investdiary-weakness-thailand

คราวที่แล้วผมพูดถึงจุดแข็งของประเทศไทยไว้ ซึ่งมีหลายจุดเช่น ทำเล วัฒนธรรม และค่าครองชีพ ซึ่งสามารถอ่านได้จากโพสนี้ครับ https://www.finnomena.com/investdiary/strength-thailand/ แต่คราวนี้เราจะมาดูกันบ้างว่าจุดอ่อนมีอะไรกันบ้าง

ประชากรเกิดน้อย

ปัญหาหลักของประเทศไทยในปัจจุบันที่จะส่งผลไปสู่อนาคตอีกนานนับหลายทศวรรตนั้นก็คืออัตราการเกิดของประชากรที่ลดต่ำอย่างมาก หากเราพูดถึงการเติบโตของประเทศแน่นอนว่าต้องพูดถึงเรื่องของ GDP ที่เป็นตัววัดผลผลิตของประเทศ ผลผลิตนั้นจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเกิดขึ้น และฟันเฟืองที่สำคัญเลยก็คือคนทำงานภายในประเทศนั่นเอง

ส่วนใหญ่แล้วประชากรที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 20 – 60 ปี หรือก็คือหลังจากเรียนจบจนถึงวัยเกษียณอายุ จากการที่ประชากรเกิดน้อยลงส่งผลให้สัดส่วนประชากรของประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงอายุ หากคิดคร่าวๆเราก็อาจจะสามารถนึกออกว่าช่วงอายุ 20 – 60 นั้นก็จะมีแนวโน้มน้อยลง และสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 นั้นก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วประชากรที่สามารถสร้างผลผลิตได้ก็ย่อมจะน้อยลงอย่างแน่นอน

สังคมผู้สูงวัยนั้นเราก็คงจะได้ยินกันคุ้นหูแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคของผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ภายใน 10 – 20 ปีข้างหน้าเราจะพบว่ามีการคาดการณ์ไว้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15% จะขึ้นเป็น 23% ในอีกสิบปีข้างหน้า และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 25 ปี จะลดลงจากสัดส่วนประมาณ 32% ในปัจจุบันลงเหลือ 27% ในอีกสิบปีข้างหน้า

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆเราจะพบว่าประเทศที่มีประชากรแก่ตัวลงนั้นก็มีหลายประเทศที่กำลังเผชิญอยู่เช่นญี่ปุ่นและจีน แต่ความแตกต่างระหว่าง 2 ประเทศนี้ก็คืออัตราการเติบโตของประเทศ ญี่ปุ่นนั้นมีการชะลอตัวมานานนับทศวรรตในขณะที่จีนกลับมาการเติบโตที่สูงมากว่าทศวรรต เพราะเหตุใดที่ทำให้ 2 ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรที่กำลังแก่ตัวลงกันแต่อัตราการเติบโตแตกต่างกันอย่างมาก คำตอบนี้น่าจะเป็นทางออกสำหรับประเทศไทยในการเติบโตต่อไปในอนาคต

ประเทศอย่างเวียดนาม อินโดนีเซียและกัมพูชานั้นมีโครงสร้างประชากรที่แตกต่างจากไทยอย่างมาก อัตราการเกิดที่สูงกว่ามาก หากเทียบเป็นเปอเซนต์แล้ว ทั้งไทย จีนและญี่ปุ่นต่างก็มีอัตราการเกิดที่ไม่ถึงปีละ 0.5% แต่ประเทศเช่นเวียดนามและที่อยู่ในแถบ CLMV นั้นกลับมาอัตราการเกิดของประชากรที่มากกว่า 1% ต่อปีแทบทั้งสิ้น ส่วนนี้เองทำให้การเติบโตของประเทศเช่นเวียดนามนั้นมีการเติบโตอย่างมาก

แล้วทำไมจีนที่มีการเติบโตของประชากรต่ำถึงมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงในทศวรรตที่ผ่านมา? จุดต่างระหว่างญี่ปุ่นและจีนหลักๆก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศ จะสังเกตุว่าจริงๆแล้วประเทศจีนเริ่มมีการเปิดประเทศมาไม่นาน และหลังจากการเปิดประเทศนั้นก็ทำให้มีการเกิดของอุตสาหกรรมใหม่ๆมากขึ้น อุตสาหกรรมใหม่นี้มีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศจีน นอกจากการมีอุตสาหกรรมใหม่แล้ว จีนยังสามารถขยายตลาดออกมากขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งตัวแปรทั้งสองนี้ก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจของจีน ต่างจากญี่ปุ่นที่แทบจะไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาเลยและประกอบกับญี่ปุ่นนั้นมีตลาดอยู่ทั่วโลกไปก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งหมดสามารถเรียกได้สั้นๆว่าญี่ปุ่นนั้นมีฐานเศรษฐกิจที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้นการเติบโตจึงยากกว่าจีนอย่างมีนัย คำตอบตรงนี้จึงน่าจะเป็นตัวใบ้ที่ดีสำหรับประเทศไทย หากต้องการเติบโตในอนาคตในขณะที่มีอัตราการเกิดต่ำ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและขยายการบริโภคให้มากขึ้นนอกเหนือจากในประเทศไทย

ค่าแรงเริ่มแพง

ประเทศไทยในอดีตมีจุดเด่นที่สำคัญต่อการแข่งขันอย่างมากเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป นั้นก็คือเรื่องของค่าแรง การที่มีค่าแรงต่ำนั้นมักดึงดูดชาวต่างชาติให้มาลงทุนในไทยอย่างมีนัย เช่นโรงงานผลิตรถยนต์เป็นต้น การทำธุรกิจนั้นแน่นอนว่าต้นทุนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ หากต้นทุนสูงโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดได้ก็จะน้อยลงเพราะหากเกิดการแข่งราคา การที่มีต้นทุนสูงนั้นทำให้แข่งขันได้ลำบากมากขึ้น เพราะยิ่งแข่งขันในขณะที่ต้นทุนสูงกว่ารายอื่นจะทำให้กำไรน้อยลง และยิ่งไปกว่านั้นอาจถึงขั้นขาดทุนได้

เมื่อการลดต้นทุนเป็นส่วนสำคัญสำหรับธุรกิจ ดังนั้นการลงทุนในประเทศไทยจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับหลายๆอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อประเทศไทยเป็นที่หมายของการลงทุนเพราะมีค่าแรงที่ไม่แพง ดังนั้นเมื่อมีบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยย่อมทำให้มีผู้อื่นตามมาด้วย เพราถ้าหากไม่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยนั่นแปลว่าต้นทุนจะแพงกว่าคู่แข่ง

กลับมายังปัจจุบันเราจะสังเกตุว่าประเทศไทยนั้นมีการขึ้นค่าแรงกันอยู่บ่อยครั้ง การขึ้นค่าแรงนั้นสาเหตุหลักก็น่าจะมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่ารายได้ การขึ้นค่าแรงนั้นจะเป็นผลดีต่อประชากรโดยตรง ทำให้มีกำลังจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ระยะยาวแล้วจะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมากเพราะนั้นแปลว่าต้นทุนของบริษัทที่เข้ามาลงทุนจะสูงขึ้นและแนวโน้มที่บริษัทต่างๆจะเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตก็จะน้อยลง อย่าลืมว่าประเทศ CLMV นั้นมีต้นทุนที่ยังต่ำกว่าประเทศไทย ค่าแรงในประเทศกลุ่ม CLMV ที่ถูกกว่าประเทศไทยนั้นจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นักหากขาดในเรื่องของคุณภาพในการผลิต แต่ความเป็นจริงคือการพัฒนาบุคลากรของประเทศในกลุ่มนี้รวดเร็วมากจนปัจจุบันนั้นมีอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นมาแข่งขันกับไทยมากขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังมีความได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพและประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า แต่ความได้เปรียบตรงนี้มีโอกาสที่ลดลงได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงไม่สามารถมองข้ามส่วนนี้ได้เลย

ขาดอุตสาหกรรมใหม่

อุตสาหกรรมของประเทศนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อดูภาพรวมทั่วโลกแล้วเราจะพบว่าแต่ละประเทศนั้นก็จะมีอุตสาหกรรมเด่นๆของตัวเองเป็นหลัก ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา และแน่นอนว่าเมื่ออุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงกว่า การดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศย่อมมีแนวโน้มที่ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มูลค่าต่ำ

รายได้หลักของประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยหลายอุตสาหกรรมเช่นการผลิตรถยนต์ การท่องเที่ยว การแพทย์ การเกษตร และอีกหลายๆอย่าง โดยรวมแล้วถือว่ามีค่อนข้างหลากหลายอุตสาหกรรมเลยทีเดียว หากแบ่งตามบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดหุ้นไทยก็จะพบบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมเช่น PTT, AOT, AIS, SCB, SCG, CP, โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ และอื่นๆอีกมากมาย แต่จริงๆแล้วเราจะพบว่าบริษัทเหล่านี้เองไม่ได้ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่นัก

เราลองไปตรวจบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศสหรัฐกันบ้างว่าเป็นบริษัทจำพวกใด ย้อนกลับไปยังปี 2001 เราจะพบว่าบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดได้แก่ General electric, Microsoft, Citi, Exxon และ Walmart ซึ่งแต่ละบริษัทนั้นก็ดูคล้ายๆกับประเทศไทยปัจจุบันมากคือมีค้าปลีก พลังงาน และการเงิน แต่ถ้าเรากลับมาดูปัจจุบันเราจะพบว่าบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดนั้นได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมไปอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ Apple, Alphabet(Google), Microsoft, Amazon และ Facebook

จริงๆแล้วเราอาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบมูลค่าบริษัทกับ GDP ได้โดยตรงนัก แต่ประเด็นสำคัญเราไม่ได้ต้องการคำนวนตัวเลขขนาดนั้น การเปรียบเทียบนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหากเราดูสหรัฐเป็นตัวอย่าง การที่ประเทศไทยนั้นขาดอุตสาหกรรมใหม่ทำให้ปัจจุบันการเติบโตของประเทศดูเหมือนกำลังกินบุญเก่าที่เคยสร้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในขณะที่ค่าแรงนั้นมีแนวโน้มที่แพงขึ้นแต่ความสามารถของประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ สักวันหนึ่งจะถึงขีดจำกัดและถูกประเทศอย่างเวียดนามตามทันอย่างแน่นอน

ขอย้อนกลับไปถึงประเทศจีนที่มีการเติบโตของประชากรที่ต่ำแต่การเติบโตของประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงได้ด้วยเหตุผลก็คืออุตสาหกรรมของจีนใหม่ๆนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งทำให้ศักยภาพการเติบโตนั้นเพิ่มตามมูลค่าของอุตสาหกรรม ดังนั้นทางออกของปัญหานี้ดูเหมือนจะเป็นการที่ประเทศไทยจะต้องพยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของโลก เช่น การพัฒนาจากเป็นผู้ผลิต Harddisk แบบจานหมุน ซึ่งปัจจุบันความต้องการน้อยลงอย่างมาก หันมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้นอย่าง Harddisk แบบ SSD ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญใน Smart phone แต่นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามอย่างน้อยจะต้องพัฒนามาตรฐานของประเทศให้เหมาะสมกับตลาดของโลกที่เปลี่ยนแปลง

สรุป

ในแง่ของการลงทุนนั้น หากประเทศมีการเติบโตนั้นแปลว่าบริษัทภายในประเทศมีการเติบโตเช่นกัน ดังนั้นหากเราพูดถึงการลงทุนแบบ Bottom up นั้นก็มีโอกาสที่ง่ายขึ้นที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี หากบริษัทมีการเติบโตตลาดหุ้นของไทยนั้นก็ควรจะมีดัชนีที่สูงขึ้นด้วย และแน่นอนว่า fund flow ก็ย่อมต้องเข้ามาสู่ตลาดหุ้นของไทย

แต่ต่อให้ไม่เกี่ยวกับการลงทุน การเติบโตของประเทศก็ควรจะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการ เพราะนั้นจะนำมาซึ่งรายได้ที่ดีขึ้น มีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น มาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้หากทุกคนมัวแต่รอเศรษฐกิจดีแล้วหวังว่าจะมีความสุขนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะจริงๆแล้วประเทศไทยจะเติบโตได้ก็จะต้องมาจากการเติบโตของทุกคนในประเทศ ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง เราทำหน้าที่ของเราให้ดี พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สองอย่างนี้คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพื่อประเทศไทยที่เติบโต