P2P Lending ไม่ต้องเป็นแบงค์ ไม่ต้องเป็นเศรษฐี ก็ปล่อยกู้ได้

Peer to peer lending (P2P Lending) หมายถึง การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล โดยผ่านระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง

ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุผลสำคัญคือเรื่องของราคา (Pricing) นั่นคือผู้กู้สามารถมีช่องทางการกู้เงินที่ถูกลง ขณะที่ผู้ให้กู้ (หรือผู้ลงทุน) มีช่องทางการลงทุนที่ได้ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนสูงขึ้น

ปัจจุบัน P2P Lending ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกันในบ้านเราหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Peer Power ที่เน้นการทำ Platform สำหรับผู้กู้-ผู้ให้กู้ของกลุ่มลูกค้า SME หรือ ได้เงิน.com ที่จับตลาดในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

โดยอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่ายอยู่ที่ระดับไม่เกิน 15% ต่อปี (ตามกฎหมาย) ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายผ่านสถาบันการเงินในท้องตลาดปัจจุบัน

ขณะที่ผู้ฝากเงินใน Platform ในปัจจุบันได้รับดอกเบี้ยสูงถึงประมาณ 9 – 12% ซึ่งนับว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม กลไกของ P2P Lending คือระบบออนไลน์นั้นทำหน้าที่เป็นตัวกลาง matching ระหว่างผู้ฝาก และผู้กู้โดยได้รับค่าธรรมเนียมหลักในรูปของ spread โดยผู้ให้กู้ต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ (NPL)

ยกตัวอย่างเช่น

นาย ก. เป็นผู้ปล่อยกู้ผ่านระบบ P2P Lending สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์มือ 2 เป็นเงิน 1 ล้านบาท

โดยระบบ P2P Lending ได้จัดสรรให้ปล่อยกู้ไปที่รถยนต์ 100 คัน โดยผู้ให้กู้ได้รับดอกเบี้ย 12% หรือปีละ 120,000 บาท

หากเวลาผ่านไปมีเจ้าของรถยนต์ที่ผิดนัดชำระหนี้ 5 คันและไม่สามารถยึดรถมาขายทอดตลาดได้ เท่ากับว่าผู้ให้กู้เจอกับหนี้สูญ (NPL) 5%

สุทธิแล้วเท่ากับว่าดอกเบี้ยที่ได้รับหลังหักด้วย NPL = 12 – 5 = 7%

ดังนั้นการที่นักลงทุนจะปล่อยกู้ผ่านระบบ P2P Lending นั้น สิ่งที่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีคือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อชนิดที่เราปล่อยกู้

อีกประการที่สำคัญมากคือเรื่องการกระจายความเสี่ยงของการปล่อยกู้ (Diversification) ซึ่งหลัก ๆ แล้วการปล่อยกู้ผ่าน P2P Lending Platform นั้นผู้กู้ส่วนใหญ่จะไม่มีเครดิตเรตติ้ง นั่นคือมีระดับความเสี่ยงเครดิตที่สูง ดังนั้นหัวใจสำคัญของการปล่อยกู้ในระบบ P2P Lending คือการกระจายการลงทุนมาก ๆ

ถ้าไม่กระจายการลงทุนให้ดี เช่น ปล่อยกู้ให้กับรถยนต์แค่ 10 คันแทนที่จะเป็น 100 คัน เท่ากับว่าถ้าแจ็กพ็อตมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเพียง 1 คันเท่ากับว่าเงินปล่อยกู้เราหายไปถึง 10%

ลองคิดดูแล้วบทเรียนเรื่องการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ของบ้านเราในหลายปีที่ผ่านมานั้นก็มีหลายบทเรียนเช่นกัน เช่น กองทุนตราสารหนี้ประเภท non-rate ในบ้านเรามักจะลงทุนเพียง 4 – 5 บริษัทเวลาโดนผิดนัดชำระหนี้ครั้งนึงก็ทำให้เงินต้นหายไปจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลาย ๆ ครั้งในบ้านเราและมีการร้องเรียนกันอย่างมากมาย

หรือการลงทุนในหุ้นกู้เป็นตัว ๆ ตั๋วบีอีเป็นใบ ๆ ครั้งละมาก ๆ โดยที่ผู้ลงทุนไม่ได้กระจายการลงทุนให้ดีที่ผ่านมาก็สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน

ผู้เขียนจึงมองว่า P2P Lending น่าจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจมากสำหรับคนไทยในอนาคตถ้าหากเรามีผู้ประกอบการระบบออนไลน์ที่ดี ที่รู้จักปล่อยกู้อย่างมืออาชีพ และมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม

วันนี้ P2P Lending เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย และหน่วยงานกำกับดูแลก็กำลังออกประกาศกฎเกณฑ์การดูแลที่เหมาะสมในไม่ช้านี้ โดยผู้เขียนเชื่อว่า P2P Lending จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนไทยในอนาคตครับ

FundTalk รายงาน


อ่านคำศัพท์อื่นๆ ทางการเงินได้ที่ : https://www.finnomena.com/vocab/