บทความนี้เป็นมุมมองการวิเคราะห์ของผมจากการฟังการให้สัมภาษณ์ของคุณ Joseph Stiglitz ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย โดยวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเคลื่อนไหวของกระแสเงินโลกในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทย

เขาคือใคร ?

คุณ Joseph Stiglitz เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 2001 เจ้าของ “ทฤษฎีข้อมูลที่ไม่สมมาตรกัน (Theory of information Asymmetry)” ซึ่งส่งผลให้ตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยคุณ Stiglitz เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) ของธนาคารโลก (World Bank) ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจให้กับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่คุณ Stiglitz ได้ตอบรับเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ( อ่านประวัติของเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Stiglitz )

ที่มาของเงินร้อน

สหรัฐอเมริกาได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการขยายงบดุลของธนาคารกลาง (FED) อย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ลงไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์คือ 0 – 0.25% ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2551 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึง FED ที่ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินทำให้สินทรัพย์ของ FED เพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 8 แสนล้านเหรียญในปี 2551 มาเป็น 2 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน (มีเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นในระบบคิดเป็นเงินไทยประมาณ 68 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศไทยประมาณ 7 เท่า) โดยเงินที่อัดฉีดเข้ามาส่วนใหญ่จะผ่านมาที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ด้วยเป้าประสงค์ให้เกิดการปล่อยกู้ในสหรัฐฯ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะถดถอย และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ก็ได้ดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องในลักษณะเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดสภาพคล่องจำนวนมากในระบบการเงินของโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้นกลับไม่ได้นำไปสู่การปล่อยกู้ในสหรัฐฯเป็นหลัก แต่กลับไหลไปสู่ภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภูมิภาคเอเชีย โดยเงินส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเช่น หุ้น และพันธบัตร (นับแต่ต้นปีมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท – แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินดังกล่าวมาจากสหรัฐฯ ทั้งหมด)

ปัจจัยที่ควรจับตามอง

เมื่อเงินที่ไหลเข้าตลาดทุนส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เมื่อวิกฤตได้ผ่านพ้นไปย่อมเป็นไปได้ที่เงินเหล่านั้นจะต้องไหลกลับไปสู่แหล่งที่มา เช่นในกรณีของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการวางแผนของการดึงเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบกลับคืนสู่ทางการไปบ้างแล้ว (Exit Strategy) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนไทยควรให้ความสำคัญก็คือ สภาพคล่องของตลาดเงินโลก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทยไม่มากก็น้อย อย่างแน่นอน ผมแนะนำให้ติดตามปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้

  1. อัตราดอกเบี้ย London Interbank Offer Rate อายุ 6 เดือน (6-month LIBOR) ซึ่งเป็น indicator สำคัญที่สะท้อนถึงสภาพคล่องของตลาดการเงินของโลก ปัจจบันอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์คือ 0.675% ณ วันที่ 15 กันยายน 2552 หากอัตราดอกเบี้ยตัวนี้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อใด ย่อมหมายถึงสภาพคล่องที่ลดลง (ดู http://www.economagic.com/libor.htm#US)

libor

ที่มา Bloomberg

  1. ขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED Balance Sheet) หาก FED เริ่มลดขนาดของสินทรัพย์ที่ถือครองเมื่อใด ย่อมหมายถึงการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ โดยปัจจุบันขนาดสินทรัพย์ที่ FED ถือครองคือประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ ดังที่ระบุไว้ข้างต้น(ดู http://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bst_recenttrends_accessible.htm )

fed-balance-sheet

ที่มา Macroeconomic Advisers

ผมเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ มองว่าอาจเกิดขึ้นในปี 2553 มีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางหลาย ๆ แห่งทั่วโลกโดยเฉพาะ FED ที่จะทยอยดึงสภาพคล่องที่ปล่อยไปในระบบกลับคืน ซึ่งผมหวังว่ากระบวนการนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนของบ้านเราอย่างมีนัยสำคัญ แต่เราอยู่บนตลาดที่การคาดการณ์ของนักลงทุนมีผลต่อราคา อาจเป็นไปได้ที่มีการเก็งถึงสภาพคล่องที่ลดลง และทำให้เกิดความผันผวนของกระแสเงินได้เช่นกัน สรุปแล้วคือ หากเราลงทุนในสิ่งที่มีความผันผวน สิ่งที่เราควรทำคือติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อราคานั่นเอง ในโลกของการลงทุน “ยิ่งรู้มากกว่า ก็ยิ่งได้เปรียบ” สวัสดีครับ