Chart of the month

รูปที่ 1 ปริมาณเงินลงทุนสะสมผ่าน ETF ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในหุ้นสหรัฐฯ และตราสารหนี้ I Source: BlackRock as of 30/9/2019

จากตัวเลขทางเศรษฐกิจประกอบกับคาดการณ์ที่ไม่สดใส เป็นผลให้ธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมผ่านนโยบายการคลัง เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปที่ลดอัตราดอกเบี้ยและดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปก่อนล่วงหน้า เพื่อรับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้ารวมไปถึงปัจจัยกดดันอื่น ซึ่งตลาดเริ่มตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนั้นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยังคงเติบโตและเริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ทั้งรายได้และผลกำไรประกาศออกมาสูงกว่าคาดการณ์ ด้านภูมิภาคอื่นทั้งยุโรปและเอเชีย แม้ตัวเลขผลประกอบการของหลายภาคส่วนจะยังต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ตลาดหุ้นตอบสนองในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกจะยังดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะพบสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์ประเภท Yield Play เช่น ตราสารหนี้, กองทุนอสังหาฯ และ REITs

อย่างไรก็ตาม REITs ไทยปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีถึง 24.77% ส่งผลให้อัตราปันผลลดลงสู่ระดับ 4.94% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ส่งผลให้มีโอกาสปรับตัวขึ้นที่จำกัด FINNOMENA Investment Team จึงมีมุมมองว่าควรชะลอการลงทุน REITs ไทย

ในขณะเดียวกันผลของมาตรการกระตุ้นเริ่มส่งผลดีต่อผลประกอบการรวมไปถึงมุมมองของนักลงทุน โดยพบว่ามีเม็ดเงินลงทุน (ETF fund flows) ไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของหลายปัจจัยที่ยังคงอยู่โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนทองคำในระยะต่อจากนี้เช่นเดียวกัน

เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หลังตลาดรับรู้ความเสี่ยงไปแล้ว

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 2 อัตราการขยายตัวของตัวเลข GDP สหรัฐฯ (US GDP Growth, CQoQ) l Source : Bloomberg as of 31/10/19

ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนประกาศออกมามีแนวโน้มชะลอตัว ด้วยผลของนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศโดยส่วนใหญ่ทั่วโลกเริ่มดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อรับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้น

ซึ่งแม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าโดยตรง และตัวเลขเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและส่งออกจะชะลอตัวชัดเจน แต่หากพิจารณาแล้วพบว่ามีสัดส่วนการบริโภคภายในถึง 60% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลข GDP สหรัฐฯ ออกมาเหนือคาดที่ 1.9% ได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ยังขยายตัว

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 3 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 I Source : FactSet.com as of 28/10/2019

สำหรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ของดัชนี S&P500 โดยส่วนใหญ่มีรายได้และกำไรยังขยายตัว และสูงกว่าคาดการณ์สวนทางตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แล้ว ด้วยสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศถึง 38% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้ได้รับผลดีจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินจากต่างประเทศด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหนุนที่ซ่อนอยู่

นอกเหนือจากนั้นยังอาศัยความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน และประสิทธิภาพการสร้างรายได้โดยใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทดัชนี S&P500 ในปีนี้ขยายตัวที่ 8% (YoY) และ 10% (YoY) ในปีหน้า ขณะที่ดัชนี Nasdaq คาดว่ากำไรในปีนี้จะขยายตัวที่ 30% (YoY) และสำหรับปีหน้าที่ 17% (YoY)

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 4 ผลตอบแทนดัชนี MSCI Asia ex. Japan, หุ้น Taiwan Semiconductor และหุ้น Samsung ระหว่างวันที่ 1/11/2018 ถึง 31/10/2019 I Source : Bloomberg.com as of 31/10/2019

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น (Asia ex.Japan) นับเป็นอีกภูมิภาคที่มีการผ่อนคลายเชิงนโยบายอย่างมาก เพื่อรับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวซึ่งตลาดการเงินได้รับข่าวในส่วนนี้ไปแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามในปีหน้าคาดการณ์การขยายตัวเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย นอกจากนี้การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ยังช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย

แม้จะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่ประมาณการผลกำไรของภูมิภาค Asia ex.Japan ในปีนี้ยังขยายตัวที่ 3% (YoY) และปีหน้าที่ 13% (YoY) นอกจากนี้สัญญาณการฟืนตัวของอุตสาหกรรม semiconductor ที่มีผู้นำตลาดอย่าง Taiwan semiconductor อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน

แนวโน้มตลาดขาลงที่กำลังจางหาย

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 5 อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) และค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี ของ MSCI World index และ MSCI Asia ex. Japan index I Source : Bloomberg.com as of 5/11/2019

ความกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปะทุขึ้นเมื่อปีที่แล้ว สร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการเป็นอย่างมาก กดดันสินทรัพย์เสี่ยง (Risky Asset) เช่น หุ้น ทำให้มีแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างหนักตลอดปี 2018 ผลดังกล่าวทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ของดัชนี MSCI World และ MSCI Emerging market ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 15 ปี

ทว่าผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโนบายทางการเงิน และสงครามการค้าที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้แสดงให้แล้วว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่สามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้ โดยสะท้อนผ่านตัวเลข GDP ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายมาเปลี่ยนท่าทีจากตึงตัวสู่ผ่อนคลายอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปลายปี 2018

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 6 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ, ยูโรป และญี่ปุ่นอายุ 10 ปี I Source : Bloomberg.com as of 31/10/2019

ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตร อายุ 10 ปี ทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลง ลดแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงในทางอ้อม เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงกับสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตร (Yield gap) ปรับตัวเพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 7 ดัชนี MSCI World และอัตราส่วนยอดขายต่อหุ้นเฉลี่ย 12 เดือนย้อนหลัง I Source : Bloomberg.com as of 31/10/2019

แต่ถึงกระนั้นเนื่องด้วยมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่ง FINNOMENA Investment Team เริ่มพบสัญญาณการฟื้นตัวที่เริ่มขึ้นในไตรมาสนี้ เช่น อัตราส่วนยอดขายต่อหุ้นที่ไม่เพิ่มขึ้นตลอดปี กลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งในการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของปี

Fed ลดดอกเบี้ยตามคาด 0.25% ส่งสัญญาณหยุดลดดอกเบี้ย 

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 8 อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (Fed Fund Rate Mid Range) l Source : Bloomberg as of 31/10/19

เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาดสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีก 0.25% มาที่ระดับ 1.50 – 1.75% นับเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้นิยามว่า “midcycle adjustment”

ในแถลงการณ์ระบุว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายครัวเรือนซึ่งขยายตัวในอัตราที่สูง ด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้นในอัตราค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการส่งออกยังคงอ่อนแอ ส่วนอัตราเงินเฟ้อตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2%

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแถลงการณ์ในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนประโยคที่ว่า “act as appropriate to sustain the expansion” เป็น “assesses the appropriate path of the target range for the federal funds rate” ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณหยุดลดอัตราดอกเบี้ย และจะติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

สอดคล้องกับการตอบคำถามนักข่าวหลังแถลงการณ์ของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งเชื่อว่านโยบายการเงิน ณ ปัจจุบัน มีความเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจ

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 9 ความน่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนธันวาคม l Source : cmegroup.com  as of 31/10/19

หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดลดโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ลงจาก 30.55% มาเหลือ 17.23% สะท้อนการยอมรับของตลาดต่อแนวโน้มและท่าทีของการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน

และแม้ตลาดจะลดโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าจุดต่ำสุดของปีเพียงเล็กน้อย ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะกลางนี้ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยปรับตัวขึ้นแตะระดับ all-time high ในวันทำการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย

ส่งออกและบริโภคชะลอ กดดันธปท. ลดอัตราดอกเบี้ย

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 10 ความมั่นใจผู้บริโภคไทย (Thailand Consumer Confidence), การส่งออกไทย (YoY) และอัตราเงินเฟ้อไทย (CPI, YoY) l Source : Bloomberg as of 31/10/19

การส่งออกที่ลดลง ความไม่แน่นอนกรณีสงครามการค้า รวมถึงการตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยกว่า 537 รายการมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท และเงินบาทที่ีแข็งค่าอย่างต่อเนื่องกว่า 7.78% นับตั้งแต่ต้นปี สร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงสู่ระดับ 72.2 จุด ต่ำที่สุดในรอบ 39 เดือน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนในตัวเลข GDP ที่ชะลอตัว สร้างแรงกดดันไปยังการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 0.32% (YoY) ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 1-4%

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายทางการเงิน กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พร้อมชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และกระตุ้นการใช้จ่ายควบคู่ไปกับออกมาตรการติดตามและควบคุมหนี้ครัวเรือน

ความเสี่ยงระหว่างประเทศยังคงหนุนราคาทองคำ

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 11 ราคาทองคำ (USD/Oz) และปริมาณการถือครองทองคำของกองทุน ETF (Million Oz.) l Source : Bloomberg as of 30/10/19

นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีเป็นต้นมา มีแรงซื้อสุทธิเข้ามายังทองคำผ่าน ETF หนุนให้ปริมาณทองคำที่ถือครองโดยกองทุน ETF เพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเป็นแรงซื้อสุทธิจากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป

ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายยังช่วยหนุนแรงซื้อทองคำ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ทางการเงินที่ปลอดภัยลดลง แต่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและความต้องการทองคำในฐานะเครื่องประดับของประเทศอินเดียและจีนที่ลดลงเป็นปัจจัยที่ยังกดดันราคาทองคำ

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

รูปที่ 12 อัตราส่วนการส่งออกต่อ GDP โลก และปริมาณการส่งออกทั่วโลก l Source : Bloomberg as of 31/10/19

ด้านความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมประท้วงภายในประเทศต่างๆ อาทิ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สเปน และรัสเซีย ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชน

ขณะที่สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ แม้สหรัฐฯ – จีนจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น จากกำหนดการเพื่อลงนามข้อตกลงเบื้องต้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ด้วยคำยืนยันของสหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราเดิมที่เรียกเก็บแล้ว ทำให้ทางการจีนกังขาต่อท่าที สะท้อนความไม่เชื่อใจระหว่างกันและส่งสัญญาณความยืดเยื้อ

สอดคล้องกับกรณี Brexit ที่ล่าสุดยืดระยะเวลาการแยกตัวออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม จากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากข้อตกลงระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปของนาย Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฉบับล่าสุดไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา ซึ่งต่อมาญัตติขอจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ผ่านการลงมติจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย สร้างความไม่แน่นอนอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลเสียความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอังกฤษต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาขนาด GDP ของโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศจะลดลงในบางช่วงเวลาก็ตาม เนื่องจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคภายในเข้ามาทดแทนได้ เว้นแต่ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น วิกฤตซับไพร์มปี 2008 และวิกฤติหนี้ในจีนปี 2015 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการค้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในอดีต และแม้จะกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ตลาดการเงินได้รับรู้ความเสี่ยงดังกล่าวอย่างทั่วถึงเป็นที่เรียบร้อย

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนความน่าสนใจของทองคำเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ปลอดภัยประเภทอื่น เช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศที่ยังไร้ข้อยุติและช่วงเวลาที่ชัดเจน

โมเดลพอร์ตการลงทุนแนะนำของ FINNOMENA

Global Conservative Portfolio (GCP)

As of 31/10/2019

พอร์ต GCP ปัจจุบันเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจาก 20% มาที่ 30% พร้อมกระจายน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางซึ่งมีความผันผวนต่ำ สอดรับกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ส่งผลให้โดยรวมแล้วพอร์ต GCP มีความเสี่ยงโดยรวมค่อนข้างต่ำเหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน จึงแนะนำสามารถลงทุนได้

Global Absolute Return (GAR)

As of 31/10/2019

สำหรับพอร์ตการลงทุน GAR ปัจจุบันเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมาที่ 40% ส่วนที่เหลือกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ได้รับผลเชิงบวกจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ย อย่างตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว และสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลงแล้ว ช่วย

รักษาระดับความเสี่ยงโดยรวม จึงแนะนำสามารถลงทุนได้

TOP5 Portfolio

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

As of 31/10/2019

พอร์ต TOP5 ซึ่งเป็นพอร์ตการลงทุนความเสี่ยงสูงสุด ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มเป็น 60% FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าพอร์ตการลงทุนมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และพร้อมรับความผันผวนของตลาด

Global Income Focus (GIF)

As of 31/10/2019

ขณะที่พอร์ต GIF ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง พร้อมเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น 10% อย่างไรก็ตาม จากการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตราสารหนี้ และกองทุน Multi Asset ที่มีความผันผวนต่ำ และได้รับผลเชิงบวกจากแนวการลงทุนแบบ Yield Play ส่งผลให้กระแสเงินสดที่สร้างยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 4.30% ต่อปี

GOAL Portfolio

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

As of 31/10/2019

1st Million Portfolio

FINNOMENA PORT Strategy เดือนพฤศจิกายน 2562: The Final Call

As of 31/10/2019

โมเดล Goal และ 1st Million FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำพอร์ตการลงทุนตาม Black Litterman Asset Allocation Model เช่นเดิม โดยแนะนำให้นักลงทุนทำการ DCA การลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยในส่วนของนักลงทุนที่ลงทุนแล้ว แนะนำ Rebalance เพื่อปรับสมดุลพอร์ต ในจังหวะที่ตลาดมีความผันผวน

FINNOMENA Investment Team


คำเตือน

  1. “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”
  2. “ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน”
  3. “ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุน โดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน”
  4.  “การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนในปัจจัยอ้างอิงโดยตรง ซึ่งอาจทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาของปัจจัยอ้างอิงได้
  5. “ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนทำการลงทุน”
  6. “ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”