เจ๊งหุ้น 50% "เสี่ยงที่สุดคือราคาที่ซื้อ"

นักลงทุนทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นต่างก็เข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งด้วยกันทั้งสิ้น หลายคนอาจจะนึกถึงตลาดหุ้นในแง่ของความมั่งคั่งที่เราจะสามารถสร้างได้ แต่หลายคนก็อาจจะนึกถึงความผันผวนและความเสี่ยงที่เงินทุนของเราจะขาดทุน แน่นอนว่าตลาดหุ้นสามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่นักลงทุนได้ไม่ยาก หากเรามีความรู้และใช้ประโยชน์จากตลาด แต่วันนี้เราลองมาพูดถึงความเสี่ยงกันดูบ้างว่า “หุ้น” จริงๆ แล้วมันจะผันผวนและเสี่ยงจริงหรือเปล่า

Warren Buffett เคยสอนนักลงทุนไว้ว่า

“I never attempt to make money on the stock market. I buy on the assumption that they could close the market the next day and not reopen it for five years”

แปลเป็นไทยว่า “ผมไม่เคยทำกำไรในตลาดหุ้น ผมซื้อหุ้นโดยนึกเสมอว่าตลาดอาจจะปิดในวันถัดไปและไม่เปิดอีกเป็นเวลา 5 ปี”

ในมุมมองของ Warren Buffett ตัวหุ้นนั้นไม่ได้เสี่ยง การลงทุนในหุ้นก็คือการลงทุนในบริษัท หากบริษัทประสบความสำเร็จ เงินลงทุนของเราก็จะประสบความสำเร็จเช่นกัน ดังนั้นตัวบริษัทเองจึงอาจจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความเสี่ยงในการลงทุน แล้วราคาหุ้นที่ผันผวนขึ้นและลงเป็นความเสี่ยงจริงๆ หรือเปล่า?

โดยส่วนใหญ่แล้ว ราคาหุ้นในพอร์ทของเราที่ขึ้นและลงในแต่ละวันมาจากแรงซื้อและแรงขายจากนักลงทุนเท่านั้น หลายคนอาจจะมีประสบการณ์เจอเจ้ามือหุ้นทุบราคาหุ้น หรือเจอเจ้ามือหลอกปั่นราคาพาขึ้นไปส่งที่ดอย ทำให้ขาดทุนกันไปในหลายๆ ครั้ง โดยประสบการณ์ผมเอง ผมมักพบว่าหุ้นของผมที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละวันนั้นไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่ มันเป็นการยากที่จะบอกว่าหากราคาหุ้นลงไปถึง 10% แปลว่าผมขาดทุน หรือหากราคาหุ้นขึ้นไป 10% แปลว่าผมกำไร เหตุผลก็เพราะว่ากำไรหรือขาดทุนดังกล่าวสามารถหายไปในพริบตาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ผมจึงไม่คาดหวังให้ความมั่งคั่งของผมไปแขวนอยู่กับราคาหุ้นเหล่านี้เท่าไหร่นัก

ผมจึงลงทุนตามหลักการของ Warren Buffett และสนใจในผลการดำเนินงานของบริษัทมากกว่า ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็จะมาจากตัวบริษัทเป็นหลัก หมายความว่าถ้าบริษัทเจ๊งผมก็เจ๊ง แต่ถ้าบริษัทประสบความสำเร็จผมก็จะประสบความสำเร็จ ตัวผมเองมีประสบการณ์ที่ให้บทเรียนที่แสนเจ็บปวด การลงทุนที่เกือบเอาชีวิตไม่รอดนี้เป็นบทเรียนราคาแพงครั้งใหญ่ที่สุด และทำให้ผมได้เปิดหูเปิดตาในโลกแห่งการลงทุนมากขึ้น ในตอนแรก ผมเองได้รับคำแนะนำการลงทุนนี้มาจากนักลงทุนท่านหนึ่ง ด้วยความที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก จึงให้น้ำหนักของคำแนะนำค่อนข้างเยอะ ผมนำมาศึกษาต่อและพบว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจระดับหนึ่ง มีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งบ้าง และมีหนี้สินไม่มาก ทุกอย่างของบริษัทดีเกือบหมด รวมถึงตัวผู้บริหารเองก็มีความซื่อสัตย์และความตั้งใจในการทำงาน

เมื่อย้อนกลับไปดูผลประกอบการย้อนหลังก็พบว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีมานี้ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นว่าบริษัทนี้ลงทุนได้แน่ๆ แต่ความผิดพลาดที่สุดคือผมลืมแยกหมวดหมู่หุ้นตาม Peter Lynch (จำกันได้มั้ยว่าเขาแบ่งเอาไว้เป็น 6 หมวด) ด้วยความโลภ ผมจึงลืมมองไปว่าจริงๆ แล้วบริษัทที่ว่านี้ไม่ใช่บริษัทเติบโต แต่เป็นบริษัทที่เข้าข่ายวัฏจักร! ผมเข้าไปสะสมหุ้นช่วงเกือบจบรอบของวัฏจักร และหลังจากนั้นไม่นานนักบริษัทก็เข้าสู่วัฏจักรขาลง แต่ความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้ก็ยังมีเรื่องดีอยู่หลายประการ

ข้อแรก

บริษัทยังมีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งเหมือนเดิม เพียงแต่งานที่ได้รับมีน้อยลงตามวัฏจักรเท่านั้น

ข้อสอง

เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ราคาหุ้นร่วงลงมากว่า 50% จากต้นทุนที่ซื้อหุ้น ทำให้ผมได้คิดอะไรหลายๆ อย่างว่าความผิดพลาดที่แท้จริงคืออะไร

ข้อสาม

ผมได้เข้าใจลึกซึ้งว่าการขาดทุนกว่า 50% มีอารมณ์อย่างไร และเราจะสามารถควบคุมอย่างไร

ข้อสี่

ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะร่วงลงมากว่า 50% ของต้นทุน แต่ก็ยังสามารถให้ปันผลกว่าปีละ 4% ดีกว่าดอกเบี้ยธนาคาร 4 เท่าตัว

เมื่อยังมีปันผลกว่าปีละ 4% อย่างน้อยผมสามารถถือรอเพื่อรับเงินปันผลและนำเงินสดที่ได้มาลงทุนเพิ่ม (ข้อนี้สำคัญเลยนะ มีปันผลมาหล่อเลี้ยงมันดีกว่าไม่มีเยอะ) นอกจากนี้ยังขอคืนเครดิตปันผลได้อีกด้วย ในเชิงของการลงทุนในบริษัท ผมอาจจะไม่ได้ขาดทุน เพราะบริษัทยังดำเนินการได้ปกติและยังมีความสามารถในการแข่งขันเช่นเดิม เพียงแต่ผมซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงและไม่ได้เผื่อความปลอดภัยกรณีที่ผลประกอบการจะแย่ลง ดังนั้นความเสี่ยงก็คือราคาหุ้นที่จะปรับตัวลดลงเมื่อเข้าสู่วัฏจักรขาลง

ทั้งหมดสรุปได้ว่า

ทุกบริษัทมีความเสี่ยงหมด แต่เสี่ยงที่สุดคือราคาที่เราซื้อนี่แหละ! หากซื้อมาแพงเกินไป เราก็จะต้องติดดอย

ประสบการณ์ครั้งนี้เน้นย้ำให้ผมกลับมามองความสมเหตุสมผลของราคาหุ้นมากขึ้น บางครั้งผมอาจจะเลือกบริษัทได้ถูกต้องและบริษัทก็มีการเติบโตจริงๆ แต่การลงทุนของผมจะไม่ประสบความสำเร็จหากผมซื้อมาในราคาที่แพงเกินไป

ที่สำคัญที่สุดคือ

เราจะต้องไม่ผิดทั้งเลือกบริษัทและราคาในเวลาพร้อมกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะต้องถูกบังคับออกจากตลาดหุ้นอย่างแน่นอน หวังว่าบทเรียนของผมจะสามารถเป็นประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักลงทุนทุกคนได้ไม่มากก็น้อย