ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของจีนบนเส้นทาง ESG

ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของจีนบนเส้นทาง ESG

ปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมภิบาล หรือ ESG ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับนักลงทุนจำนวนมากซึ่งรวมไปถึงในตลาดเกิดใหม่ Michael Lai จาก Franklin Templeton Emerging Markets Equity ได้กล่าวถึงความท้าทายของการลงทุนแบบ ESG พร้อมรายงานถึงแนวโน้มการพัฒนา ESG ในประเทศจีน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมภิบาล (ESG) ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้าน ESG ที่แตกต่างกันไปของตลาดต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีน

นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่กำลังเพิ่มความอุปสงค์ในการลงทุน ESG ในประเทศจีน โดยได้เพิ่มอุปสงค์นี้มาระยะหนึ่งแล้ว เงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ที่มีนโยบายลงทุนในธีม ESG ของประเทศจีนเพิ่มขึ้นกว่า 464% ระหว่างปี 2018-2019 ในขณะเดียวกันเรายังได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น “Pure ESG” ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นเหมือนสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนที่ยั่งยื่นได้กลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติมองหาโอกาสในตลาดทุนของจีนมากขึ้นก็ทำให้เกิดความตระหนักและความสนใจในหลักการลงทุนแบบ ESG แต่อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายในแง่ของการพัฒนาโดยรวมของจีนในด้านนี้

แม้ว่าจีนจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความล้าหลังในด้าน ESG เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว บริษัทต่าง ๆ ในจีนดำเนินการตามบรรทัดฐานและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลในพื้นที่ และเราพบว่ายังมีหลายบริษัทที่ทำมากกว่าสิ่งที่จำเป็นในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามกฎระเบียบต่าง ๆ ในประเทศจีนนั้นมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ หลายบริษัทจึงมีแนวโน้มในการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้างมากขึ้น

หรือเป้าหมาย Net Zero ของจีนในปี 2060 จะกลายเป็นจริง?

แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีล่าสุดของจีนได้กำหนดเป้าหมายด้านสภาพอากาศในระยะยาวของจีน โดยจีนมีเป้าหมายที่จะบรรลุการเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 ในปัจจุบันจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 28% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรวมกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าจีนต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 90% เพื่อที่จะได้กลายเป็นประเทศที่มี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (จากข้อมูลปี 2019) และชดเชยส่วนที่เหลือผ่านระบบธรรมชาติและเทคโนโลยีที่ช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศมากกว่าการปล่อยออกมา นี่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การปรับสมดุลพลังงานจึงมีความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน

สำหรับเป้าหมายแรกจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศให้ถึงเพดานสูงสุดในปี 2030 ก่อน หลังจากนั้นจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ให้เข้าสู่ค่าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 ซึ่งนั่นจะเป็นก้าวสำคัญในมุมมองของเรา ในอีกด้านหนึ่งจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสะอาดผ่านยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์และกังหันลม ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งในตัวชูโรงของแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” หรือ “Industry 4.0” ในขณะที่ปักกิ่งต้องการให้รถยนต์ใหม่ 20% ที่วิ่งบนท้องถนนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2024 โดยในปี 2013 สหรัฐฯ มีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าจีนถึง 5 เท่า แต่สำหรับปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะจีนมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า ซึ่งจุดนี้จะทำให้จีนได้กลายเป็นผู้เล่นที่มีความโดดเด่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทางด้านพลังงานทดแทน จีนเป็นผู้นำในการใช้พลังงานลมมากเป็นสองเท่าและสามเท่าสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ 

เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนที่มักถูกกว่าทางเลือกอื่น ๆ เราจึงคาดว่าพลังงานสีเขียวจะปริมาณเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แต่ความสำเร็จในการเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนของจีนนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีเงินทุนเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือไม่ ดังนั้นการปรับสมดุลทางพลังงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานจึงมีความสำคัญในมุมมองของเรา

ยกระดับมาตรฐาน

โดยทั่วไปแล้วจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีกฎระเบียบเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ในจีนมักจะไม่ดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะมีกฎระเบียบออกมาให้พวกเขาปฏิบัติตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากในบางสถานการณ์ เนื่องจากผู้ประเมิน ESG อาจอาศัยข้อมูลที่มีการเปิดเผยสู่สาธารณชนเพียงอย่างเดียวในการประเมิน ซึ่งจากประสบการณ์ของเรา ทีมผู้บริหารยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลนี้กับเรา อย่างไรก็ตามยังคงขาดความชัดเจนในแง่ของการให้ข้อมูลว่าเผยแพร่ข้อมูลใดบ้างแก่สู่สาธารณชน

โดยทั่วไปเราพบว่าบริษัทในจีนยังคงดำเนินมาตรการเชิงรุกในมาตรการ ESG อยู่ และยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่นักลงทุนต้องการทราบในมุมมองด้าน ESG ซึ่งรวมถึงการกำหนดวาระการประชุมในการเปิดเผยข้อมูลความด้านยั่งยืนสำหรับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท ตัวอย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้จัดการประชุมกับธนาคารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจีนซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจและนำ ESG ไปปรับใช้ นั่นเป็นโอกาสให้เราได้แนะนำแนวทางเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมซึ่งนักลงทุนใช้ในการวัดมาตรฐาน ESG

ภาพรวมของ ESG ในประเทศจีนยังคงมีความหลากหลาย โดยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี หลาย ๆ บริษัทมีการรายงานที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความยั่งยืนสอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวมของบริษัทอย่างไร และบริษัทรวมถึงทีมผู้บริหารจะพิจารณาถึงความเสี่ยงด้าน ESG ไว้ว่าอย่างไร ในขณะที่ตลาดทุนของจีนเปิดกว้างมากขึ้นและอุปสรรคด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง หน่วยงานกำกับดูแลของจีนก็เตรียมปรับปรุงกระบวนการรายงานความยั่งยืน (ESG) เพิ่มเติมผ่านการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นสำหรับบริษัทจดทะเบียนภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งเราเชื่อว่าขั้นตอนเหล่านี้จะเป็นการปูทางให้บริษัทจีนมีความสอดคล้องกับคู่ค้าทางตะวันตกได้อย่างแท้จริง

เนื้อหาต้นฉบับโดย Michael Lai, CFA

Portfolio Manager, China Equities Franklin Templeton Emerging Markets Equity

เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin

ข้อสงวนสิทธิ์

แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/investor/article?contentPath=html/ftthinks/common/blogs/emerging-markets/bridging-esg-gap-china.html