เนื้อหาที่เขียนขึ้นวันนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ เข้าใจลักษณะ ธรรมชาติ จุดประสงค์ ของกองทุนบำนาญให้มากขึ้น เพื่อประกอบเป็นความรู้ในการที่จะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเราในวันนี้อย่างไม่ปรุงแต่ง เพราะบางครั้ง คนเราชอบสรุปความอัตโนมัติว่าสิ่งใด “ผิด” หรือสิ่งใด “ถูก” จากความรู้สึกของเราเอง โดยละเลยความจริงบางประการไป


กอง ทุนบำนาญมีหลายประเภท เช่น สำหรับพนักงานภาคเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในอนาคตมีการผลักดันให้เกิดกองทุนบำนาญแห่งชาติ นอกจากนี้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ก็มีเป้าประสงค์คล้ายกับเป็นกองทุนบำนาญประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของกองทุนบำนาญคือเป็นเงินกองทุนที่ออมไว้ใช้เมื่อยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกคนว่าเมื่ออยู่ในช่วงบั้นปลาย ชีวิตแล้วนั้น จะมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือสุขสบาย


เงินเฟ้อคืออุปสรรคของชีวิตยามเกษียณ

ธรรมชาติ ของการออมเงินใช้ในยามเกษียณคือ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยทั่ว ๆ ไปเราจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อายุประมาณ 25 ปีและเกษียณที่อายุประมาณ 55 ปี นั่นคือระยะเวลาของการลงทุนนานถึง 30 ปี เป้าหมายของเงินลงทุนดังกล่าวนอกจากจะต้องพยายามสงวนเงินต้นของการลงทุนแล้ว ยังต้องสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อรักษามูลค่าของเงินให้คงอยู่อีกด้วย อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกของเงินเฟ้อที่ข้าวของราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะเขียนบทความอยู่ผมหันไปถามพี่ที่บริษัท ได้คำตอบว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วข้าวแกงจานละ 7 บาท วันนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 400% สมมติว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าราคาข้าวแกงยังคงเป็นไปตามอัตรานี้ ราคาก็คงจะขึ้นไปที่ 120 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 5%

แล้วเงินที่เราออมไว้ใช้ยามเกษียณวันนี้ล่ะครับ สมมติว่าเราออมไว้ 30 บาท เมื่อเราเกษียณจะขึ้นไปถึง 120 บาทเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หมายความว่าเงินที่สะสมไว้วันนี้มีมูลค่าที่ต่ำลง นำไปใช้จ่ายได้น้อยลง ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ทุกท่านต้องการ โดยสรุปคือเป้าหมายของเงินลงทุนระยะยาวเพื่อยามเกษียณ คือสร้างผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็รักษาเงินต้นของการลงทุนให้คงอยู่ ภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวหลายสิบปี
มองสั้น ๆ หรือมองยาว ๆ

ถ้า ท่านตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ผู้จัดการกองทุนสามารถทำให้ท่านได้โดยการนำเงินไปฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ซึ่งเงินลงทุนโดยรวมในแต่ละปีก็จะมีโอกาสติดลบน้อยมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีโอกาสที่จะแพ้เงินเฟ้อเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำกว่า อัตราเงินเฟ้อ

ที่ผมอยากจะถามท่านคือ ทำไมผลตอบแทนในแต่ละปีถึงต้องห้ามติดลบล่ะครับ ในเมื่อเงินลงทุนเรามีอายุยาวหลายสิบปี และการมาตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ก็เป็นการบังคับให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน ต่ำ ผมเห็นว่าการประเมินผลตอบแทนของกองทุนบำนาญโดยดูผลตอบแทนระยะยาว เช่น 10 – 20 ปี จะดูมีเหตุผลกว่าครับ

ตัวอย่างการลงทุนของเงินบำนาญใน ต่างประเทศ เช่นประเทศนอร์เวย์ที่มีเงินกองทุนบำนาญสูงมาก ของเค้านำเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกสูงถึงประมาณ 60% เพราะเค้ามองถึงผลตอบแทนระยะยาวครับ ว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ชนะเงินเฟ้อ และยอมรับได้กับความผันผวนระยะสั้น เช่นผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง ผมไม่เห็นประชาชนประเทศนอร์เวย์ออกมาลุกฮือเลยครับเวลาที่ผลตอบแทนปี 2551 ติดลบ

คุณเลือกแบบไหน

สมมติ ถ้าลงทุนแบบเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนปีละ 3% เป็นเวลา 30 ปี เงิน 30 บาทวันนี้จะเท่ากับ 73 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งจะเอาไปซื้อข้าวแกงจานเดียวยังไม่ได้เลยครับ ขณะที่หากลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง เช่นได้ผลตอบแทนปีละ 7% เงิน 30 บาทในวันนี้จะกลายเป็น 228 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าครับ ซึ่งสามารถซื้อข้าวแกงได้เกือบ 2 จาน
ที่บอกได้แน่นอนคือมันไม่มีในโลก หรอกครับที่จะหาโครงสร้างการลงทุนที่แต่ละปีก็ห้ามขาดทุน ระยะยาวก็ต้องได้กำไร เยอะ และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ (Low Risk, High Return) คุณต้องเลือกครับถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ก็ต้องทนความผันผวนในระยะสั้นได้ (High Risk, High Return) หรือถ้าไม่ต้องการความผันผวนในแต่ละปี ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในระยะยาว (Low Risk, Low Return) ประเด็นของผมในวันนี้คือในเมื่อเงินกว่าเราจะใช้อีกเป็นสิบ ๆ ปี แล้วจะมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนปีต่อปีจนเกินจำเป็นทำไม

จากนี้ไปสังคมต้องเลือกครับ ระหว่าง

1)ผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคือเงินคุณมีมูลค่าลดลง

2)ผลตอบแทนแต่ละปีติดลบได้ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคุณมีเงินที่มีมูลค่าสูงขึ้นนำไปใช้สอยได้มากขึ้น

ถ้า ผมเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก ผมเลือกทางที่ 2 แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพาไปทางที่ 1 ครับ ซึ่งผมก็คงต้องยอมรับตามนั้นครับ คุณล่ะครับ ถ้าเลือกได้จะพาคนไทยไปทางไหน ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด