ประเด็นในวันนี้ค่อนข้างยากนะครับ ผมจะเล่าให้ฟังถึงโครงสร้างของดอกเบี้ยภายในประเทศ ว่ามีความสัมพันธ์กับสภาพคล่องของเงินดอลลาร์อย่างไร ผู้อ่านจำเป็นต้องมีพื้นฐานจาก ตอนที่ 1 [หาอ่านได้ที่ http://fundmanagertalk.com ]
FX Forward, THBFIX, CCS, IRS และ Yield

ทั้ง FX Forward, THBFIX, CCS, IRS และ Bond Yield ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งครับ โดย USD/THB CCS หรือ [Cross Currency Swap] คือการตกลงกันระหว่าง 2 Party ในการแลก Cash Flow ที่เป็นสกุลดอลลาร์ กับ Cash Flow ที่เป็นสกุลบาท โดยฝ่ายที่กู้ Cash Flow เป็นสกุลดอลลาร์จะจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว LIBOR [London Interbank Offer Rate] ขณะที่ฝ่ายที่กู้ Cash Flow เป็นสกุลบาทจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยคงที่

สำหรับ IRS นั้นจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยของเงินสกุลเดียว ซึ่งในที่นี้คือสกุลบาท โดยคือการตกลงระหว่าง 2 Party ในการแลกดอกเบี้ยคงที่เป็นสกุลบาท กับดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งอิงกับ THBFIX อายุ 6 เดือน ช่วงใดที่นักลงทุนคาดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นสามารถทำสัญญา Pay Fixed / Receive Float IRS เพื่อปรับลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ เช่นเดียวกันหากเราคาดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลงก็สามารถทำสัญญา Receive Fixed / Pay Float เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้เช่นกัน [อ่านรายละเอียดได้จากบทความเรื่อง “การบริหารพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นโดยใช้ Interest Rate Swap” ที่ http://portal.settrade.com/blog/jessada/

ดอกเบี้ย IRS กับ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลเองก็มีความสัมพันธ์กันมากครับ โดยจะมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นดอกเบี้ยสกุลบาทเหมือนกัน และมีช่องทางในการแสวงหากำไร [Arbitrage Opportunity] ระหว่างดอกเบี้ยของทั้ง 2 Curve หากมีความแตกต่างกันมาก ๆ ซึ่งภาษา Trader เขาเรียก Bond Swap Spread Trade ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียด ณ ที่นี้ครับ

สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศกับความบิดเบือนของโครงสร้างดอกเบี้ยของประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่นำมาสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสภาพคล่องเงินดอลลาร์ กับดอกเบี้ยไทย [ในที่นี้หมายถึง Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “Yield นั้นสำคัญไฉน” ที่ http://fundmanagertalk.com/investment-talk-yield/ ] คือการที่ดอกเบี้ยขาลอยตัว [Floating Leg] ของธุรกรรม IRS นั้นจะจ่ายโดยอิงกับ THBFIX ขณะที่ THBFIX เองก็จะอ่อนไหวไปตามสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศ เช่น จากตัวอย่างในตอนที่ 1 หากผู้ส่งออกทำสัญญา “Sell USD/THB Forward” มาก ๆ หรือมีการออกกองทุนรวมแบบปิดความเสี่ยงค่าเงิน USD/THB มาก ๆ ก็จะทำให้สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศลดลง พร้อมไปกับ THBFIX ที่ปรับตัวลดลง

เมื่อ THBFIX ปรับตัวลดลง ก็ส่งผลต่อไปที่ดอกเบี้ย IRS ปรับตัวลดลง และกระทบต่อเป็น Domino ไปสู่ดอกเบี้ย Bond Yield อีกทอดหนึ่ง นั่นเท่ากับว่าความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ในประเทศที่มากขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ดอกเบี้ยในประเทศต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งประเด็นนี้ทางแบงค์ชาติได้เล็งเห็นปัญหา โดยพยายามผลักดันดอกเบี้ย BIBOR [Bangkok Interbank Offer Rate] เพื่อใช้เป็น Reference Rate สำหรับธุรกรรม IRS และธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร [Interbank] เพื่อป้องกันปัญหาข้างต้น

การที่ดอกเบี้ยในประเทศถูกบิดเบือนอันเนื่องมาจากความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ มีผลเสียหลายประการ โดยทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ และผลตอบแทนการลงทุนของผู้ออมไม่เป็นไปตามวัฏจักรดอกเบี้ย กล่าวคือการทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินลดลงเพราะ Bond Yield ไม่ปรับตัวตามดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนั้นมีนัยสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ และผลตอบแทนการลงทุนของพอร์ตการลงทุนในหลายแง่มุม ตั้งแต่ผลกระทบโดยตรงต่อราคาตราสารหนี้, ผลกระทบโดยอ้อมในแง่ของการ Valuation ตราสารทุน รวมไปถึงมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การทำ Valuation อนุพันธ์หลาย ๆ ชนิดต่างก็มีส่วนผสมของดอกเบี้ยอยู่ด้วย ดังนั้น แม้หัวข้อวันนี้จะยากไปซักนิด ผมคิดว่าคุ้มค่าที่เราจะทำความเข้าใจไว้บ้าง เพื่อประกอบเป็นองค์ความรู้สำหรับการลงทุนของท่านครับ อย่างที่ผมมักจะเขียนตอนท้ายบทความอยู่เสมอว่า “ในโลกของการลงทุน ยิ่งรู้มากกว่า ก็ยิ่งได้เปรียบ” สำหรับวันนี้ สวัสดีทุกท่านครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA