เข้าสู่ช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงจะเริ่มอยู่ในระหว่างตัดสินใจเลือกซื้อกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ว่าจะเป็น LTF หรือ RMF นอกเหนือจากความรู้สึกมี Brand Loyalty ต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ท่านชื่นชอบ วันนี้ผมจะขอเสนอแนวทางการเลือกกองทุน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมหลายปัจจัย ทั้งผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม และสไตล์การบริหารของทีมงานผู้จัดการกองทุนของแต่ละ บลจ. ครับ

ผลตอบแทนย้อนหลัง

บ่อยครั้งที่ผมสังเกตจากการไปออกงานเทศกาล LTF ซึ่งมักจะจัดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ซึ่งหลาย ๆ บริษัทจัดการมักจะนำเสนอผลตอบแทนในรอบปีนั้น ๆ นับแต่ต้นปี (Year to date) บริษัทจัดการที่ผลตอบแทนอยู่ในอันดับต้น ๆ ก็มักจะได้รับการอุดหนุนเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่าการที่เราเลือกซื้อกองทุนโดยเลือกจากกองทุนที่มีผลตอบแทนดีนับแต่ต้นปี มีโอกาสสูงที่ราคาหุ้นที่ถือครองในกองทุนนั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างแพง เนื่องจากในปีนั้นราคาปรับเพิ่มขึ้นมามาก และสะท้อนอยู่ใน NAV ของกองทุน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Style การบริหารของแต่ละบริษัทจัดการที่เหมาะกับภาวะตลาดที่ไม่เหมือนกัน เช่น Value Style มักจะมีผลตอบแทนที่ดีในช่วงตลาดขาลง หรือ Momentum Style ที่มักให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงตลาดขาขึ้น

ประเด็นของผมคือ การลงทุนใน LTF มีระยะเวลาการลงทุนอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน แต่เรามาเน้นดูกันที่ผลตอบแทนประมาณปีเดียวไม่น่าจะดีครับ ผมสนับสนุนให้นักลงทุนดูผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงอายุที่ยาวขึ้นประมาณ 3 – 5 ปี เนื่องจากจะสะท้อนความสามารถของทีมผู้จัดการกองทุนในการที่จะบริหารกองทุนอย่างแท้จริง คุณสามารถดูผลตอบแทนย้อนหลัง 1 , 3 , 5 ปี ซึ่งผมได้ทำการดึงข้อมูลจาก สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และทำการ update ให้ทุกไตรมาส ได้ที่ http://fundmanagertalk.com/forum/fund/

สไตล์การบริหารของผู้จัดการกองทุน

ปรัชญา และแนวทางการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสนใจนอกเหนือจากผลตอบแทนครับ ซึ่งแต่ละบลจ. ต่างก็มีแนวทางของตัวเอง เช่น แบบ Momentum Style ที่มีปริมาณการซื้อขายเมื่อเทียบกับขนาดกองทุน (Turnover) สูง หรือแบบ Bottom up ที่เน้นการวิเคราะห์เชิงลึกของแต่ละบริษัทที่จะเข้าลงทุน บางบลจ. ก็ใช้กลยุทธ์ Bottom up และทำการ Buy and Hold เป็นระยะเวลาหลาย ๆ ปีโดยไม่เปลี่ยนแปลงพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญ โดยวิธีการง่าย ๆ ถ้าคุณอยากรู้จักแนวทางของแต่ละบลจ. ก็คือการโทรศัพท์ไปที่ บลจ. นั้น ๆ ครับ ซึ่งหากคุณติดตามเรื่อย ๆ ก็จะพบด้วยว่าแต่ละ บลจ. มีการเปลี่ยนแปลงสไตล์การลงทุน (Style Drift) หรือเปลี่ยนแปลงทีมงานผู้จัดการกองทุนบ่อยเกินไปหรือไม่

การถือครองหุ้นของแต่ละกองทุน

จะซื้อกองทุน LTF ทั้งที เงินก็ไม่ใช่น้อย ทำการบ้านอีกหน่อยด้วยการศึกษาการถือหุ้นเป็นรายตัวของแต่ละพอร์ตที่ท่านสนใจ ซึ่งโดยมากแต่ละ บลจ. จะประกาศเป็นรายเดือนเพียงไม่กี่วันหลังจากสิ้นเดือนครับ หากคุณไม่ชอบหุ้นบางบริษัท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นปั่น หรือหุ้นที่มีประเด็นด้านธรรมาภิบาล (Corporate Governance) แต่พบว่ากองทุนที่ท่านศึกษาถือครองหุ้นเหล่านั้น ท่านก็อาจจะเลือกหลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนนั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไป ในการประกาศรายชื่อหุ้น และรายชื่อหมวดหลักทรัพย์ที่ลงทุน มีข้อกำหนดให้ประกาศอย่างน้อย 5 อันดับแรก แต่ก็มีบาง บลจ. ที่ให้ดูได้ถึง 10 อันดับแรกซึ่งก็มักจะครอบคลุมกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งกองทุนครับ ส่วนตัวผมชอบกองทุนที่ถือหุ้นที่มีความเฉพาะตัว ไม่ได้มีแต่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาในเชิงลึกผู้จัดการกองทุนในการไป Company Visit พบปะผู้บริหาร และทำการวิเคราะห์หาหุ้นที่ดีเพื่อทำการลงทุน ( ดูตัวอย่างพอร์ตการลงทุนของบลจ.อยุธยา ได้ที่ http://www.ayfunds.com/th/tlistfund.html )

ผมจะพยายามคอย update ทั้งผลการดำเนินงาน 1,3,5 ปีของกองทุน LTF & RMF ทั้งหมดในบ้านเรา รวมถึง “เปิดพอร์ต” เป็นบางกองทุนที่มีผลตอบแทนน่าประทับในในเวบบอร์ดของเวบไซต์นี้ครับ ติดตามกันนะครับ