หากพูดกันเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ผมคิดว่านักลงทุนไทยควรให้ความสำคัญกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ Foreign Investment Fund (FIF) เนื่องจากกองทุน FIF นั้นเปิดโอกาสที่ดีให้นักลงทุนไทย โดยช่วยให้สามารถกระจายเงินลงทุนไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งการกระจายการลงทุน (Diversification) นี้เองที่หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) คิดดูง่าย ๆ ครับ หากเราจัดสรรเงินลงทุนที่เรามีกระจุกอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญโดยตรงก็คือ ความเสี่ยงของประเทศนั้น (Country Risk) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านการเมือง ด้านกฎระเบียบ หรือจะเป็นด้านเศรษฐกิจก็ตาม อย่างเช่นประเทศไทยของเราที่มีปัญหาการเมืองเรื่องกีฬาสีติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว หรือในอดีตที่เคยมีประกาศมาตรการ 30% ควบคุมเงินไหลเข้าประเทศก็ตาม วันนี้ผมจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณผู้อ่านครับ ว่ากองทุน FIF ในเมืองไทยประเภทใดที่ควรมีไว้สำหรับการจัดสรรเงินลงทุนระยะยาวของนักลงทุน

กองทุนรวม FIF ตราสารหนี้ (Fixed Income FIF)

ผมชอบกองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่ออกโดยรัฐบาลของกลุ่ม Emerging Market เช่นประเทศบราซิล อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพราะผมมองว่าความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอยู่ในระดับที่สูง เช่น Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย 10 ปี ที่ระดับประมาณเกือบ 10% ประกอบกับทิศทางค่าเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Market มีแนวโน้มแข็งค่าจากการเกินดุลการค้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนครับที่มีกองทุนที่ลงทุนใน Emerging Market Bond ดังที่กล่าวข้างต้น

กองทุนรวม FIF ตราสารทุน (Equity FIF)

ในทฤษฎีการการจัดสรรการลงทุนโดยทั่วไป มักแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อให้ได้ Risk adjusted return ที่เหมาะสม แต่ในมุมมองของผม ผมชอบที่จะลงทุนในหุ้นของประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีใน 1 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน แต่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia ex Japan) หรือประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เป็นต้น และในช่วง 1 – 3 ปีข้างหน้านี้เองที่ผมไม่แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ทีเสนอขายในบ้านเราก็มีกองทุนที่ผมกล่าวมาค่อนข้างครบไม่ว่าจะเป็น Asia Ex Japan หรือ BRICs

กองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในโภคภัณฑ์ (Commodity FIF)

อีกหนึ่งประเภทการลงทุนที่ผมคิดว่านักลงทุนควรให้ความสนใจ คือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)  ได้แก่ น้ำมัน, สินค้าเกษตร และทองคำ ทั้งนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกได้ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากระดับ 140 เหรียญมาที่ 65 เหรียญต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือราคาข้าวทีปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 24 เหรียญ มาที่ 13 เหรียญต่อ Hundredweight (ประมาณ 50 กิโลกรัม) ใน 1 – 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่ดีที่เศรษฐกิจจะฟื้นไปพร้อมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ครับ สุดท้ายเลยที่ขาดไม่ได้คือกองทุนทองคำครับ เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยครับ ที่เรามีกองทุนรวม FIF ทีลงทุนในน้ำมัน, สินค้าเกษตร และโภคภัณฑ์ สนอขายอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับท่านนักลงทุนที่สนใจจะศึกษาต่อในรายละเอียดของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศแต่ละกองทุน ถึงขั้นตอนการซื้อขายผลประกอบการในอดีต หรือรายละเอียดของหลักทรัพย์ที่แต่ละกองทุนลงทุนแนะนำให้ศึกษาเริ่มจากเวบไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนที่ AIMC ครับ