9 ข้อคิดทางธุรกิจและการลงทุน จากหนังสือ The Dhandho Investor

Dhandho เป็นคำในภาษากุจาราตี Dhan มาจาก Dhana แปลว่าความมั่งคั่ง ถ้าแปลตรงตัว ดันโดจะแปลว่า “ความพยายามสร้างความมั่งคั่ง” แต่ถ้าเป็นภาษาพูด ดันโดจะแปลว่าธุรกิจซึ่งก็อาจจะให้ความหมายโดยนัยที่ไม่ต่างกัน

โมนิช พาบราย ผู้แต่งหนังสืออธิบายหลักการลงทุนแบบดันโด ผ่านตัวอย่างหลายคน อย่างเช่น การบริหารโรงแรมของกลุ่มพาเทลซึ่งบริหารธุรกิจโดยกู้เงินมาซื้อกิจการและบริหารต้นทุนอย่างต่ำที่สุด การสร้างธุรกิจสไตล์ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของเครือเวอร์จิ้นกรุ๊ปที่เน้นการสร้างแบรนด์ โดยใช้ต้นทุนทางเงินทุนต่ำ จับกลุ่มตลาดที่ชัดเจน รวมไปถึงการลงทุนแนวเน้นคุณค่าของวอร์เรน บัฟเฟตและชาลี มังเกอร์ซึ่งก็เป็นลักษณะของดันโดไม่แตกต่างกัน

หลักแนวคิดแบบดันโดที่มีประยุกต์ใช้ในการลงทุนและการทำธุรกิจ

1. มุ่งเน้นไปที่การซื้อธุรกิจซึ่งมีการดำเนินงานอยู่แล้ว

ธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วทำให้สามารถเข้าใจธุรกิจได้ง่าย คาดการณ์อนาคตได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีประวัติย้อนหลังอันยาวนานจะยิ่งทำให้ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในอนาคตไปได้อีก

ยกตัวอย่างเช่นบริษัทประกัน GEICO ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1936 แต่กว่าที่วอร์เรน บัฟเฟตจะตัดสินใจควบรวมกิจการเข้ากับเครือของเบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ก็เป็นปี 1996 ซึ่งเป็นเวลากว่า 60 ปีที่บริษัทได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นธุรกิจที่ดีเยี่ยมและผ่านมาได้ทุกสถานการณ์ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงสงครามเย็น

2. ซื้อธุรกิจที่เรียบง่ายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ธุรกิจที่เรียบง่ายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเป็นที่มาของความเสี่ยงที่ต่ำ ถึงแม้ว่าจะอยู่ช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดของพาเทลที่เป็นกิจการที่เรียบง่ายมาก และมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากเช่นกัน

3. ซื้อธุรกิจที่มีปัญหาในอุตสาหกรรมซึ่งกำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก

การซื้อธุรกิจที่มีปัญหาในอุตสาหกรรมที่กำลังย่ำแย่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถได้มาซึ่งสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำมาก และกลายเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยมในที่สุด

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดของชาวพาเทล ถึงแม้ว่าชาวพาเทลจะอยากมีธุรกิจโรงแรมของตัวเองมากแค่ไหน แต่ราคาโรงแรมในสหรัฐอเมริกาก็ถือว่าแพงมาก ไม่สามารถซื้อมาบริหารกันได้ง่ายๆ แต่ชาวพาเทลก็รอจนถึงเวลาที่เหมาะสมจึงเข้าซื้อ อย่างมณีลาล พาเทลก็ซื้อโรงแรมหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ส่วนปาปา พาเทลก็ซื้อโรงแรมในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรน้ำมัน

4. ซื้อธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันยั่งยืน

การซื้อธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนคือหัวใจหนึ่งของดันโด เพราะการลงทุนในภาวะวิกฤตอาจจะนำมาซึ่งการล่มสลายอย่างแท้จริงก็ได้หากบริษัทนั้นไม่ได้แข็งแกร่งจริงอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ Nebraska Furniture Mart ที่วอร์เรน บัฟเฟตซื้อกิจการมาจากคุณนายบี ถึงแม้ว่าธุรกิจค้าปลีกอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำได้ยากมากมายนัก แต่ NFM กลับมีผลกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะกิจการเน้นกลยุทธ์ต้นทุนต่ำที่ผู้อื่นแข่งขันได้ยาก กิจการก็สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและคุ้มค่าการลงทุน

5. เดิมพันหนักเมื่อคุณมีแต้มต่ออย่างชัดเจน

หัวใจของการลงทุนแบบดันโดคือการลงทุนไม่บ่อย แต่เมื่อจะลงทุนต้องมีโอกาสชนะเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าผลตอบแทนเปิดช่องมหาศาล ในขณะที่ความเสี่ยงในการขาดทุนมีเพียงนิดเดียว อย่างที่เรียกว่าออกหัวผมได้เงิน แต่ออกก้อยผมเสียเงินนิดหน่อย

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือธุรกิจโรงแรมของพาเทล พาเทลซื้อโรงแรมโดยการกู้ธนาคารและเอาโรงแรมเป็นหลักประกันค้ำไว้ โดยเขาใส่เงินตัวเองเข้าไปน้อยมาก ในกรณีที่โรงแรมประสบความสำเร็จ เขาก็ได้กำไรมหาศาลเพราะแทบไม่ได้ลงเงินอะไรเลย แต่ถ้าโรงแรมล้มเหลว เขาก็แค่ถูกยึดโรงแรม ซึ่งในความเป็นจริง เขาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของมันตั้งแต่แรกแล้ว

6. มองหาโอกาสทำอาร์บิทราจ (Arbitrage)

การอาร์บิทราจหมายถึงการซื้อสินทรัพย์หนึ่งในตลาดที่ราคาถูกกว่าและไปขายในตลาดที่ราคาแพงกว่า เรียกว่าเป็นการหากำไรจากการบิดเบือนของราคา แต่ในทางธุรกิจ การทำอาร์บิทราจหมายถึงการลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนดีเกินกว่าปรกติ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุด กิจการนั้นจะค่อยๆ กลับไปหาค่าเฉลี่ย แต่ระหว่างนั้นการลงทุนก็สร้างกำไรได้มากมาย

ตัวอย่างเช่นธุรกิจสายการบิน Virgin Atlantic ของริชาร์ด แบรนสันที่ใช้การเช่าเครื่องบินจากโบอิ้งแทนการซื้อ ทำให้ลดเงินทุนหมุนเวียนไปอย่างมาก แถมยังใช้เงินจองตั๋วล่วงหน้ามาหมุนเวียนก่อนไปจ่ายค่าเชื้อเพลิงและพนักงานในภายหลัง ถึงแม้ว่าต่อมาโมเดลการเช่าเครื่องบินมาใช้ในสายการบินจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและปิดช่องว่างทางธุรกิจลง แต่ระหว่างนั้น เขาก็สร้างผลกำไรไปอย่างมากมายมหาศาลแล้ว

7. ซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก

การลงทุนในราคาถูกมากคือเคล็ดลับความสำเร็จของนักลงทุนแนวดันโดทุกคน การซื้อกิจการหรือลงทุนในธุรกิจใดๆ อาจจะกลายเป็นการตัดสินใจยอดแย่ที่ราคาหนึ่ง แต่เป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมที่อีกราคาหนึ่งได้เลย

ยกตัวอย่างเช่นการซื้อหุ้นวอชิงตันโพสต์ของวอร์เรน บัฟเฟต เขาเข้าซื้อหุ้นเมื่อมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญ ด้วยการที่เขามองว่าธุรกิจนี้จะมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าหุ้นจะตกไปอยู่แถว 80 ล้านเหรียญถึงสองปี แต่สุดท้ายแล้ว ราคาก็วิ่งไปเข้าใกล้มูลค่าและสร้างผลตอบแทนให้กับเขาอย่างมากมาย

8. มองหาธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำแต่มีความไม่แน่นอนสูง

ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำจะทำให้บริษัทพ้นวิกฤตไปได้ในช่วงที่กิจการมีความไม่แน่นอนจนทำให้ราคาตกต่ำลงอย่างมากมาย

ยกตัวอย่างเช่นการเข้าซื้อหุ้น American Express ตอนวิกฤตน้ำมันสลัด ถึงแม้ว่าตอนนั้นธุรกิจจะมีความไม่แน่นอนสูงมากจากหนี้เสียปริมาณมหาศาล แต่ธุรกิจหลักของ AMEX ก็ยังคงดีอยู่เหมือนเดิม ผู้คนยังใช้เช็คเดินทางของบริษัท และการลงทุนครั้งนั้นก็กลายเป็นตำนานของบัฟเฟต

9. การเลียนแบบดีกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

การเลียนแบบนั้นช่วยทำให้ความเสี่ยงของการเริ่มต้นใหม่ลดลงอย่างมาก ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนแนวดันโดที่ชอบความเสี่ยงต่ำโปรดปราน

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจ McDonald’s ที่เรย์ ครอคสนใจธุรกิจแฮมเบอร์เกอร์แนวฟาสฟู๊ดที่เปลี่ยนรูปแบบจากการกินที่รถมาเป็นซื้อกินที่หน้าร้าน รวมถึงมีการศึกษาและวางแผนการทำงานในครัวให้มีประสิทธิภาพในทรัพยากรที่จำกัด เรย์ ครอคตัดสินใจซื้อแมคโดนัลล์แทนที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาแข่งขัน

สรุปโดยภาพรวม การลงทุนแนวดันโดจึงประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ

ลงทุนในธุรกิจที่สุดยอด ในราคาที่ยอดเยี่ยม และวางเงินเดิมพันหนักๆ เมื่อมีแต้มต่ออย่างชัดเจน ด้วยแนวคิดที่ว่า ออกหัวผมได้เงิน ออกก้อยผมเสียเงินนิดหน่อย!

หมายเหตุ: The Dhandho Investor มีเวอร์ชั่นแปลไทย ในชื่อ “นักลงทุนดันโด”

ลงทุนศาสตร์ – Investerest