เรื่องวันนี้อาจจะยากนิดนึงนะครับ แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะเข้าใจในเรื่อง Fund Flow จาก ต่างประเทศ รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับเรื่องตลาดเงินตราต่างประเทศ และโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสำหรับบทความนี้ ผมจะพยายามอธิบายให้เป็นภาษาง่าย ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้สมการครับ

Interest Rate Parity [หรือ IRP]

IRP เป็น หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดเงินตราระหว่างประเทศซึ่งหลักนี้มีอยู่ว่า ดอกเบี้ยของสองประเทศเมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินแล้วจะต้องเท่ากัน เช่น หากดอกเบี้ยอเมริกา 6 เดือนเท่ากับ 0.5% [LIBOR] ดอกเบี้ยไทยเท่ากับ 1.5% [THBFIX] ตามหลัก IRP ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ [USD/THB] จะต้องอ่อนค่าลง 1% ต่อปี ใน 6 เดือนเท่ากับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เช่น จากระดับ Spot Rate 30.5 บาทเป็นระดับ Forward Rate ที่ 30.6525 บาท/ดอลลาร์ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยเป็นอย่างมากจากกระแสเงินที่กู้ด้วยต้นทุนต่ำเป็นสกุล USD มาลงทุนในที่ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงเป็นสกุล THB [Arbitrage Flow]

ในเนื้อหาส่วนถัดไปผมขอใช้ตัวเลชจากตัวอย่างข้างต้นต่อเนื่องไปเลยนะครับ

FX Forward [หรือ FX Swap]

ผมชอบเรียกว่าเป็นตลาดการกู้ยืมเงินดอลลาร์ในประเทศไทยครับ ซึ่งหลักการก็มาจากทฤษฎี IRP ข้าง ต้น เช่นหากผู้ส่งออกต้องการที่จะป้องกันความเสี่ยงของรายได้ที่เป็นสกุลดอลลาร์ ใน 6 เดือนข้างหน้า ก็จะทำการขายดอลลาร์ล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่าการ “ขายฟอร์เวิร์ด” ที่ 30.6525 บาท/ดอลลาร์ เพื่อล็อคอัตราแลกเปลี่ยน หรือรายได้จากการส่งออกที่จะได้รับในอนาคต

หากมองอีกนัยหนึ่งการ “ขายฟอร์เวิร์ด” นี้เองก็คือการที่ผู้ส่งออกยืมเงินดอลลาร์จาก Counterparty มาขายที่ Spot Rate และในเวลาเดียวกันคือการที่ผู้ส่งออกให้ Counterparty กู้ยืมเงินบาทมาส่งมอบกับผู้ส่งออกที่ Spot Rate เช่นกัน [อาจต้องอ่านย่อหน้านี้หลาย ๆ รอบจึงจะเข้าใจครับ]

ดังนั้นต้นทุนการ “ขายฟอร์เวิร์ด” ของผู้ส่งออก ก็คือ ดอกเบี้ยสกุลเงินบาท 6 เดือน – ดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ 6 เดือนนั่นเอง [ทั้งนี้การ Settle เงินกันตามธุรกรรมดังกล่าวจะทำในอนาคตบน rate ที่ตกลงกันวันนี้]

คิดต่ออีก step… หากมีการ “ขายฟอร์เวิร์ด” กันมาก ๆ ย่อมหมายถึงสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศไทยที่มีน้อยลงจากความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ข้างต้น ไม่ได้มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในตลาด Spot แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ส่งออกและ Counterparty จึงเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของทั้ง 2 สกุลเป็นหลัก [ในที่นี้คือดอกเบี้ย USLIBOR และ THBFIX]

Cross Currency Swap [หรือ CCS หรือ Buy/Sell & Sell/Buy FX Swap หรือ Buy/Sell & Sell/Buy FX Forward]

วิธีที่ใช้ในการจัดเตรียมเงินดอลลาร์ให้กับผู้ส่งออกข้างต้น Bank Counterparty สามารถทำได้ผ่านการกู้เงินดอลลาร์ แลกกับการปล่อยกู้เงินบาทในตลาด Cross Currency Swap [หรือเรียกว่า Buy/Sell USD Forward] ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการปล่อยกู้บาทมาก ๆ ย่อมทำให้ดอกเบี้ยของเงินสกุลบาทปรับลดลง [คิดง่าย ๆ ว่าคนแย่งกันปล่อยกู้ ดังนั้นดอกเบี้ยต่ำ ๆ ก็ต้องยอม] ซึ่งจุดนี้เองครับที่เป็นความสัมพันธ์ของสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินกับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย ซึ่งดอกเบี้ยตัวที่ผมระบุถึงนี้คือดอกเบี้ย Cross Currency Swap นั่นเอง

การทำ Cross Currency Swap สามารถ ทำได้สำหรับวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น กองทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศและปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต้องทำ คือ การ Receive USD/THB CCS ยกตัวอย่างเช่น กองเกาหลี 2 ปี ซึ่งผู้จัดการกองทุนต้องทำการการปล่อยกู้เงินบาทที่ระดมจากนักลงทุนไทยให้กับ Counterparty ขณะเดียวกันก็ขอยืมเงินดอลลาร์เป็นเวลา 2 ปี เพื่อนำไปลงทุนในต่างประเทศ คล้ายกันกับกรณีของการทำ Buy/Sell USD Forward ครับ การปล่อยกู้บาทให้กับ Counterparty มาก ๆ ย่อมทำให้ดอกเบี้ยสกุลบาทของ CCS Curve ปรับลดลงเช่นกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย [แบงค์ชาติ] เองก็มีบทบาทสำคัญเช่นกันต่อตลาด CCS ครับ โดยมากแบงค์ชาติจะมีส่วนร่วมกับตลาด CCS ระยะสั้น หรือที่เรียกว่า Buy/Sell & Sell/Buy FX Swap [ตลาดเดียวกันกับกรณีผู้ส่งออกข้างต้น] ซึ่งในระยะหลังแบงค์ชาติมักจะมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าในอัตราที่เร็วเกินไป สิ่งที่แบงค์ชาติมักจะทำคือการเข้าซื้อ USD ขาย THB ในตลาด Spot Exchange Rate เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในตลาด Spot ขณะที่ทำการ Sell/Buy FX Swap ในตลาด CCS ซึ่งหมายถึงการให้ตลาดยืมเงิน USD ที่ไปซื้อมาจากตลาด Spot ขณะ ที่แบงค์ชาติเองเป็นผู้กู้ยืมเงินสกุลบาท ซึ่งต้นทุนของแบงค์ชาติก็คือส่วนต่างของดอกเบี้ยไทย – ดอกเบี้ยอเมริกานั่นเองครับ ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นคือประมาณ 1% [โดยมากจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ต่ำกว่า 1 ปี]

การเข้าทำ Sell/Buy FX Swap ของแบงค์ชาติ หรือการกู้เงินสกุลบาทในตลาด CCS นี้เองที่มีส่วนผลักดันให้ดอกเบี้ย CCS ปรับตัวขึ้น กล่าวคือ นอกจากแบงค์ชาติจะเป็นผู้ลดความผันผวนของค่าเงินบาทในตลาด Spot แล้ว แบงค์ชาติยังมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการกู้ยืมเงินดอลลาร์ หรือเรียกว่าการ Supply เงินดอลลาร์ในตลาด CCS อีกด้วย

จุดสำคัญของบทความนี้คือต้องการแยกให้เก็นความแตกต่างระหว่างตลาด Spot Exchange Rate หรือที่เราเรียกกันว่าค่าเงินบาท กับตลาด Forward & CCS Market ซึ่งเป็นตลาดที่สะท้อนสภาพคล่องของการกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์ว่าเป็นคนละตลาดกันครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA

ติดตามบทความจาก 8 ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้ที่ http://fundmanagertalk.com และสำหรับท่านที่เป็นชาว Social Media เชิญไปแลกเปลี่ยนกันได้ที่ http://facebook.com/fundmanagertalk และ http://twitter.com/fundtalk สำหรับวันนี้… สวัสดีครับ