ผมจะให้ลูกของผมเล่นเกม - Mark Zuckerberg

เกมดูจะเป็นปัญหาของการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งมานานแสนนาน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเห็นของคนในสังคมค่อนข้างกว้างและไม่ได้ชี้ชัดไปในทางเดียวกัน บางคนมองว่าเล่นได้ ในขณะที่บางคนมองว่าเล่นไม่ได้เลย จนเกิดเป็นคำถามค้างคาในใจคนหลายคนว่าเกมนี่ดีจริงไหม และคนเล่นเกมนี่ประสบความสำเร็จได้จริงไหม

คนเล่นเกมที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมีหรือเปล่า?

เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ผู้ชายคนหนึ่งได้โพสภาพเกมภาพ 3 มิติแบบ Virtual Reality ลงในสื่อสังคมออนไลน์ช่องทางของตนเอง ก่อนที่จะมีคนเข้าตั้งคำถามไว้ว่า…

“Would you recommend your kids to play this kind of games? I admire you however this kind of games are danger for our future!” – “คุณจะแนะนำให้ลูกเล่นเกมประเภทนี้จริงเหรอ ผมนับถือคุณ แต่อย่างไรก็ตาม เกมประเภทนี้มันเป็นอันตรายต่ออนาคตของพวกเรา!”

ชายผู้นั้นได้ตอบกลับไปอย่างน่าสนใจว่า…

“I would absolutely let my children play games. That’s how I got into computers and programming when I was 10 years old. Without games, I wouldn’t be where I am today.” – “ผมจะให้ลูกของผมเล่นเกมอย่างแน่นอน การเล่นเกมทำให้ผมเริ่มเรียนรู้คอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ถ้าไม่มีเกม ผมก็ไม่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ในทุกวันนี้”

เรื่องราวนี้คงจะเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมาก หากชายผู้ตอบคำถามคนนั้นไม่ใช่ Mark Zuckerberg มหาเศรษฐีอันดับห้าของโลกในปี 2017 ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง facebook ที่ปฎิวัติวงการสื่อไปทั่วโลก

Mark Zuckerberg ผู้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ยังแนะนำให้ลูกของเขาเล่นเกม เป็นไปได้ไหมที่เกมจะไม่ได้เป็นทั้งสิ่งดีหรือสิ่งร้าย เป็นไปได้ไหมที่การเล่นเกมจะมีประโยชน์หรือโทษขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและตัวบุคคลเอง

การเล่นเกมอาจจะไม่ใช่ภัยร้าย หากอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและตั้งอยู่บนความพอดี การนำตัวอย่างของผู้ประสบความล้มเหลวเพียงคนหนึ่งมาตัดสินใจคนทุกคนบนโลกใบนี้ดูท่าจะเป็นความคิดที่ง่ายไปเสียหน่อย

หากคนเพียงคนเดียวสามารถตัดสินทุกคนบนโลกได้แล้ว การอ่านหนังสือก็คงเป็นมหันตภัยได้เช่นกัน เพราะผู้ก่อการร้ายจำนวนมากก็เรียนรู้วิธีการสร้างขีปนาวุธจากการอ่านหนังสือนี่แหละ

ลงทุนศาสตร์ – Investerest