เจษฎา สุขทิศ, CFA | 2 พ.ค. 54

เข้าสู่เดือนพฤษภาคม ของปีกระต่ายทองแล้วนะครับ อากาศช่วงนี้เริ่มจะร้อนสมกับเป็นหน้าร้อนเมืองไทย หลังจากที่เราเกิดปรากฎการณ์แฟชั่นเสื้อหนาวกลางฤดูร้อนไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าสมดุลธรรมชาติของโลกเรานั้นกำลังสั่นคลอนหนักทีเดียว และระยะหลายปีหลังมามีภัยธรรมชาติต่าง ๆ เกิดถี่ขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับการปรับกลยุทธ์การลงทุนครั้งนี้ผมให้ชื่อว่าตอน “ระวังเงินร้อนลวก” ไม่ใช่น้ำร้อนนะครับ แต่เป็นเงินร้อน ซึ่งหมายถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างชาติซึ่งมาเร็วและไปเร็ว ต้นตอของเงินร้อนที่ว่านี้มาจากทิศทางการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์ในปีนี้ภายหลังจากผู้ว่าแบงค์ชาติสหรัฐฯ ได้ออกมาย้ำกับนักลงทุนว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไป ทำให้สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ยังคงท่วมระบบอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูจากค่าเงินดอลลาร์เทียบกับยูโรล่าสุดอ่อนไปที่ 1.48 อ่อนค่าไปกว่า 10% แล้วในปีนี้ ด้วยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นี้เองเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำ new high อย่างต่อเนื่อง โดยขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ได้ปรับขึ้นทะลุ 1,556 เหรียญต่อออนซ์ไปแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นหลักอย่างอเมริกาก็ทำจุดสูงสุดนับแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไปเช่นเดียวกัน

เมื่อมองกลับไปที่ปัจจัยพื้นฐาน ผมยังคงมองว่าปี 2011 – 2012 ยังคงเป็นปีที่ดีของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น, ทองคำ หรือโภคภัณฑ์ จากแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเติบโตต่อเนื่องของเอเชีย และลาตินอเมริกา [อ่านบทความปรับกลยุทธ์ฉบับที่ผ่าน ๆ มาได้ที่ http://fundmanagertalk.com/tag/fundtalk/]  สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปีนี้น่าจะอยู่ใกล้เคียงกันคือระดับ 4% บวกลบเล็กน้อย ซึ่งถือว่ายังคงเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น โดยเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีกระต่ายผมยังคงเอาไว้ที่ 1,200 จุด บนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 20% นำไปสู่ EPS ตลาดที่ 89 บาท และ P/E ตลาดเป้าหมายที่ 13.5 เท่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยผมมองเป้าหมายที่ 3. 5 – 4.0% ในปี 2011 ค่อนข้างสูงกว่านักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่

ปัจจัยการลงทุนที่ต้องติดตามจากนี้ไปมีหลายประเด็น ซึ่งชั่วโมงนี้ผมให้น้ำหนักเรื่องนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มากที่สุดครับ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามาตรการ QE2 จะจบลงในเดือนมิถุนายน 2011 นี้ ขั้นตอนถัดไปหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มจะฟื้นตัวได้ก็คือการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางที่เข้าซื้อสินทรัพย์ซึ่งล่าสุดเพิ่มสูงถึง 2.7 ล้านล้านเหรียญ  และการขึ้นดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในที่สุด เงินหลายล้าน ๆ เหรียญของแบงค์ชาติสหรัฐฯ นี่แหละครับที่เป็นหนึ่งในตัวการของการทำให้ราคาของสินทรัพย์หลาย Asset Class นับแต่หุ้น, ทองคำ, น้ำมัน, สินค้าเกษตร หรือแม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลเองได้รับแรงซื้อหนุนจนราคาปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นของผมคือ ผมมองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น จะนำไปสู่การลดขนาดงบดุลของ FED ลง หรือสภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะนำไปสู่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ออกมา สิ้นเดือนมิถุนายนนี้จับตาดู reaction แรกของตลาดภายหลัง FED หยุดเพิ่มขนาดของงบดุลหลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอดนับจากมี Hamburger Crisis โดยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากระดับ 9 แสนล้านเหรียญมาเป็น 2.6 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน การหยุดมาตรการ QE มองอีกนัยก็คือหยุดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบการเงิน และในระยะถัดไปการลดขนาดของงบดุลของ FED ย่อมหมายถึงการดึงเงินร้อนออกจากระบบการเงิน

นอกจากปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินสหรัฐฯ แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ  อีกหลายตัวที่จะมีผลต่อราคาสินทรัพย์ ได้แก่ เรื่องปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ซึ่งใกล้จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมากแล้ว, อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวแรงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนเมษาเพิ่มขึ้นถึง 4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ค่อนข้างมาก, เรื่องการเมืองภายในประเทศที่คาดว่าจะมีการยุบสภาเร็ว ๆ นี้, ปัญหาของญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ดูจากมากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์กันเอาไว้ เรียกได้ว่าหลายปัจจัยทีเดียวครับที่ต้องจับตามอง ณ เวลานี้ และแน่นอนว่าปัจจัยลบหลาย ๆ ตัวเช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ย่อมนำไปสู่การ De-rating ของ P/E ตลาดโดยนักลงทุนแน่นอนครับ อยากให้มอง downside ไว้ที่ P/E ประมาณ 11.5 เท่า หรือ 1,025 จุด

โดยสรุปผมมองว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุน โดยยังแนะนำทยอยลงทุนเพิ่มสำหรับการลงทุนในระยะยาว สำหรับท่านที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นและได้กำไรมาพอสมควรแล้ว แนะนำให้ทยอยทำกำไรเช่นกัน โดยปัจจัยเรื่อง Fund Flow และนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ หากเรามองปัจจัยการลงทุนอย่างรอบด้าน ลงทุนอย่างมีสติ และพอเพียง รับรองว่าจะไม่โดน “เงินร้อน” ลวกเอาแน่นอนครับ

ท่านสามารถรับชมทาง Clip YouTube ได้ที่นี่ครับ

httpvh://www.youtube.com/watch?v=FNsoBNJv08I