5 วิธี ลงทุนแบบเม่าๆ

ผมอยากจะมาแบ่งประสบการณ์การลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนตัวให้เพื่อนๆได้ฟังกัน จริงๆ แล้วผมก็เป็นมือใหม่ในการลงทุนอยู่พอสมควร แต่ผมก็พยายามเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาดในการลงทุนเพื่ออนาคตเราจะได้ไม่ทำพลาดแบบเดิม โดยผมสามารถเรียบเรียงมาได้ทั้งหมด 5 ข้อหลักๆ ดังนีี้

1) หวังรวยเร็ว มองโลกสวย

สมัยแรกๆผมเข้ามาดูตลาดหุ้นเพราะคำว่า Passive Income แน่นอนว่าใครๆก็อยากจะลองทุนแล้วเงินงอกเงย แต่จะอันตรายมากถ้าหากอยากจะรวยด้วยเวลาอันรวดเร็ว เพราะจะทำให้เราพยายามเสี่ยงมากขึ้น เพื่อผลตอบแทนเยอะๆ บางทีก็อาจจะฝันหวาน มองว่าหุ้นจะขึ้นจนลืมมองไปว่าหุ้นมีขึ้นมีลง แต่บางทีก็เข้าข้างตัวเองว่าต้องมีโชคบ้างแหละ ผลสุดท้ายคือซื้อหุ้นโดยความโลภมากกว่าเหตุผล ถ้าหุ้นขึ้นก็โชคดีไป แต่ถ้ามันไม่เป็นไปตามที่เราหวังละ? จะขายตัดขาดทุนดีมั้ย? ทนถือเพราะหุ้นพื้นฐานดี? คำถามเหล่านี้ นักลงทุนน่าจะคุ้นเคยกันดี

2) ไม่ทนรวย

การลงทุนที่ทำให้เงินงอกเงยนั้นก็ต้องขายตอนมีราคาสูงขึ้นนั้นก็ถูก เพราะฉะนั้นจะบอกไม่ให้ขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นนั้นก็น่าจะแปลก แต่ความจริงนั้นยังไม่หมดเพียงแค่นี้ อีกส่วนที่ต้องขยายความคือ “ทนรวยจนกว่าดูท่าหุ้นนั้นจะมีแนวโน้มเปลี่ยนไป”

สมัยแรกๆที่ลงทุนไม่เป็น พอหุ้นขึ้นนิดๆหน่อยๆก็ขาย แต่พอหุ้นเน่าติดพอทไม่ยอมขาย ส่วนใหญ่หุ้นที่ซื้อมันไม่ขึ้น พอมีตัวขึ้นเลยรู้สึกแปลกอยากขาย? เห้ย! เก็บหุ้นเน่าขายหุ้นดีแบบนี้เมื่อไหร่จะรวย ลองกลับกันมั้ย ขายหุ้นเน่าเก็บหุ้นดี ให้ทนถือหุ้นดีไปก่อนอย่าไปขายทำกำไร พอหุ้นดีเป็นหุ้นเน่าเมื่อไหร่ก็ค่อยขาย

3) อยากจะซื้อราคาต่ำสุด

สมัยต่อมาเริ่มรู้แล้วว่าลงทุนจะต้องซื้อหุ้นได้ต้นทุนต่ำๆ ยิ่งซื้อมาถูกก็แปลว่ายิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีขึ้น ยิ่งถ้าซื้อได้ต่ำสุดนี่กำไรยิ่งบานเลย แต่เอาจริงๆคงไม่มีใครสามารถซื้อต่ำสุดได้? (ถ้ามีใครรู้วิธีก็บอกผมด้วยนะ เพราะผมไม่รู้จริงๆ)

ราคาที่ว่าต่ำแล้ว มันก็อาจจะต่ำลงไปได้อีก บางครั้งในใจก็คิดต่อไปว่า “มันคงต่ำลงไปอีก ขออีกนิดนึง” ถ้าราคาลงไปอีกก็ดีไป แต่ถ้ามันขึ้นไปละ? ในใจก็คิดอีก “รอปรับลงมาอีกนิดนึงค่อยซื้อ” ถ้ามันปรับลงมาได้ซื้อก็ดีไป แต่ถ้ามันไม่กลับมาอีกละ? ในทางจิตวิทยาแล้วก็คงยากที่จะซื้อ เพราะขนาดราคาต่ำกว่ายังไม่ซื้อ เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะไม่ซื้อในราคาที่สูงกว่า

4) กลัวตกรถ ราคาแพงหน่อยก็ยอม

ลงทุนไปสักพักก็จะเห็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีๆเกิดขึ้นมากมายในเวลาอัดรวดเร็ว ยกเว้นหุ้นที่เราถือ จริงๆแล้วหุ้นดีๆนั้นหาไม่ยากเท่าไหร่นัก แต่หุ้นที่ดีและราคาถูกจะหาจากไหน? ในตลาดมีหุ้นที่ดีเยอะแยะทั่วไปแต่แพงหมดแล้ว หรือว่าหุ้นดีๆมักต้องยอมซื้อที่ราคาแพง?

เรามักจะเริ่มหละหลวมในการซื้อหุ้นมากขึ้น เรายอมซื้อหุ้นดีที่ราคาเริ่มแพงเพราะคิดว่าจะขึ้นไปได้อีก และบางครั้งก็ยอมซื้อในราคาที่แพงมาก ถ้าตลาดยังไม่ผันผวนก็โชคดีไป ราคาอาจจะขึ้นไปอีกบ้าง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ตลาดเริ่มมีการตกใจเทขายหุ้นมากขึ้น หรือผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดคิด คำว่าขาดทุนอาจจะมาเคาะหน้าประตูบ้านของเราได้ง่ายๆ

5) ลงทุนไม่เหมาะกับตัวเอง

การลงทุนที่ดีนั้นเราจะต้องหาแนวทางที่เหมาะสมตัวของเราเอง เราไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบจากคนอื่นมาได้เท่าไหร่นัก ไม่เหมือนที่เราสามารถท่องจำแล้วจะมีโอกาสสอบผ่านได้ แต่หุ้นนั้นจะต้องพลิกแพลงให้เข้ากับชีวิตเรา

เป้าหมายคือหุ้นจะต้องสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้ ถ้าเราเป็นคนใจร้อน การรอคอยจะเป็นเรื่องยาก ถ้าเราใจร้อนเราจะลงทุนยาวได้หรือไม่? ไม่ได้แน่นอน! ถ้าเรามีงานประจำที่ต้องใช้เวลาลงมือทำ แล้วเราจะมาเล่นหุ้นซิ่ง หากหุ้นร่วงแต่กำลังประชุมอยู่ จะไปรอดหรือไม่? นี่คือตัวอย่างของการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ถ้าหากพบแนวทางที่หุ้นสามารถเข้ากับชีวิตเราได้ดีเราจะเข้าใกล้คำว่าประสบความสำเร็จเข้าไปอีกก้าว

ทั้ง 5 ข้อนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่ผมเจอมา อาจจะตรงหรือไม่ตรงสำหรับบางคนไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่ผมเชื่อว่าทั้งหมดมันจะเป็นข้อเตือนใจได้ดี ทุกคนก็จะมีประสบการณ์ของตัวเอง ผมเชื่อว่าหากเราสามารถชี้ความผิดพลาดของตัวเองได้ มันจะสอนให้เราไม่พลาดแบบเดิม หรือเราอาจจะพลาดอีกแต่จะพลาดน้อยลง