ในวันที่แทบทุกธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมทั้งการโอนเงินข้ามแบงค์ และการจ่ายสารพัดค่าธรรมเนียม ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้เป็นหลักเหยียบหมื่นล้านบาท หนึ่งในสาเหตุหลักคือการที่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) นั้นเปลี่ยนแปลงไป จากการต้องมาทำธุรกรรมที่แบงค์เป็นการใช้แอพมือถือทำธุรกรรมแทน

การที่แบงค์ตัดสินใจไม่เก็บค่าธรรมเนียมอีกต่อไปก็เพราะต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้แอพของตัวเอง และการมีจำนวนผู้ใช้งานมาก ๆ ก็เป็นโอกาสสำคัญในการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการอื่นต่อไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) นั่นเอง

พฤติกรรมของผู้ฝากเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะดอกเบี้ยต่ำมากเหลือเพียงประมาณ 1% ซึ่งทำให้ผู้ฝากเงินได้โยกเงินจำนวนมากไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้สิ่งที่สถาบันการเงินทั้งหลายจะได้รับก็คือค่าธรรมเนียม เช่นค่าธรรมเนียมการ underwrite หุ้นกู้ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น และกองทุน

อย่างไรก็ตามในยุคที่เทคโลยีเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ นาทีของชีวิตเช่นทุกวันนี้ เราทุกคนใช้เวลาจำนวนมากบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน การดูแลนักลงทุนในยุคนี้จึงเริ่มมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น

จากเดิมที่หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์การลงทุนเช่น หุ้น กองทุนรวมเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่วไป ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวสารข้อมูลแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนผ่านทาง Media หลายรูปแบบ ทั้ง facebook, LINE, youtube และบล็อกต่าง ๆ แทบไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้คนไทยในวงกว้างสามารถทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น การจะลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะง่ายขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ที่ประเทศเราจะเริ่มมี Digital ID และ e-KYC ซึ่งจะทำให้คนไทยทุกคนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านี้ทางช่องทางออนไลน์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องพบกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินอีกต่อไป

การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของนักลงทุนก็จะเกิดง่ายขึ้น จากอดีตที่หลาย ๆ คนมักจะผูกติดการฝากเงินและการลงทุนไว้กับไม่กี่สถาบันการเงิน เนื่องจากการเปิดบัญชีมีความยุ่งยาก และต้องใช้คนดูแล ในยุคดิจิทัลอย่างปัจจุบันนั้นมีการเปรียบเทียบข้อมูลย่อยให้ผู้บริโภคเข้าใจง่าย ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเปรียบเทียบทุกธนาคาร ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบทุกกองทุน ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นเทียบแต่ละโบรคเกอร์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์แต่ละสถาบันการเงินน้อยลง แต่จะเริ่มโยกย้ายเงินไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า

นักลงทุนจะมีความเป็น Segment น้อยลง

จากเดิมที่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจะมีการแบ่งเป็น segment ที่ชัดเจน เช่นกลุ่มรายย่อยที่มีเงินฝากเงินลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท, กลุ่ม Mass affluent ที่อยู่ในช่วง 1 – 10 ล้านบาทซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 แสนคนในปัจจุบัน, กลุ่ม Premium ที่มีเงินฝากเงินลงทุน 10 – 50 ล้านบาท และกลุ่ม Private Bank คือขนาด 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยทั้งผลิตภัณฑ์ และระดับการให้บริการ (Service Level) ที่ให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันชัดเจน เช่นในอดีตการแนะนำการลงทุนใน Structure Product หรือกองทุนรวมที่มีความซับซ้อนมักจะกระจุกตัวอยู่ในลูกค้ากลุ่มบน แต่ในปัจจุบันที่ Mobile Experience ได้สร้างความสามารถใหม่ให้กับสถาบันการเงินสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงคนในวงกว้างขึ้น ในต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เคยแนะนำได้เฉพาะลูกค้ากลุ่มบนสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มกลางและกลุ่มล่างได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งในที่นี้ผมขอให้คำนิยามว่าเป็นนักลงทุนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีเริ่มที่จะสนใจในสิทธิพิเศษ (Privilege) ต่าง ๆ น้อยลงกว่าเดิม ขณะที่ใส่ใจในผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น

บริการ Private Banking ในยุคฟินเทค

ผู้เขียนมองว่าบริการสำหรับนักลงทุนกลุ่มบนในยุคนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการยึดประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนเป็นสำคัญซึ่งจะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว จะมีความสำคัญมากกว่าการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถ สิทธิ์ในการเข้าเลานจ์ตามสนามบิน นอกจากนี้การให้ความรู้ที่ปราศจาก Bias ก็มีความสำคัญ คือการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับที่มีของทุกสถาบันการเงิน ไม่ใช่การเน้นแต่การขายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินของตัวเอง โดยนักลงทุนรุ่นใหม่ใส่ใจกับการได้รับความรู้การเงินการลงทุนที่ลึกขึ้น และถูกต้องมากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลก็มีผลมากขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่ผู้ให้บริการ Private Banking จะเน้นที่ตัว RM เป็นหลัก แต่ในยุคนี้การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่นการใช้ Robo Advisor เข้ามาช่วยให้คำแนะนำการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสะดวกรวดเร็วขึ้น แทนที่จะต้องเซ็นเอกสารเป็นปึก ๆ เปลี่ยนมาเป็นการทำธุรกรรมได้ครบจบในแอพในทีเดียว หรือการแสดงผลการดำเนินงานการลงทุนที่ถูกต้องมากขึ้น เช่นการใช้ TWRR หรือ Modified Dietz ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเครื่องมือที่เหล่า Private Banker ได้ใช้ประกอบการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนในยุคฟินเทคครับ

สุดท้ายนี้ทาง FINNOMENA ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ปัจจุบันกำลังขยายธุรกิจ Private Banking ในสไตล์ฟินเทค และเปิดรับ Senior Investment Advisor, Portfolio Specialist จำนวนหลายอัตรา หากท่านสนใจดูรายละเอียดได้ที่ https://www.finnomena.com/careers/ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

FundTalk รายงาน