จากการศึกษาของสภาพัฒน์ฯ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค “สังคมผุ้สูงอายุ (Aging Society)” จากปัจจุบันที่มีประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีขึ้นไปที่ประมาณ 9% จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ 2583 นอกจากนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ทำการศึกษาเช่นกันว่าผู้สูงอายุชาวไทยในปัจจุบัน มีมากถึง 2 ใน 3 ที่ไม่มีเงินออม ส่วนที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาทนั้นมีเพียง 5% ของจำนวนผุ้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทยยังมีอยู่ในระดับจำกัด ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่อ่านบทความฉบับนี้ก็กำลังจะเข้าสู่ “วัยสูงอายุ” ไม่ช้า ก็เร็ว ดังนั้น ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาให้ความสำคัญกับเรื่องการออม การลงทุน เพื่อรับกับ Mega Trend ของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึงนี้ครับ

ทำไมต้องจัดพอร์ตลงทุน

  • ข้าวราดแกงวันนี้ราคาจานละ 35 บาท ถ้าท่านเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า หากคิดอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ข้าวแกงจะราคาเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวเป็น 85 บาท
  • หากคุณคิดว่าหลังเกษียณอยากมีเงินใช้ซักเดือนละ 3 หมื่นบาท จริง ๆ คุณต้องมีประมาณเดือนละกว่า 7 หมื่นบาทในยามสูงอายุ เพราะราคาข้าวของที่แพงขึ้น
  • ถ้าคุณตั้งใจจะเลี้ยงดูตัวเองในยามเกษียณ จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันสิ้นสุดการทำงานอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท หลาย ๆ ท่านอาจรู้สึกว่าจำนวนเงินขนาดนี้เยอะเกินกว่าจะหาได้ แต่ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ครับ
  • ถ้าคุณโชคดีมีมรดกอยู่ 1 ล้านบาทวันนี้ หากนำเงินไปลงทุนได้ 3% ทุกปี อีก 30 ปีจะเพิ่มมูลค่ากว่าสองเท่าตัวเป็น 2.4 ล้านบาท แต่หากลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 10% อีก 30 ปีจะเพิ่มมูลค่าเกือบยี่สิบเท่าตัวเป็น 17.4 ล้านบาท
  • จากตัวเลขข้างต้น สรุปได้ว่า ท่านที่เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้อย่างถูกวิธี จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี และมีเงินเพียงพอใช้ในยามสูงอายุครับ

จัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ (Target Date Retirement Plan)”

ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีเวลามากที่จะติดตามการลงทุน หลาย ๆ ท่านไม่ได้มีเวลาพอมาศึกษาว่าควรมีพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นกี่เปอร์เซนต์ ลงพันธบัตรสั้นหรือยาว ควรปรับเพิ่มลดตอนไหน จึงเป็นที่มีของการจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ” ซึ่งแนวทางคือนักลงทุนเพียงแต่ระบุ “อายุเกษียณ” ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะทำหน้าจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุน หากระยะเวลาการลงทุนยาวจะสามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ก็ควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมากหน่อย หากใกล้จะเกษียณแล้วก็ควรจะลดระดับความเสี่ยงลงเพื่อรักษามูลค่าของเงินที่จะต้องนำไปใช้ในยามสูงอายุ

ScreenHunter_06 Nov. 07 15.58

จากแผนภาพข้างต้นเป็นการปรับลดระดับความเสี่ยงตามแนวคิดการจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ”  ซึ่งมีการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างสูงในช่วงที่นักลงทุนอยู่ในวัย 20 – 45 ปี หลังจากนั้นจะทำการปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 5 – 10 ปีสุดท้าย ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้นักลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับสูงเป็นระยะเวลานานหลายปี และเป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายทางการเงินครับ

กองทุนบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับการจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ”

ผู้เขียนมองว่าการจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ” เหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำนาญ รวมไปถึงกองทุนประเภท LTF และ RMF เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว และมีเป้าหมายเพื่อการเกษียณ สิ่งสำคัญคือ นักลงทุนต้องเริ่มปรับทัศนคติการลงทุน ลดความหวั่นไหวต่อความผันผวนระยะสั้น และให้ความสำคัญหลักกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ควบคู่กับการปรับระดับความเสี่ยงการลงทุนที่เหมาะสม ในปัจจุบันเริ่มมีบางหน่วยงานสำคัญด้านการออมเริ่มนำเสนอการจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ” และในอนาคตน่าจะได้เห็นการลงทุนลักษณะนี้มีความแพร่หลายมากขึ้น ในการนี้ บลจ. ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การจัดพอร์ตแบบ “สมดุลตามอายุ (Target Date Retirement Plan)” เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยสู่ยุค Aging Society ที่กำลังจะมาถึงครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA