แก่นสำคัญ 5 ข้อ ของหนังสือ The Intelligent Investor

The Intelligent Investor เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ Benjamin Graham ผู้ได้รับชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวงการนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ Value Investors

ผลงานเล่มก่อนหน้าที่สำคัญมากของเบนจามิน เกรแฮม คือ หนังสือที่ชื่อว่า Security Analysis ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนังสือเล่มที่ปฏิวัติวงการนักลงทุน เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่กล่าวถึงการลงทุนแนวเน้นคุณค่าซึ่งมองหุ้นเป็นธุรกิจ

ก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ หุ้นมักถูกซื้อขายจากการเก็งกำไรเป็นหลัก โดยอาศัยการใช้การเคลื่อนไหวของราคาในอดีตมาทำนายการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคต ซึ่งมีทฤษฎีที่โด่งดังในยุคนั้นอย่าง Dow’s Theory ที่ถูกเผยแพร่และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงปี 1900

Security Analysis เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1934 ผ่านการเขียนของ เบนจามิน เกรแฮม และ เดวิด ดอจ์ด ศาสตราจารย์แห่ง Columbia Business School หนังสือเล่มนี้เล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เพราะเบนชี้ให้นักลงทุนสนใจไปถึงข้อมูลในงบการเงิน อย่างกำไรต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาต่อกำไร แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ขึ้นชื่อถึงความยากและความหนาที่เหมาะกับการเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่าที่นักลงทุนทั่วไปจะซื้อมาอ่านศึกษาเป็นงานอดิเรก

ผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นจึงถือกำเนิดในช่วงเวลาผ่านไป 15 ปี The Intelligent Investor ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกโดยการประพันธ์ของเบน เกรแฮม ครั้งนี้ เนื้อหาวิชาการถูกย่อยและเรียบเรียงด้วยภาษาที่ง่ายขึ้น จำนวนหน้าที่น้อยลง จนเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และวอร์เรน บัฟเฟต นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลกให้คำนิยามหนังสือเล่มนี้ว่า “นี่คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุด”

หนังสือเล่มนี้พูดถึงมุมมองด้านการลงทุนไว้อย่างล้ำค่า โดยแก่นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้อย่างเป็นอมตะมีอยู่ 5 เรื่องสำคัญด้วยกัน

1. ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนและนักเก็งกำไร

เบน เกรแฮมพยายามจะบอกทุกคนว่าคนที่ทำเพียงซื้อและขายหุ้นไม่อาจนับเป็นนักลงทุนได้ การลงทุนคือการกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์อย่างละเอียดซึ่งจะปกป้องเงินต้นและสร้างผลตอบแทนในระดับพอเพียง การกระทำใดที่ไม่เข้าเกณฑ์ถือเป็นการเก็งกำไร

หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากถึงมากที่สุด โดยเบน เกรแฮมพยายามจะเน้นย้ำให้นักลงทุนคิดให้ช้าและละเอียด โดยจะยกเอาสถานการณ์ฟองสบู่มากมายที่เกิดขึ้นในสหรัฐมาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้านักลงทุนย่อหย่อนในวินัยจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นฟองสบู่หุ้นสายการบิน ฟองสบู่หุ้นโทรคมนาคม ฟองสบู่หุ้น Nifty Fifty ฟองสบู่ดอทคอม ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทยอยเพิ่มตัวอย่างจากสถานการณ์เพิ่มขึ้นจากการทบทวนเพื่อตีพิมพ์แต่ละครั้ง

2. นักลงทุนเชิงรุกและเชิงรับ

นอกจากเบน เกรแฮมจะแนะนำให้ลงทุนอย่างนักลงทุนแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือเบน เกรแฮมแบ่งนักลงทุนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ นักลงทุนเชิงรับซึ่งมีเวลาและความรู้ค่อนข้างน้อย เน้นผลตอบแทนไม่มากความเสี่ยงต่ำ และนักลงทุนเชิงรุกซึ่งมีเวลาและความรู้ในการติดตามหุ้น แสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้นตามการทุ่มเท

โดยเบน เกรแฮมแนะนำให้นักลงทุนเชิงรับลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ กองทุนรวมซึ่งแนะนำกองทุนดัชนี รวมไปถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีสถานะทางการเงินมั่นคง นอกจากนี้ เบน เกรแฮมยังแนะนำให้ลงทุนแบบ DCA เพื่อลดปัญหาจากการจับจังหวะตลาดที่อาจจะผิดพลาด

ในขณะที่นักลงทุนเชิงรุกเหมาะกับหุ้นโตเร็ว ซึ่งนิยามไว้ว่ามีการเติบโตของกำไรสุทธิมากกว่าเท่าตัวภายในเวลา 10 ปี โดยเน้นการมองหาหุ้นที่ตลาดยังไม่รับรู้ และซื้อในจังหวะที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการทุ่มเทให้กับการลงทุน

3. ความผันผวนของนายตลาด

เบน เกรแฮมอุปมาการลงทุนในหุ้นเหมือนการทำกิจการร่วมกับเพื่อนที่มีอารมณ์แปรปรวนคนหนึ่งชื่อว่า Mr. Market หรือนายตลาด วันไหนที่นายตลาดอารมณ์ดี นายตลาดจะมาเสนอขายธุรกิจที่เขาทำร่วมกับคุณในราคาแพง เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้ดีมาก ในขณะที่วันไหนอารมณ์ไม่ดี นายตลาดจะมาเสนอขายธุรกิจที่เขาทำร่วมกับคุณในราคาถูก สิ่งที่นักลงทุนต้องทำคือจัดการกับนายตลาดให้อยู่หมัด ซื้อกิจการเมื่อมันถูกเกินจริง และขายกิจการออกไปเมื่อมันแพงเกินจริง เพื่อทำกำไรจากนายตลาดนั่นเอง

4. การประเมินมูลค่า

หนังสือเล่มนี้แทบจะกลายเป็นคัมภีร์ของการลงทุนแนวเน้นคุณค่าไปแล้ว โดยหนังสือเล่มนี้เล่าถึงการประเมินมูลค่าหุ้นอยู่ด้วยกันหลักๆ 2 วิธี คือการอ้างอิงจากกำไรสุทธิ ซึ่งเบนให้ PE ของกิจการอยู่ที่ 8.5 คูณกับสองเท่าของอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในช่วง 7 – 10 ปีข้างหน้า และการอ้างอิงจากสินทรัพย์ โดยมีการพูดถึงอยู่ 2 วิธี คือ Net Asset Value หรือการใช้ส่วนของผู้ถือหุ้นหักลบด้วยสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และ Net Net Asset Value หรือการใช้สินทรัพย์หมุนเวียนลบออกด้วยหนี้สินทั้งหมด

5. ส่วนเผื่อความปลอดภัย

ส่วนเผื่อความปลอดภัยหรือ Margin of Safety เป็นหลักที่เบน เกรแฮมพูดถึงตั้งแต่สมัย Security Analysis และยังคงมีการใช้กันอย่างแพร่หลายกันมาจนถึงปัจจุบัน โดย MOS หมายถึงส่วนต่างระหว่างราคากับมูลค่าที่ประเมินได้ โดยราคาควรต่ำกว่ามูลค่ามากๆ เพื่อที่จะเป็นส่วนรองรับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เหมือนวิศวกรที่สร้างตึกแล้วจะไม่ได้ออกแบบเสาและคานให้รับน้ำหนักได้เท่ากับน้ำหนักตึกพอดี แต่จะเผื่อแรงไว้อีกส่วนหนึ่ง สำหรับความผิดพลาดหรือความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น

The Intelligent Investor ถือเป็นสุดยอดหนังสือการลงทุนเล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก อ่านยาก เข้าใจยาก เล่มหนาเกินกว่าที่นักลงทุนหลายคนจะอ่านจบ แต่ถ้าได้อ่านและคิดตามแล้ว จะพบว่าหนังสือเล่มนี้ปลูกฝังแนวคิดที่เข็มแข็งให้กับนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ภายในสภาวะตลาดที่ยั่วยวน เมื่อไหร่ที่นักลงทุนกำลังย่อหย่อนกับวินัยและอารมณ์ของตลาด หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับหยิบขึ้นมาเตือนใจ เพื่อบอกตนเองไว้ว่า “จงลงทุนอย่างนักลงทุน”

หนังสือเล่มนี้สมศักดิ์ศรีกับคำกล่าวของวอร์เรน บัฟเฟตที่ว่า “นี่คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุด” ทุกประการ

ลงทุนศาสตร์ – Investerest