ในยุทธจักรมังกรหยก ก๊วยเจ๋ง ขึ้นเป็นหนึ่งในใต้หล้าด้วยการผสานวิชาจากหลายสำนักมากกว่าที่จะเรียนเคล็ดความสำเร็จจากสำนักใดเพียงสำนักหนึ่ง เขาเติบโตในทัพมองโกล เรียนลมปราณจากนักพรตนิกายช้วนจิน สืบทอด 18 ฝ่ามือพิชิตมังกรจากประมุขพรรคกระยาจก ถกวิชากับเฒ่าทารก ก่อนจะบรรลุยอดวิทยายุทธจากคัมภีร์เก้าอิม

ทอดตาไปในยุทธจักรการลงทุน 2 สำนักใหญ่ที่ทรงอิทธิพลประกอบด้วยสำนักพื้นฐาน (fundamental analysis) และสำนักเทคนิค (technical analysis) ทว่ายอดฝีมือบางคนกลับสามารถผสานวรยุทธสองแนวทางออกมาเป็นการลงทุนแบบ “พื้นฐานผสานเทคนิค” หรือ Techno-fundamental analysis ที่นำปัจจัยทั้งสองแบบเข้ามาเป็นตัวกำหนดการลงทุน

ยอดยุทธผู้นั้นมีนามว่า William J. O’Neil

ประวัติชีวิต นักลงทุนเลือดผสม

1930 คือปีที่ปรากฏการณ์ Dust Bowl พายุฝุ่นครั้งใหญ่เริ่มกระหน่ำทำลายที่ราบตอนกลางอันแห้งแล้งของสหรัฐฯ ต่อเนื่องยาวนาน 6 ปี และก่อนหน้านั้นหนึ่งปีที่วอลสตรีท ตลาดหุ้นได้ถล่มลงมาจากการเก็งกำไรของนักลงทุนหลายล้านชีวิต นำไปสู่ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ซึ่งเป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ที่ม้วนกลืนเอาเศรษฐกิจสหรัฐฯ (และโลกที่กำลังฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1) เข้าสู่ช่วงเวลาอันแสนลำบาก

มหันตภัยทั้งหมดคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ WIlliam O’Niel ชายผู้ที่จะเป็นอีกหนึ่งสุดยอดนักลงทุนในอนาคตจะเกิดมาในปี 1933 ณ โอคลาโฮมา หนึ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบหนักหนาจาก Dust Bowl และความยากลำบากเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นภูมิหลังของแรงผลักดันในการทำงานอันเข้มข้นและการเห็นถึงความสำคัญด้านการเงินของตัว O’Neil เอง

ปี 1955 คือปีที่มี 3 สิ่งเกิดขึ้นกับตัว William O’Neil ในวัย 21 ปี นั่นคือ 1) การจบการศึกษาด้านธุรกิจจาก Southern Methodist University 2) การเข้าสู่กองทัพอากาศสหรัฐฯ และที่สำคัญคือ 3) การชิมลางการลงทุนด้วยการซื้อหุ้นตัวแรกคือ Procter & Gamble จำนวน 5 หุ้น

แต่เส้นทางการเติบโตอันเร้าใจของเขาจะเริ่มขึ้นในอีก 3 ปีให้หลัง…

O’Neil เข้าสู่โลกการลงทุนเต็มตัวในปี 1958 ด้วยเลือดของนักสวนตลาดที่ไหลเวียนอยู่เต็มตัว เขาว่ายทวนกระแสของฝูงชนที่มุ่งหน้าสู่วอลสตรีทด้วยการเริ่มต้นเส้นทางอาชีพที่แคลิฟอร์เนียในฐานะนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ Hayden, Stone & Company 

เขาเคยกล่าวเอาไว้ถึงสาเหตุตนที่ปฏิเสธเส้นทางอาชีพในวอลสตรีทว่า “ผมต้องการไปยังแอลเอเพราะผมคิดว่าที่นั่นมีอนาคตมากมาย”

แล้วก็เป็นที่นั่นเองที่เขาพบว่า การวิเคราะห์ข้อมูล คือกุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จในการลงทุน และเขาก็กลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่นำคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลเข้ามาใช้ในการเทรดหุ้น

Charles Harris ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอจาก O’Neil Capital Management อธิบายถึงจุดเด่นของ “บิล” จากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกันว่า

สิ่งที่ทำให้บิลต่างไปจากคนอื่นคือความสามารถในการวางอารมณ์เอาไว้ห่างตัว แล้วทุ่มความสนใจทั้งหมดไปที่ความเคลื่อนไหวของหุ้นและข้อมูลจริง

ความน่าสนใจก็คือว่า เมื่อพูดถึง “ข้อมูล” ในสารบบความคิดของ O’Neil เขาไม่ได้หมายถึงแค่ข้อมูลทางเทคนิคเท่านั้นแต่ยังนับรวมปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ เช่น ยอดขาย อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือแม้แต่ทีมบริหาร เข้าไปในการวิเคราะห์อีกด้วย 

และในเวลาต่อมาแนวคิดของเขาก็ถูกพิสูจน์ว่าใช้ได้จริงด้วยผลงานการลงทุนที่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าสะท้านยุทธภพ

แนวคิดการลงทุนแบบพื้นฐานผสานเทคนิค

การลงทุนแบบผสมผสานผลิดอกบานสะพรั่งในปี 1962 ถึง 1963 เมื่อ William O’Neil สามารถลงทุนและเปลี่ยนเงิน 5,000 เหรียญให้กลายเป็น 200,000 เหรียญ (คิดเป็นเงินปัจจุบัน 1.5 ล้านเหรียญ) คิดเป็นการเติบโต 400% ภายในเวลาแค่ 1 ปี ด้วยขายชอร์ตหุ้น Korvette ลองหุ้น Chrysler และ ลองหุ้น Syntex

เขาต่อยอดความสำเร็จครั้งนี้ด้วยการก่อตั้ง William O’Neil + Co. บริษัทโบรกเกอร์เพื่อทำการวิจัยโดยมีการสร้างฐานข้อมูลรายวันที่ติดตามบริษัทกว่า 70,000 แห่งทั่วโลกเพื่อบริการแก่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ส่วนผลงานอื่น ๆ ของบริษัทคือการก่อตั้งกองทุนรวมที่ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็กลายเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีผลงานระดับท็อปในสหรัฐฯ แถมบริษัทของเขาก็ยังได้รับความไว้วางใจจากวาติกันให้จัดการสินทรัพย์บางส่วนให้อีกด้วย

รูปภาพของ William J’ O’Neil Source: www.williamoneil.com

O’Neil ย้อนกลับไปอธิบายถึงงานอย่างแรกที่บริษัทของเขาทำ ในการให้สัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 50 ปี William O’Neil + Co. เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาว่า

ผลงานแรกที่ผมสร้างขึ้นคือชาร์ตที่ไม่ได้พูดถึงเพียงราคาและปริมาณหุ้นทั้งหมด แต่ยังรวมเอาปัจจัยพื้นฐานทุกแบบเข้าไปด้วยทั้งยอดขาย กำไร ไปจนถึงผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ David Saito-Chung รองบรรณาธิการสายตลาดหุ้นของ Investor’s Business Daily (IBD คือหนังสือพิมพ์ด้านการลงทุนซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ O’Neil) เคยเขียนบทความเกี่ยวกับปรัชญาชีวิตและการลงทุนของ O’Neil โดยช่วงหนึ่งของบทความมีการอธิบายว่าทำไมนักลงทุนผู้นี้ถึงให้ความสำคัญกับปัจจัยทั้งสองแบบเอาไว้อย่างแจ่มแจ้ง ดังนี้

เขาเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญของหุ้น และยังเป็นคนแรกๆ ที่เอาปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการซื้อขายมารวมเอาไว้ในกราฟหุ้น เพราะเขามองว่าปัจจัยพื้นฐานคือสิ่งสำคัญในการคัดเลือกบริษัทที่ดี และมองว่าปัจจัยเทคนิคจะช่วยให้เข้าหุ้นเหล่านั้นได้ในจังหวะที่เหมาะเจาะ

CANSLIM กฎเหล็กการลงทุน ของสำนักพื้นฐานผสานเทคนิค

ตลอดเส้นทางในยุทธจักรการลงทุน William O’Neil ได้พบพานกับ 7 สิ่งที่มักจะมีร่วมกันในหุ้นชั้นยอดก่อนที่ราคาจะพุ่งทะยาน และสิ่งเหล่านั้นก็กลายมาเป็นกฎเหล็กการลงทุน 7 ข้อที่เขาตราเอาไว้ในชื่อ CANSLIM ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมา

และกฎเหล็กประจำสำนักที่ว่า มีดังนี้

C = Current earnings
มองหาบริษัทที่ประกาศผลการดำเนินงานเป็นกำไรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25% แต่ถ้าเป็นการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งจะยิ่งเป็นสัญญาณที่ดี

A = Annual earnings
บริษัทที่มีการเติบโตติดต่อกัน 3 ปี และโตไม่น้อยกว่า 25% ต่อปี และ ROE ควรสูงกว่า 17%

N = New product, service or highs
หุ้นที่ดีมักจะมีเรื่องราวใหม่ๆ เช่น สินค้าใหม่ นวัตกรรม ที่เป็นผลดีต่อธุรกิจ เช่น iPhone เป็นต้น

S = Supply and Demand
หาหุ้นขนาดเล็กที่มีปริมาณการซื้อขายสูงๆ จะทำให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นสูงๆได้

L = Leader or laggard
เลือกหุ้นที่เป็นผู้นำจากอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำ 2-3 บริษัท โดยอาจใช้ Relative price strength

I = Institutional Sponsorship
หาหุ้นที่ถือโดยสถาบันในสัดส่วนที่พอดี เช่น กองทุนและธนาคาร แต่เราควรจะซื้อหุ้นในช่วงที่สถาบันกำลังเริ่มเข้าซื้อเนื่องจากจะได้หุ้นในราคาที่ไม่แพงเกินไป

M = Market direction
ภาวะตลาดโดยรวมควรเป็น uptrend ซึ่งจะช่วยผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นตามด้วย เขากล่าวว่าในภาวะที่ตลาดเป็นขาขึ้น สามในสี่ของหุ้นในตลาดจะมีทิศทางขาขึ้น

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ CANSLIM ได้ที่: การเลือกหุ้นด้วยวิธี CANSLIM

สรุปสั้น ๆ ว่าหลัก CANSLIM มองว่าปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการเติบโตของหุ้นจะประกอบไปด้วยผลประกอบการรายไตรมาสและรายปี ความเปลี่ยนแแปลงใหม่ ๆ ของธุรกิจ ปริมาณการซื้อขาย สถานะในอุตสาหกรรม การลงทุนจากสถาบัน ไปจนถึงเทรนด์ตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องของทั้งพื้นฐานและเทคนิคผสมผสานกันไป

พูดถึงปัจจัยพื้นฐาน O’Neil จะมองข้ามปัจจัยบางอย่างไปและให้ความสำคัญกับปัจจัยบางส่วนที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เช่น การเติบโตของกำไรและยอดขายที่แข็งแกร่ง การเป็นผู้นำในวงการในแง่ของผลกำไรด้วยสินค้าชิ้นใหม่ที่เหนือกว่าคนอื่น เป็นต้น ซึ่งในแง่นี้แนวทางของเขาก็ดูจะละม้ายคล้ายกับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยพื้นฐานบางตัวที่เขาค่อนข้างตั้งคำถาม ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าทางบัญชีของบริษัท เงินปันผล หรือ P/E ratio ที่เขาระบุว่ามีค่าทางการพยากรณ์น้อยมากในการระบุบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอเมริกาในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

มรดกถึงจอมยุทธ์นักลงทุนยุคใหม่

แนวคิดการลงทุนแบบพื้นฐานผสานเทคนิคในระบบ CANSLIM ถูกส่งผ่านถึงนักลงทุนรุ่นต่อมาอย่างเป็นระบบในหนังสือที่ William O’Neil เขียนขึ้นเมื่อ 35 ปีก่อน (และยังเป็นตำราการลงทุนขึ้นหิ้งจวบจนปัจจุบัน) เรื่อง How to Make Money In Stocks หรือที่แปลเป็นฉบับไทยในชื่อ คัดหุ้นชั้นยอด ด้วยระบบชั้นเยี่ยม ซึ่งตอนนี้มียอดขายกว่า 4 ล้านเล่มทั่วโลก

พูดได้ว่า William O’Neil เป็นต้นธารของการลงทุนแบบไฮบริดอย่างแท้จริง จนถึงขั้นที่ว่า Mark Minervini เทรดเดอร์ระดับเซียนเจ้าของตำแหน่งแชมป์ U.S. Investing Championship 2 สมัย (และแน่นอนเขาคืออีกหนึ่งนักลงทุนสายพื้นฐานผสานเทคนิค) ก็ยังออกมายกย่อง O’Neil ในปี 2019 ว่าเป็นตำนานผู้สร้างคุณูปการให้กับศาสตร์แห่งการเทรดหุ้นที่ยิ่งใหญ่กว่าใครคนไหนในประวัติศาสตร์

คุณก็ลงทุนแบบผสานได้ง่าย ๆ ผ่าน MEVT Call โดย FINNOMENA

สำหรับใครที่สนใจการลงทุนแบบผสมผสานแต่ไม่มีเวลาคัดเลือกสินทรัพย์เอง ขอแนะนำ MEVT Call คำแนะนำการลงทุนรูปแบบใหม่จาก FINNOMENA Investment Team ที่ผ่านการพิจารณาผ่านกรอบการลงทุน 4 ด้านประกอบไปด้วย

 

ตารางที่ 1 MEVT Call Source: FINNOMENA as of 03/03/2023

Macro – ปัจจัยเชิงมหภาค เงินเฟ้อ นโยบายการเงินและการคลัง ประชากรศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ และอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจ เพื่อหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมบนปัจจัยมหภาคที่สนับสนุนการเติบโต

Earnings – วิเคราะห์การเติบโตของกำไร, แนวโน้มการปรับประมาณการกำไร และงบดุลของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ เพื่อพิจารณาถึงการรับรู้ของนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มที่ดีหรือแย่ของเศรษฐกิจ ซึ่งจะสนับสนุนปัจจัยการลงทุนในแง่อื่นๆ เช่น เชิง valuation และ fund flow เป็นต้น

Valuation – การวิเคราะห์มูลค่าของสินทรัพย์ที่ลงทุน ว่ามีความน่าสนใจมากเพียงใด เพื่อนำไปสู่คำแนะนำเข้าลงทุนในระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนได้

Technical – ปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัยเชิงพื้นฐาน เช่น fund flow, sentiment, seasonal statistic และ technical analysis เพื่อพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งจะช่วยนำไปสู่โอกาสการลงทุนที่ดีกว่า

MEVT Call ต่างจาก Tactical Call อย่างไร

ตารางที่ 2 ความแตกต่างของ MEVT Call และ Tactical Call Source: FINNOMENA as of 03/03/2023

ความแตกต่างของ MEVT Call และ Tactical Call

ความแตกต่างของ MEVT Call และ Tactical Call

MEVT Call จะเน้นเจาะโอกาสการลงทุนตาม MEVT Framework ที่มองทั้งเรื่องของปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค โดยจะเป็นมุมมองการลงทุนในระยะกลาง 6-12 เดือน ส่วนการ Take Profit หรือตัดขาดทุนจะมาจากทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยด้านเทคนิค ส่วน Tactical Call จะเป็นการเน้นหาสัญญาณการเข้า-ออกการลงทุนผ่านปัจจัยทางเทคนิคเป็นหลัก โดยจะเป็นการลงทุนระยะสั้นกว่า MEVT Call อยู่ที่ 1-3 เดือน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MEVT Call ได้ที่นี่: MEVT Call by FINNOMENA Investment Team

เปิดบัญชีวันนี้ รับกองทุนฟรี ! 100 บาท มีให้เลือกทั้งตราสารหนี้ จีน เวียดนาม เลือกกองทุนที่ใช่ได้เลย
👉 รับคูปอง คลิก >>> https://finno.me/mevt-oa-pro

Reference

https://www.investors.com/author/william-j-oneil/
https://www.investors.com/news/management/leaders-and-success/bill-oneil-ibd-founder-and-stock-investor-success-tips/
https://www.investors.com/news/william-oneil-legendary-investor-ibd-founder-canslim-creator/
https://www.investors.com/ibd-university/can-slim/case-studies/
https://www.investopedia.com/terms/w/william-j-oneil.asp
https://finance.yahoo.com/news/william-oneil-fundamental-technical-analyses-192511729.html

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน