FINNOMENA PORT Strategy: ตลาดเกิดใหม่ฟื้น ขณะที่หุ้นเทคส่งสัญญาณอิ่มตัว

สิงหาคม 2561: ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ฟื้นตัวประมาณ 3% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวประมาณ 6% โดยค่าเงินของตลาดเกิดใหม่เริ่มทรงตัวหลังจากอ่อนค่าต่อเนื่องในไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา FINNOMENA Investment Team ยังคงมีมุมมองในตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะนี้ ซึ่งน่าจะทำให้หุ้นไทย หุ้นจีน และเกาหลีใต้มีแนวโน้มฟื้นตัว

สำหรับพอร์ตการลงทุนประเภท Global Absolute Return และ TOP5 ทาง FINNOMENA ยังคงกลยุทธ์ “สร้างภูมิต้านทานให้พอร์ตการลงทุน” ต่อไป โดยให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกคือ Long/Short Absolute Return และทองคำ เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม และประโยชน์จากการกระจายการลงทุนในภาวะตลาดหุ้นใกล้เข้าสู่ Peak Cycle (ดูกลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลัง 2561 ที่ https://www.finnomena.com/finnomena-ic/creating-portfolio-immunity/)

1. Chart of the Month: Yield พันธบัตรญี่ปุ่นและเยอรมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รูปที่ 1 Yield พันธบัตร 10 ปีของญี่ปุ่น และเยอรมัน | ที่มา Tradingview (As of 30/7/18)

Yield พันธบัตรญี่ปุ่น และยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ก.ค. ท่ามกลางการเก็งกำไรจากนักลงทุนว่าการอัดฉีดทางการเงินจะต้องมีการชะลอลงบ้างหลังจากอัดฉีดกันมานานเกือบ 10 ปี

การปรับตัวขึ้นของ Bond Yield ถ้ายังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อไปจะเป็นตัวช่วยให้เงินไหลกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรยุโรป และญี่ปุ่นมากขึ้น หลังจากดอกเบี้ยอยู่ใกล้ระดับ 0% มานาน และทำให้พันธบัตรไม่น่าลงทุนเลยเมื่อเทียบกับ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯ ที่ขึ้นมาอยู่แถวระดับ 3% มาซักพักแล้ว

แนวโน้มในตลาดตราสารหนี้ตรงนี้จะส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินยูโร และเยนกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง นั่นคือส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าได้บ้าง (จากที่แข็งต่อเนื่องในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมา)

ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นี้เองจะเป็นปัจจัยช่วยให้ค่าเงินตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยกลับมายืนได้อีกครั้ง หลังจากอ่อนค่ารุนแรงในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงช่วยหนุนให้ fund flow ไหลกลับมาตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง (เราเริ่มเห็น foreign net buy กลับมาบ้างในตลาดหุ้นไทยเช่นกัน)

2. ตลาดเกิดใหม่ฟื้น ขณะที่หุ้นเทคส่งสัญญาณอิ่มตัว

รูปที่ 2 ดัชนี NASDAQ เปรียบเทียบ Emerging Markets | ที่มา Tradingview (As of 30/7/18)

ผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มชะลอการแข็งตัว ทำให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่เริ่มมีเสถียรภาพ อีกทั้งความกังวลเรื่องสงครามการค้าได้รับรู้โดยตลาดไปมากพอสมควรแล้ว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่มีการฟื้นตัวในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดย FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าการฟื้นตัวจะยังคงมีต่อเนื่องในเดือน ส.ค. ที่จะมาถึงนี้

ขณะที่หุ้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่ม FAANG ได้แก่ Facebook Amazon Apple Netflix Google ที่กำไรสุทธิหลาย ๆ ตัวประกาศออกมาดี แต่โดยรายละเอียด กรณีของ Facebook ได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน คือจำนวน User Growth ที่เริ่มลดลง รวมถึงเริ่มมีการออกมา guide ว่ารายได้ของบริษัทจะไม่โตมากถึง 40-50% เหมือนอย่างที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปรับฐานอย่างมีนัยสำคัญของ NASDAQ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 61 ที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักลงทุนในตลาดเริ่ม de-rating หรือปรับลด Valuation ที่ให้กับหุ้นกลุ่มเทคเหล่านี้ ซึ่งต้องจับตามองประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดเพราะหุ้นอย่าง Amazon, Google, Microsoft ปัจจุบัน trade อยู่ในระดับ P/E ที่สูงกว่า 50 เท่า และอาจเกิดพฤติกรรมหมู่ในการเทขายหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมา

3. PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจยังเติบโตในระดับที่ดี

รูปที่ 3 ดัชนี PMI ของประเทศหลัก | ที่มา FINNOMENA Investment Team (As of 30/7/18)

ดัชนี PMI ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการคาดการณ์เศรษฐกิจใน 6 – 12 เดือนข้างหน้ามีการฟื้นตัวที่ชัดเจนในเดือนมิถุนายน 2561 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และจีน PMI ที่ยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ดีจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงขยายตัวได้ตามคาดในระยะเวลา 6 – 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้น

4. US ISM ที่ยังขยายตัวน่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นโลกไม่มีปรับฐานใหญ่เร็ว ๆ นี้

รูปที่ 4 ดัชนี ISM เปรียบเทียบกับ MSCI ALL Country | ที่มา Bloomberg (As of 30/7/18)

หากดูที่ดัชนี ISM Composite ซึ่งคือ MSCI ของสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับแนวโน้มตลาดหุ้นโนระยะยาวในระดับที่สูง การที่ ISM Composite ยังคงยืนได้ในระดับที่สูงจะเป็นตัวสนับสนุนให้ตลาดหุ้นโลกยืนระดับต่อไปได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของ PMI เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

5. เงินเฟ้อยุโรปทะลุเป้าหมาย 2% ทำให้ ECB ไม่มีทางเลือกมากนัก

รูปที่ 5 เงินเฟ้อยุโรปทะลุ 2% | ที่มา: Bloomberg (As of 30/7/18)

เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2561 ของยุโรปเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย และเป็นไปตามเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ECB ได้ตั้งไว้ก่อนหน้า เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะมีส่วนกดดันให้ทาง ECB ต้องทำการลดระดับการกระตุ้นทางการเงินต่อเนื่อง ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณการแข็งค่าของเงินยูโรในช่วงที่ผ่านมา

6. ค่าเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหลักต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะต่อจากนี้

รูปที่ 6 ดัชนี Dollar Index | ที่มา Tradingview (As of 30/7/18)

ดัชนี Dollar Index ยังเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway ที่ระดับ 94 – 95 ในรอบ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสัญญาณ Bearish Divergence คือดัชนีทำจุดสูงสุดใหม่ แต่สัญญาณ Momentum คือ RSI ไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ ซึ่งเมื่อมองประกอบกับปัจจัยพื้นฐานคือค่าเงินยูโรที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น และค่าเงินตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้ทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินดอลลาร์จะมีทิศทางอ่อนค่าในระยะต่อจากนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นตลาดเกิดใหม่

7. Valuation ของตลาดหลักๆ ทั่วโลกเริ่มแพง

รูปที่ 7 Valuation ของตลาดหุ้นหลักและประเทศไทย | ที่มา: I/B/E/S, FINNOMENA Investment Team (As of 30/7/18)

หากดูกันที่ระดับ Valuation ของตลาดหุ้นหลัก ๆ ทั่วโลก ตลาดหุ้นอเมริกา และอินเดีย จัดอยู่ใน Valuation ที่แพง โดยทำการซื้อขายที่ระดับ P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ SET Index หลังจากปรับฟื้นตัวมาที่ระดับ 1700 จุดทำให้ Valuation ปรับขึ้นมาในระดับที่ค่อนข้างแพง ขณะที่ ตลาดที่น่าสนใจลงทุนในมุมมองของ Valuation ได้แก่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และจีน

โมเดลพอร์ตการลงทุนแนะนำของ FINNOMENA

สำหรับโมเดลพอร์ตการลงทุน GAR และ TOP5 ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 40% และได้แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกคือ ทองคำ และ Market Neutral Fund ซึ่งเป็นการสร้าง Portfolio Immunity ให้กับพอร์ตการลงทุนในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่โมเดลพอร์ตการลงทุน GCP และ GIF ปัจจุบันเรามีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอยู่ที่ 25% และ 20% ตามลำดับซึ่งอยู่ในระดับที่ทนความผันผวนของตลาดทุนได้ดีพอสมควร

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าในเดือนสิงหาคมนี้ตลาดเกิดใหม่น่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจึงยังแนะนำคงน้ำหนักในหุ้น เอเชีย จีน เกาหลี และไทยต่อไป ทั้งนี้อาจมีการแนะนำให้ลดพอร์ตหากตลาดปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนโมเดล GOAL และ 1st Million คำแนะนำยังคงพอร์ตการลงทุนตาม Black Litterman Asset Allocation Model เช่นเดิม โดยแนะนำให้นักลงทุนทำการ DCA การลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และ FINNOMENA จะมีการแจ้งเตือนให้มีการ Rebalance ทำการซื้อเพิ่มในยามตลาดหุ้นตกลง และขายออกในยามตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2 ครั้ง

1. Global Conservative Portfolio (GCP)

รูปที่ 8 Global Conservative Portfolio (GCP) | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

2. Global Absolute Return Portfolio (GAR)

รูปที่ 9 Global Absolute Return Portfolio (GAR) | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

3. TOP5 Portfolio

รูปที่ 10 TOP5 Portfolio (TOP5) | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

4. Global Income Focus Portfolio (GIF)

รูปที่ 11 Global Income Focus Portfolio (GIF) | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

5. GOAL Portfolio

รูปที่ 12 GOAL Portfolio (GOAL) | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

6. 1st Million Portfolio

รูปที่ 13 1st Million Portfolio | ที่มา บลน.ฟินโนมีนา

Market Timing Portfolio Recommendation (กลยุทธ์การจับจังหวะเข้าลงทุนสำหรับเงินลงทุนใหม่)

จากความผันผวนของตลาดเกิดใหม่ทำให้ทาง FINNOMENA Investment Team แนะนำให้ชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นสำหรับเงินลงทุนก้อนใหม่ในเดือน มิ.ย. – ก.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจากมุมมองความมีเสถียรภาพของค่าเงิน และทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ FINNOMENA Investment Team มองว่าตลาดเกิดใหม่น่าจะกลับมาทำผลงานได้ดีในระยะต่อจากนี้

FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้นจีน หุ้นตลาดเกิดใหม่ สำหรับเงินลงทุนก้อนใหม่ ขณะที่ FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนในหุ้นไทย หุ้นเกาหลี ต่อไป

กองทุนที่แนะนำให้เข้าลงทุนได้ตามคำแนะนำในโมเดลพอร์ต:

K-GEMO : ลงทุนในกองทุน Schroder ISF Global Emerging Market มีดัชนีอ้างอิงคือ MSCI Emerging Market ปัจจุบันกองทุน Overweight ในหุ้นกลุ่ม Financial & Consumer ขณะที่ Underweight หุ้นกลุ่มเทคฯ

SCBCHA : ลงทุนใน ChinaAMC CSI 300 Index ETF หรือหุ้นจีน A Share ซึ่ง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่ามีโอกาสฟื้นตัวในระยะต่อจากนี้หลังทางการจีนทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบต่อเนื่อง ค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มทรงตัว และประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่รับรู้โดยตลาดไปมากแล้ว

KF-AINCOME : ลงทุนใน Schroder Asian Income ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Multi-asset strategy ซึ่งเป็นกองทุนหลักในการสร้างรายได้ให้กับโมเดล Global Income Focused ซึ่ง FINNOMENA Investment Team เห็นสัญญาณฟื้นตัวของกองทุนภายหลังตลาดหุ้นเอเชียเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น

CIMB-Principal iPROP : Class A สำหรับพอร์ต GCP และ Class R สำหรับพอร์ต GIF ตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนน้อยลง ขณะที่กอง Property fund ให้อัตราปันผลที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ทำให้ FINNOMENA Investment Team แนะนำเป็น market timing ที่เข้าลงทุนได้สำหรับกองทุนประเภท Property fund of funds

กองทุนที่ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุน

SCBKEQTG : ลงทุนใน iShares MSCI Korean Equity เรายังคงให้ชะลอการลงทุนเพิ่มในระยะนี้ เนื่องจากตลาดได้มีการปรับลดประมาณการกำไรของตลาดหุ้นเกาหลี ทั้งนี้เราจะรอการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 และทำการดู market timing อีกครั้ง

ASP-ASIAN : ลงทุนในกองทุนหลักคือ Fidelity Funds – Asian Special Situations แม้เราจะมีมุมมองเชิงบวกในหุ้นภูมิภาคเอเชีย แต่เนื่องจากกองทุนนี้มีการ overweight หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของประเทศจีนในระดับที่สูง เราจึงแนะนำให้ยังคงรอจังหวะในการเข้าลงทุน

กลุ่มกองทุนหุ้นไทย T-LOWBETA, TISCOMS, ASP-SME, PHATRA DIVIDEND, CIMB-PRINCIPAL IDIV-R : แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณเงินไหลเข้าในตลาดหุ้นไทย แต่เรายังเห็นการปรับลดประมาณการกำไรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดได้รีบาวนด์มาแล้วประมาณ 100 จุดซึ่งในทางเทคนิคอาจมีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น เราจึงยังคงแนะนำ “ชะลอ” การลงทุนเพิ่มในหุ้นไทยในระยะนี้

สำหรับลูกค้า FINNOMENA PORT ที่มีการลงทุนในกองเหล่านี้ไปก่อนหน้าแล้ว ยังสามารถถือลงทุนได้ต่อไป โดยขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า เรากำลังวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เราจะทำการแจ้งให้ท่านทราบต่อไป

FINNOMENA Investment Team


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

FINNOMENA PORT Strategy – ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2561