how-roe-important01

ROE สูงแล้วดีอย่างไร หลายคนอาจจะรู้ว่า ROE สูงหมายถึงผลตอบแทนของบริษัททำได้สูงเมื่อเทียบกับทุน แต่วันนี้ผมจะเล่ารายละเอียดเพิ่มว่า ROE ที่สูงต่อเนื่องนั้นส่งผลต่อ wealth ของผู้ถือหุ้นสูง ยกตัวอย่าง บริษัท มองได้แต่อย่าชอบ มีทุน 1,000 ล้าน ทำกำไรได้ปีละ 200 ล้าน ดังนั้น ROE จึงเท่ากับ 20%

ถ้าบริษัทมองได้แต่อย่าชอบไม่จ่ายปันผลเลย ในปีต่อมา ทุนของบริษัทจะกลายเป็น 1,200 ล้าน เพราะ 200 ล้านจะเป็นกำไรสะสมของบริษัท ถ้าบริษัทจะรักษา ROE 20% บริษัทจะต้องมีกำไรโต 20% ซึ่งกำไรจะเพิ่มจาก 200 ล้านเป็น 240 ล้าน ซึ่งจะทำให้บริษัทมี ROE ในปีต่อมาที่ระดับ 20%

ผมลองดูหุ้น 20-30 ตัวที่ให้ผลตอบแทนที่ดีถ้าถือระยะยาว เกือบทุกตัวจะมี ROE สูงสม่ำเสมอ ผมไม่แปลกใจเลยเพราะการรักษา ROE ในระดับสูงได้นานๆ แสดงว่าการเติบโตของกำไรในระยะยาวจะต้องสูงด้วย และหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรระยะยาวสูงต่อเนื่อง ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ถือหุ้นจะมีความมั่งคั่งสูง แต่การดู ROE ก็ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก ก็คือว่าถ้าบริษัทจ่ายปันผล 100% ของกำไรที่บริษัททำได้ แม้บริษัทจะกำไรไม่โต แต่บริษัทก็สามารถรักษา ROE ในระดับสูงได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท รักนะเด็กโง่ มีทุน 2,000 ล้าน และมีกำไร 400 ล้าน ก็จะมี ROE 20% ถ้าบริษัทนี้ปันผลออกมาทั้งหมด 400 ล้าน ทุนของบริษัทก็จะเท่าเดิมก็คือ 2000 ล้านและถ้าบริษัททำกำไรได้เท่าเดิมคือ 400 ล้าน บริษัทก็จะมี ROE 20%ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าแม้กำไรไม่โต ROE ก็สูงต่อเนื่องได้ ซึ่งผมคิดว่าบริษัทลักษณะนี้ ระยะยาวแล้วผู้ถือหุ้นน่าจะได้อะไรน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ปันผลเลยแต่โตปีละ 20% ดังนั้นถ้าเราเห็นหุ้นบางตัวมี ROE สูงต่อเนื่อง แต่บริษัทปันผลออกมาทั้งหมดของกำไรที่ทำได้ แบบนี้หุ้นตัวนี้อาจเข้าข่ายหุ้นที่ธุรกิจถึงอิ่มตัวเลยไม่ต้องนำเงินไปลงทุนเพิ่มก็ได้

นอกจากนี้การดู ROE จะมีหลายคนถกประเด็นเรื่องการก่อหนี้ของบริษัท

เนื่องจากถ้าบริษัทก่อหนี้สูงและใช้ทุนต่ำ แม้บริษัทจะมี ROE สูง แต่บริษัทก็ดูมีความเสี่ยงสูง ประเด็นนี้ผมว่าเราต้องดูรายละเอียดเป็น case by case เช่น บางบริษัทมี D/E 0.4 เท่า และขายของเป็นเงินสด บริษัทจะขยายโรงงาน ถ้าดูจาก D/E ratio บริษัทคงจะกู้เงินได้สบายแต่บริษัทกลับเลือกเพิ่มทุน แบบนี้คงไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น เพราะการเพิ่มทุนจะทำให้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่ม ในกรณีนี้แม้บริษัทจะมี D/E ต่ำก็ไม่ถือว่าดี เพราะบริษัทเลือกที่จะไม่กู้ทั้งๆที่กู้ได้

ในทางกลับกันถ้าอีกบริษัท D/E 0.8 เท่า และเลือกจะกู้เพิ่มเพื่อลงทุน ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น 50% D/E ก็กลายเป็น 1.2 เท่า ถ้าการขยายกำลังผลิตเกิดผลสำเร็จขายของได้ดี กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นและทำให้ ROE สูงขึ้น ในกรณีนี้แม้ ROE สูง จากการเพิ่ม debt แต่ก็ถือว่าดีกว่าบริษัทแรกที่เลือกเพิ่มทุนทั้งๆที่กู้ได้ ถ้าเราจะตัดสินว่าบริษัทหลัง ROE สูงกว่า เพราะ D/E สูงกว่า และมองว่าหุ้นไม่น่าสนใจเท่าบริษัทแรกเราก็อาจจะหลงประเด็น เท่าที่ผมรวบรวมข้อมูลของหุ้นที่ฟื้นตัวแรงๆหลังวิกฤติหลายตัว เป็นหุ้นที่ ROE สูง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราเข้าใจว่า ROE ที่สูงส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นอย่างไร

คำถามคือ ROE เท่าไหร่ถึงจะดี?

ถ้าเราคิดว่า ROE สูงๆ สม่ำเสมอเป็นเรื่องดีแล้ว จะมีคำถามว่าแล้วระดับของ ROE ควรจะเป็นกี่ % ผมคิดว่าควรจะมากกว่า 20% ต่อเนื่อง ถามว่าทำไม นั่นก็เพราะ ROE ควรจะมากกว่า WACC เพราะ WACC คือต้นทุนของบริษัทที่เป็นการถัวเฉลี่ยระหว่างส่วนของทุนและเงินกู้ ซึ่งปกติแล้วต้นทุนของบริษัทมักจะอยู่ในระดับ 8-10% โดยเฉลี่ย ถ้าบริษัทมี ROE เพียง 5% เท่ากับว่าต้นทุนของบริษัทสูงกว่าผลตอบแทนที่บริษัททำให้กับผู้ถือหุ้นหรือ WACC>ROE ถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ ผู้ถือหุ้นของบริษัทคงแทบไม่ได้อะไรเลย เข้าข่ายเป็นบริษัทประเภท destroy value ซึ่งผมเห็นบริษัทที่มีโครงสร้างลักษณะนี้ ส่วนใหญ่หุ้นจะต่ำ BV เยอะ แล้วคนถือหุ้น 3-5 ปี ก็จะแทบไม่ได้กำไร ส่วนใหญ่ขาดทุนด้วยซ้ำ ในทางกลับกันผมคิดว่าถ้าต้นทุนของบริษัทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8-10% ROE ที่สูงกว่าในระยะยาวก็ย่อมต้องสร้าง wealth ให้กับผู้ถือหุ้นได้สูงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวผมจะสนใจถ้าหุ้นมี ROE มากกว่า 20% ขึ้นไป เพราะว่ามากกว่าต้นทุนของบริษัทถึงสองเท่า แบบนี้ยิ่งถือนานก็ยิ่งดี

ที่มาบทความ : https://hongvalue.wordpress.com/2012/04/02/roe-สำคัญอย่างไร/