านกันอย่างล้นหลามแทบทุกสาขา จนเกิดเป็นคำถามให้สงสัยกันว่าอาฟเตอร์ยูทำได้อย่างไรที่ถึงแม้จะเพิ่มจำนวนร้านมากขึ้นแต่คนก็ยังคงมากินขนมหวานกันเหมือนเดิม

ต้องย้อนเวลากลับเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ (เมย์) รองกรรมการผู้จัดการอาฟเตอร์ยูในวันนั้นยังคงเป็นเด็กมัธยมปลายที่หลงรักการทำอาหาร เธอเกิดในยุคที่ขนมหวานส่วนใหญ่ถูกขายในรูปแบบชิ้นแห้งๆ คาเฟ่ขนมหวานที่มีอย่างเกลื่อนกลาดในยุคนี้ไม่ใช่ของหาง่ายในยุคนั้นเลย เธอเริ่มต้นศึกษาและหัดทำขนมหวาน ด้วยอยากจะมีร้านขนมหวานคาเฟ่ที่มีการผสมตัวอย่างกลมกล่อมระหว่างวัตถุดิบร้อนอย่างขนมอบและวัตถุดิบเย็นอย่างไอศกรีมได้อย่างลงตัว

เธอหลงรักการทำขนมหวานอย่างหัวปักหัวปำ

เมื่อเธอเรียนจบ เธอตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อต่างประเทศเพราะความฝันในหัวเธอชัดเจนตั้งแต่เด็กแล้ว เมย์ปรึกษาพ่อแม่เพื่อจะทำร้านขนมหวานของตนเอง แต่ทางครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย เธอได้มาเปิดร้านขายอาหารทะเลแทน เพราะครอบครัวเธอมีธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเล

ไม่มีความสุขเมื่อไม่มีขนมหวาน

เธอยังยืนกรานที่จะทำตามความฝันที่จะมีร้านขนมหวานเป็นของตัวเองให้ได้ ภาพที่เธอมองเห็นตั้งแต่มัธยมปลายยังชัดเจนอยู่เหมือนเดิม เธอตัดสินใจปรึกษาพี่ชายของเธอ แม่ทัพ ต.สุวรรณ และร้านอาฟเตอร์ยูร้านแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างสองพี่น้อง จากความรักของเธอได้กลายมาเป็นรูปธรรมในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550

จากวันนั้นจนวันนี้

10 ปีผ่านไปจากขนมหวาน 1 ร้านกลายเป็น 20 ร้าน อาฟเตอร์ยูกลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์เพราะเป็นร้านขนมหวานเต็มรูปแบบเพียงอย่างเดียวที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเสนอขายหุ้น IPO ที่ราคา 4.5 บาทจากราคาพาร์ 0.1 บาท โดยหุ้นวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 13.5 บาทหรือบวกกว่า 200% ภายในวันเดียว

เพียงชั่วข้ามคืนกิจการมูลค่า 81,562,356 บาทกลายเป็น 11,010,918,073 บาท แปดสิบล้านเป็นหมื่นล้านจากความฝันของเด็กผู้หญิงม.5 คนหนึ่งที่ชอบและหลงรักการทำขนมหวานในวันนั้น

ปี 2557 บริษัทมีรายได้ 311.60 ล้านบาท
ปี 2558 บริษัทมีรายได้ 414.86 ล้านบาท
ปี 2559 บริษัทมีรายได้ 608.39 ล้านบาท

โดยในปี 2559 บริษัททำกำไรสุทธิได้ถึง 98.77 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับอัตรากำไรสุทธิ 16.23 เปอร์เซ็นต์

ขนมหวานถ้วยหนึ่งมีต้นทุนเท่าไหร่บ้าง

เมื่อลองพิจารณาโครงสร้างงบการเงินของบริษัท พบว่าหากเปรียบเทียบขนมหวานถ้วยละ 100 บาทจะประกอบไปด้วยต้นทุนค่าขนม 35.80 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารงาน 43.17 บาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและภาษี 4.79 บาท เหลือเป็นกำไรที่ 16.23 บาทต่อขนมหวานถ้วยละ 100

หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาฟเตอร์ยูมีแผนการขยายสาขาอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนขยายตัวไปตามแหล่งสำคัญในกรุงเทพ และเปิดตัวสาขาใหม่ไปตามหัวเมืองสำคัญในต่างจังหวัด

คงต้องเฝ้าติดตามชมว่าขนมหวานหมื่นล้านจะก้าวไปถึงจุดไหน

แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือจากวันนั้นจนวันนี้ อาฟเตอร์ยูกลายเป็นกิจการมูลค่าหมื่นล้านบาทได้มาจากสิ่งเดียวที่เรียกว่า “ความรัก” หรือ “passion” ในการทำขนมหวานของผู้ก่อตั้งอย่างคุณเมย์

ถ้าเธอล้มเลิกไปเสียก่อน คงไม่มีอาฟเตอร์ยูในวันนี้ ถ้าเธอยอมหันเหชีวิตไปขายอาหารทะเลอย่างที่พ่อแม่เธอต้องการ คากิโกริเลื่องชื่อคงไม่มีโอกาสได้วางขายอยู่ในปัจจุบัน

บางครั้งเราคงอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่า ความฝันเราคืออะไร และมันมีคุณค่ามากพอให้ต่อสู้เพื่อที่จะให้ได้มาหรือเปล่า
ไม่แน่ ตำนานเรื่องจากรักสู่หมื่นล้านเรื่องต่อไปอาจจะเป็นความฝันของคุณก็ได้ ใครจะรู้

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

TSF2024