เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลาย ๆ คนมีประสบการณ์การลงทุนในกองทุนหุ้น โดยเฉพาะกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน สิ่งที่ทุกท่านต้องพิจารณา คือการเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ท่านจะไว้วางใจให้บริหาร ซึ่งปัจจัยที่ใช้ในการเลือก บลจ. มีทั้งเรื่องคุณภาพของบริการ, ความรู้สึกไว้วางใจต่อ บลจ., ทีมงานแ ละผลประกอบการในอดีต เป็นต้น สำหรับบทความฉบับนี้จะเป็นการนำเสนอแนวทางเลือก “กองทุนหุ้น” ในแง่มุมของสไตล์การบริหาร เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณา


สไตล์การบริหารกองทุนหุ้น

ถ้าดูตามบทความ หรือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน มักจะเห็นการแบ่งสไตล์การลงทุนออกเป็น 2 แบบ คือแบบ Growth และแบบ Value (ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Investment_style ) แต่วันนี้ผมจะขอแบ่งสไตล์ในอีกแบบหนึ่ง ดังนี้

1. สไตล์ Passive – คือการบริหารโดยอิงกับดัชนี ซึ่งราคาของหน่วยลงทุนจะเคลื่อนไหวกับดัชนี เช่น SET, SET50 เป็นต้น แนวทางนี้เหมาะกับผู้ที่พอใจกับผลตอบแทนของดัชนี และรับไม่ได้หากผลตอบแทนของกองทุนหุ้นที่ลงทุนจะแพ้ดัชนี ขณะเดียวกันก็ยอมสละโอกาสที่ผลตอบแทนจะชนะดัชนีไปด้วยเช่นกัน

2. สไตล์ Trading – มีปริมาณการซื้อขายเยอะเมื่อเทียบกับขนาดกองทุน เช่น กองทุนขนาด 100 ล้านบาท แต่ปีนึงซื้อ ๆ ขาย ๆ  500 ล้านบาท กล่าวคือ ผู้จัดการกองทุนพยายามที่จะปรับพอร์ตบ่อยครั้งให้เข้ากับจังหวะและโอกาสในแต่ละช่วงเวลา เช่น เวลาน้ำมันเป็นขาขึ้นก็ไปลงหุ้นพลังงาน เวลาดอกเบี้ยลดก็ไปซื้อหุ้นกลุ่มอสังหาฯ เวลา Loan growth สูงก็ซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็นต้น ผลตอบแทนของกองทุนลักษณะนี้มักจะมีความผันผวนพอสมควร กรณีที่ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองส่วนใหญ่ถูกต้อง ผลตอบแทนก็มีโอกาสชนะดัชนีอย่างมาก กลับกันถ้ามุมมองในปีนั้นส่วนใหญ่ผิดก็มีโอกาสที่จะแพ้ตลาดได้มากเช่นกัน โดยมากแนวทางการบริหารของกองทุนลักษณะนี้จะเป็นแบบ Top – Down  กล่าวคือดูจากภาพเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เป็นหลัก และปรับพอร์ตให้สอดคล้องในแต่ละช่วงเวลา จากการสังเกตของผม พบว่าแนวทางนี้ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในปีที่หุ้นเป็นขาขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในปีนั้น ๆ

3. สไตล์ Buy and Hold – มีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับขนาดกองทุน เช่น กองทุนขนาด 100 ล้านบาท ทั้งปีมีปริมาณการ trade ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยมากจะเป็นแนวทางการบริหารแบบ Bottom – Up คือการเลือกหุ้นเป็นรายบริษัท และลงทุนแบบระยะยาวเช่น 3 – 5 ปี แนวทางนี้มักจะมีความผันผวนของผลตอบแทนที่น้อยกว่าแบบ Trading ซึ่งจากการสังเกตส่วนตัว ผมพบว่าแนวทางนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในปีที่ตลาดหุ้นติดลบ เนื่องจากหุ้นที่ผู้จัดการกองทุน ลงทุน เป็นหุ้นที่ผลประกอบการระยะยาวมีความผันผวนน้อย และไม่เหวี่ยงมากไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

เจาะลึก “หนังสือชี้ชวน” จับสไตล์ผู้จัดการกองทุน

ด้วยมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีของกองทุนไทย ทางสำนักงานกลต. ได้จัดทำระบบเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและรายงานกองทุนรวม ซึ่งคุณสามารถหามูลค่า commission ที่กองทุนจ่ายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ได้ หากค่า commission ดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่เยอะเมื่อเทียบกับขนาดกองทุน เช่น > 1 % ขณะที่ค่า commission เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.25% ก็เป็นตัวแสดงว่ากองทุนนั้นจัดอยู่ในสไตล์ Trading หากค่า commission คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย เช่น < 0.25% ก็เป็นตัวแสดงได้ว่ากองทุนนั้นจัดอยู่ในประเภท Buy and Hold

เจษฎา สุขทิศ, CFA.