02_INVESTOR_OASIS_Template13

เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนหลายคนไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน คือการไม่จัดพอร์ตระยะยาวให้เหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุน และความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง บ่อยครั้งที่ปล่อยให้ความผันผวนของตลาดเข้าครอบงำจนทำให้ขายสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นออกจากพอร์ตไปมากจนเกินควร และเมี่อตลาดปรับตัวขึ้นก็ตามกลับเข้าไปซื้อไม่ทัน หรือบางกรณีก็เป็นภาวะของความฮึกเหิมในตลาดหุ้นขาขึ้น ที่นักลงทุนจำนวนมากเข้าไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจนมากเกินความเหมาะสม และจบลงด้วยการขาดทุนมหาศาลเมื่อตลาดพลิกกลับเป็นขาลง แท้จริงแล้ว กุญแจสำคัญสำหรับความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวมาจากการจัดพอร์ตให้เหมาะสม บวกกับระยะเวลาการลงทุนที่ยิ่งนานก็ยิ่งดี

สำหรับแนวทางจัดพอร์ตอย่างมืออาชีพด้วยหลัก Core-Satellite เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ โดยนอกจากจะเป็นการมีพอร์ตการลงทุนหลักที่มีชนิดสินทรัพย์ที่เหมาะสมในการลงทุนระยะยาว (Core Portfolio) ยังมีส่วนที่เป็นพอร์ตการลงทุนระยะสั้น (Satellite Portfolio) ที่ใช้ในการหาโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ทั้งนี้ การจัดพอร์ตแบบ Enhanced Core-Satellite คือการเพิ่มเครื่องมือการ Trading และ Rebalancing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน ซึ่งมีขั้นตอนโดยสรุปดังต่อไปนี้

  1. กำหนดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสำหรับการลงทุนในระยะยาว ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนนาน ๆ เช่นมากกว่า 10 ปี แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 60% ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนแต่ละท่าน
  2. แบ่งพอร์ตระหว่าง Core กับ Satellite อาจเริ่มต้นด้วย Core 70% และ Satellite 30% ขึ้นอยู่กับความถนัดและความต้องการของนักลงทุนแต่ละท่าน โดยส่วน Core จะเป็นการลงทุนระยะยาว และ Satellite จะเป็นการลงทุนระยะสั้นประมาณ 1 ปี
  3. กำหนดชนิดสินทรัพย์ใน Core Portfolio โดยสำหรับนักลงทุนไทยในเบื้องต้นแนะนำให้ใช้ หุ้นไทย ตราสารหนี้ไทย และกองทุนอสังหาฯ (หรือ REITs) เป็นสินทรัพย์หลักเพื่อกระจายแหล่งรายได้ให้มาจากทั้งกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าเช่า
  4. กำหนดสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในส่วนของ Satellite Portfolio ประมาณ 1-3 ตัวสำหรับการลงทุนระยะสั้น เช่นในปี 2558 อาจเป็นการลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชีย หุ้นยุโรป & Global REITs เป็นต้น (อ่านบทความ “แนวโน้มการลงทุนโลก (Investment Theme) ที่สำคัญในปี 2558” ได้ที่http://fundmanagertalk.com/investment-theme-2015/ )
  5. สำหรับส่วน Core Portfolio ให้ใช้กลยุทธ์การ Rebalancing แบบซื้อถูกขายแพงช่วยในการจัดพอร์ต เช่นถ้าจัดพอร์ตหุ้นไทย 30% กองอสังหาฯ 10% ตราสารหนี้ไทย 30% ในช่วงที่หุ้นขึ้นมาก ๆ ก็ให้ขายทำกำไรจากส่วนหุ้นไปเข้าตราสารหนี้ กลับกันในช่วงที่หุ้นลงมาก ๆ ก็นำเงินในส่วนตราสารหนี้กลับเข้าไปช้อนลงทุนในหุ้น
  6. สำหรับส่วน Satellite Portfolio สามารถใช้กลยุทธ์ในการ Trading เข้ามาช่วยในการบริหารพอร์ตได้ โดยแนะนำให้กำหนด Target return / Stop Loss เช่นตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ 12% แต่กำหนดจุดตัดขาดทุนที่ต่ำกว่าเช่น 6% เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ต ยกตัวอย่างเช่น หากมีการทำ Satellite Trading 10 ครั้ง และถูกผิดอย่างละ 5 ครั้ง ผลกำไรไม่รวมต้นทุนค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 12 x 5 = 60% ขณะที่ผลขาดทุนจะอยู่ที่ 6 x 5 = 30% สุทธิแล้วยังคงมีผลกำไรสูงถึง 30% เป็นต้น
  7. สุดท้ายคือการ rebalance เงินระหว่างส่วน Core กับส่วน Satellite ถ้าช่วงไหนพอร์ตลงทุนระยะสั้นเติบโตขึ้นมากจนสัดส่วนเพิ่มจาก 30% ของพอร์ตทั้งหมดขึ้นไปมากก็ใช้โอกาสนั้นในการย้ายเงินไปเพิ่มในส่วนของ Core Portfolio ในทางกลับกันหากสัดส่วนของ Satellite Portfolio ปรับลดลงก็อาจพิจารณาย้ายเงินจากพอร์ตหลักมาลงทุนเพิ่ม

CoreSatellite

 

การจัดพอร์ตโดยใช้กลยุทธ์แบบ Enhanced Core-Satellite ข้างต้นเป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุนสามารถมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว รวมไปถึงหากส่วนการลงทุน Satellite Portfolio ทำได้ดีและเติบโตขึ้นก็สามารถนำไปใช้เป็นเงินต้นลงทุนเพิ่มในส่วน Core Portfolio เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้อีกด้วย

เจษฎา สุขทิศ, CFA